รัฐบาลแห่งชาติที่สมาชิกวุฒิสภาบางคนโยนหินถามทาง อ้างเป็นทางออกของการเมือง ไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมือง นักวิชาการและประชาชนทั่วไป

เพราะไม่ใช่กาลเทศะที่จะดำเนินการ เนื่องจากประเทศชาติไม่ได้มีความขัดแย้งรุนแรง หรืออยู่สภาวะ สงครามใดๆ ที่จะต้องรวมทุกขั้วเพื่อตั้งรัฐบาลเอกภาพ

อีกทั้งประเทศเพิ่งผ่านการเลือกตั้งทั่วไปสดๆ ร้อนๆ ประชาชนได้ร่วมแสดงประชามติ มีสมารมณ์ร่วมกันว่า ต้องการให้ฝ่ายใดเป็นรัฐบาล ฝ่ายใดเป็นฝ่ายค้านคอยตรวจสอบและถ่วงดุล

รวมถึงแสดงเจตจำนงคงมั่นว่าต้องการ ให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน ไปแล้ว จึงไม่ควรมีใครชักใบให้เรือเสีย สวนทางกับมติมหาประชาชน

ข้อเสนอดังกล่าว แม้จะอ้างเป็นเจตนาดี ต้องการ ให้พรรคการเมืองทั้งหมดร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยนำเอานโยบายที่โดดเด่นของแต่ละพรรคมาใช้บริหารประเทศ

มีการเสนอด้วยว่าถ้าหากไม่สอดคล้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ให้ยกเว้นการบังคับใช้บางมาตราเสีย ซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผล แต่กลับสร้างความยุ่งยากและสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญตามมา

ประเด็นที่สมาชิกสภาสูงนำเสนอครั้งนี้ มีการตั้ง ข้อสังเกตว่าเป็นการปูทางให้บางฝ่ายที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งได้ประโยชน์ เพราะมีการระบุชื่อบางพรรค การเมืองที่ควรได้ร่วมเป็นรัฐบาลด้วย

คาดว่าจากนั้นก็จะมีการเสนอนายกรัฐมนตรีคนกลางตามมา ด้วยข้ออ้างเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ดังที่เคยเป็นมาแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และอาจจะซ้ำรอยได้อีกในครั้งนี้

เพื่อตัดวงจรนี้ออกไป แนวทางที่ควรทำให้เป็น รูปธรรมโดยเร็วขณะนี้ ประการแรกคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องรีบพิจารณาประกาศรับรองผล การเลือกตั้งโดยไม่ชักช้ารอเวลา

หากเขตเลือกตั้งใดไม่ปรากฏว่ามีเหตุร้องเรียนคัดค้านหรือมีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็น่าจะประกาศรับรองสมาชิกภาพได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ ให้ครบกำหนด 60 วัน

เพื่อให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบร้อยละ 95 หรือ 475 คนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แล้วนำไปสู่ ขั้นตอนกระบวนการรัฐสภาต่อไป

หากปล่อยให้เกิดสุญญากาศอำนาจและให้รัฐบาลรักษาการนานเกินไปจะนำไปสู่ข้อครหาประวิงเวลาและเอื้อต่อการพลิกผันหลักการประชาธิปไตยช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน