‘แอตต้า-ท่องเที่ยว’สางปัญหาทัวร์ทิพย์
เพิ่มความรับผิดรายใหญ่-เล็งขยายหลักประกันเป็น10ล.

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ปิ๊งไอเดียดึงทัวร์โฮลเซลเข้าระบบแก้ปม ‘ทัวร์ทิพย์-ขบวนการสีเทา’ ด้านแอตต้าแนะใช้โมเดลไต้หวัน-จีน เพิ่มหลักประกันเป็น 10 ล้านบาท ป้องปัญหาการทิ้งทัวร์ ไกด์นอมินี

นางศิริวรรณ พรเลิศวิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กรมมีแนวคิดต้องดึงบริษัททัวร์รายใหญ่ (โฮลเซล) เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบ เมื่อเกิดปัญหาเหตุบริษัททิ้งทัวร์และสามารถดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดได้ สามารถยืนยันตัวตนบริษัททัวร์จริง ไม่ได้ตั้งมาเพื่อหลอกลวง

“ปัญหาทัวร์ทิพย์ เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเป็นระยะ แต่ไม่สามารถ ฟ้องร้องเอาผิดได้ เพราะบริษัททัวร์เจ้าของแพ็กเกจไม่ได้เป็นผู้ขายเอง แต่จะถูกขายโดยตัวแทนจำหน่ายรายย่อย ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา เมื่อขายได้แล้วรับเงินค่าทัวร์จากตัวแทนขาย ไม่ได้เกิดการเดินทางจริง บริษัทเจ้าของแพ็กเกจนั้นก็ไม่รับผิดชอบ กฎหมายก็เอาผิดไม่ได้ เพราะในเวลาฟ้องร้อง คนซื้อทัวร์ต้องฟ้องเอาผิดจากนิติบุคคลหรือคนที่ขายทัวร์ ซึ่งกลายเป็นแพะ”

การกำหนดประเภททัวร์ขึ้นมาใหม่จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 4 ประเภท อาจจะนิยามบริษัทที่ขายทัวร์ให้กับบริษัทที่ทำทัวร์ด้วยกันว่า “ประกอบธุรกิจนำเที่ยวภายในราชอาณาจักรและภายนอกราชอาณาจักร รวมถึงการประกอบธุรกิจจัดโปรแกรมนำเที่ยวให้กับ ผู้ประกอบการนำเที่ยวรายอื่น” หากธุรกิจนำเที่ยวใดเข้าข่ายก็จะจัดอยู่ในประเภทนี้ ทั้งนี้ หากเป็นกฎหมายจำเป็นต้องกำหนดวงเงินหลักประกัน และกำหนดโทษ

สำหรับคุณสมบัติบริษัทโฮลเซล เช่น ต้องมีประสบการณ์ทำตลาดพาคนไทยไปต่างประเทศ (เอาต์บาวด์) ไม่น้อยกว่า 2-4 ปี ไม่ใช่เป็นรายใหม่แล้วจะมายื่นจดทะเบียนประเภทนี้ได้เลย การยื่นขอจดต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น และต้องชำระเงินจดทะเบียนเต็มจำนวนเท่านั้น ซึ่งเป็นการตั้งตุ๊กตาไว้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ต้องมีหนังสือรับรองการซื้อที่นั่งเที่ยวบินจากสายการบินไม่ต่ำกว่า 3 สายการบิน รวมที่นั่ง ไม่ต่ำกว่า 300 ที่นั่ง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี

“เพื่อให้เชื่อมโยงไปถึงมิติผูกพันระหว่างผู้รับผิด ดังนั้นหากจะเขียนร่างโปรแกรมการขายทัวร์จะต้องระบุในบรรทัดสุดท้ายด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัท บี ได้รับการส่งต่อจากบริษัท เอ เป็นต้น เพื่อให้สามารถนำหลักฐานดังกล่าวไปฟ้องร้องหรือเรียกร้องค่าเสียหายจาก ผู้ประกอบการได้เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวอยู่ระหว่างการหารือของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กับกรมว่าข้อสรุปจะเป็นอย่างไร”

ด้านนายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการแอตต้า กล่าวว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าในอนาคตบริษัทใหญ่ควรทำตลาดที่กว้างขึ้น และ วางหลักประกันมากขึ้น เช่น ไต้หวัน จีน มีข้อกำหนดให้บริษัทที่ทำโฮลเซลต้องวางหลักประกันเป็น 10 ล้านบาท








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน