นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เดือนม.ค. 2566 ว่าเท่ากับ 108.18 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 5.02% เป็นผลมาจากราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 3.18% และหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 7.70% โดยในเดือนม.ค. 2566 มีสินค้าราคาสูงขึ้น 343 รายการ

อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้าจากการปรับขึ้นค่าเอฟที ก๊าซหุงต้ม ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ข้าวสาร เป็นต้น สินค้าราคาลดลง 45 รายการ อาทิ เนื้อหมูจากผลผลิตล้นตลาด เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้ง ผักสดและผลไม้บางชนิด และสินค้าราคา ไม่เปลี่ยนแปลง 42 รายการ

“อัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค.ที่สูงขึ้น 5.02% เป็นอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนธ.ค. 2565 ที่สูงขึ้น 5.89% ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหาร ขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว เทศกาล ปีใหม่ และตรุษจีน ส่งผลให้การใช้จ่ายคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนม.ค. 2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.3 จากระดับ 50.4 ในเดือนก่อนหน้า อยู่ระดับสูงสุดในรอบ 44 เดือน”

นายวิชานันกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนก.พ. 2566 คาดว่าเงินเฟ้อจะยังสูงแต่ไม่น่าเกิน 5% และจะมีอัตราลดลงต่อเนื่องจนถึงปลายปี จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ราคาน้ำมันลด เงินบาทแข็งขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าลดลง กดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่สูงมากนัก โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้อยู่ระหว่าง 2.0-3.0% สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยที่ คาดว่าจะเติบโตได้ที่ 3-4%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อที่จะเริ่มปรับตัวลดลงในช่วงปีนี้จะส่งผลให้คณะกรรมการนโยบาย การเงิน (กนง.) พิจารณาชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือไม่ ก็คงพูดไม่ได้ เป็นหน้าที่ที่กนง.จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน