วันนี้กลไกในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ที่มีการใช้เอ็มโอยูเข้ามา ถือเป็นครั้งแรกในการเมืองไทย เป็นกลไกที่น่าสนใจ เป็นความพยายามชี้ให้เห็นถึงความชัดเจน ทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า

อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนความไม่มั่นใจของพรรคก้าวไกล ต่อกติกาและสถานการณ์การเมือง จึงต้องทำเอ็มโอยูในพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค เพื่อไม่ให้เกิดความเคลื่อนไหว แต่ก็ถือว่าดีในระดับพรรคการเมือง ที่ก้าวไกลเคลียร์ได้

แต่สิ่งที่ต้องดูต่อไปคือ ระดับมุ้ง หรือกลุ่มย่อยทางการเมือง ตรงนี้ถ้าเคลียร์ไม่ดี จะเกิดฟรีโหวตในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความเป็นไปได้ แม้มติพรรคจะ สนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล แต่ระดับมุ้ง จุดยืน อุดมการณ์ ผลประโยชน์ ทางการเมืองมันแตกต่างกันเยอะ เราอาจเห็นระดับมุ้งไม่โหวตตามมติพรรค และรัฐธรรมนูญ ปี 2560 รับรองเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ เป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. ดังนั้น มติพรรคหรือการลงโทษคงทำไม่ได้ ตรงนี้คือโจทย์ใหญ่ต้องขับเคลื่อนเดินหน้าต่อ

ประชาชนฝากความหวังไว้กับรัฐบาลก้าวไกล ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง และการแก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นโจทย์สำคัญ ทำให้การเมืองอยู่ในสภาวะปกติ ไม่ทำให้โครงสร้างรัฐสภาบิดเบี้ยวเหมือนที่เป็นอยู่

ผมมองว่าการมีกลไกคณะทำงานเปลี่ยนผ่าน คณะทำงานเจรจา เป็นกลไกสำคัญของก้าวไกลและ 8 พรรค ที่ใช้ขับเคลื่อนทางการเมือง ทำให้เรื่องความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลเพิ่มสูงมากขึ้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การรับรองผลเลือกตั้งของ กกต. หรือเรื่องมุ้ง หรือส.ว. ซึ่งชัดเจนว่ามีสนับสนุนแค่ 19-20 คน แต่มีส.ว.บางส่วนเดินเครื่องรัฐบาล แห่งชาติ อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของพรรคก้าวไกล

สิ่งที่ประชาชนฝากความหวังไว้กับรัฐบาลก้าวไกล คือ 1.ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนที่มีความยืดเยื้อมานานแล้วตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 ความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงนโยบายต่างๆ ถูกตัดตอนออกไป ทำให้ความเสมอภาค การเข้าถึงนโยบายของประชาชนมีน้อย กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ได้รับการแก้ไข

2.การแก้รัฐธรรมนูญ โจทย์สำคัญที่จะทำให้ความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะการแก้ไขการเมือง ทำให้การเมืองอยู่สภาวะปกติ ไม่ทำให้โครงสร้างรัฐสภา บิดเบี้ยวเหมือนที่เป็นอยู่ ซึ่งสภาชุดที่ผ่านมา เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 7 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ ตรงนี้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งผลักดัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน