สตูล – นางสาวกอบกุล โชติสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปันหยาบาติก เผยว่านำเสนอการเพนต์ลวดลายผ้าบาติกที่เชื่อมโยงเรื่องราวของ “อุทยานธรณีสตูล” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อรองรับการเปิดประตูท่องเที่ยวสตูลสู่อุทยานธรณีโลก “จีโอพาร์ค” ลงผืนผ้า ซึ่งเป็นผ้าชิ้น และตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า ผ้าคลุมไหล่ หมวก และสินค้าในกลุ่มอีกหลากหลาย บางลายก็เป็นภาพทะเลโบราณในยุคออร์โดวิเชียนหรือเมื่อประมาณ 444 ล้าน ปีก่อน มาทำเป็นลายผ้า มีปลาหมึกโบราณหรือนอติลอยด์ และไทรโลไบต์ เป็นตัวเอก ทำให้ผ้าบาติกของกลุ่ม มีลักษณะความพิเศษกว่าที่อื่น โดยพัฒนาลวดลายให้มีความแปลกใหม่รองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุดเป็นลายหินงาม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ของจ.สตูล ทางกลุ่มพยายามดึงอัตลักษณ์และสิ่งที่มี ในจ.สตูลมาใช้ในลวดลายบนผืนผ้า เพื่อให้เกิดความ แตกต่างจากที่อื่น และใช้สีธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นทั้งใบไม้ เปลือกไม้ แก่นไม้ และผลไม้ เช่น ลูกหว้า เช่น สีจากดิน เทอราโรซ่าหรือดินหินปูนผุซึ่งเป็นดินโบราณในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ซึ่งจะให้สีส้มอ่อนหรือสีโอลด์โรส สีม่วงจากลูกหว้า สีน้ำตาลอ่อนน้ำตาลแก่จากเปลือกมังคุด ฯลฯ สีจากวัสดุธรรมชาติอื่นๆ ในท้องถิ่น สีสันที่สวยงาม ไม่ฉูดฉาด ดูสบายตา รวมถึงการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้อง กับฤดูแฟชั่น และพัฒนาช่องทางการขายเจาะกลุ่มตลาดออนไลน์เพื่อกระจายสินค้าให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีลวดลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดด้วยคือ “ดาวบูดิง” รวมถึงเทคนิคในการย้อมผ้าบาติกที่แตกต่างจากที่อื่น

สินค้าผ้าบาติกอยู่ที่ชิ้นละ 1,200 บาท หากเป็นปาเต๊ะลายโบราณผ้าไหมพิมพ์ชิ้นละ 2,800-18,000 บาท ผ้าบาติก อยู่ที่ชิ้นละ 800-15,000 บาท โดยแต่ละเดือนทางกลุ่ม จะมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าอยู่ที่เดือนละ 8 หมื่น ถึงกว่า 1 แสนบาท ซึ่งถือเป็นรายได้ที่กระจายสู่ชุมชน ได้เป็นอย่างดีทีเดียว

ทั้งนี้ กลุ่มปันหยาบาติกเริ่มจากชาวบ้านริมทะเลที่ต้องการ ดึงลูกหลานกลับมาทำงานในชุมชน เพื่อให้ครอบครัว เกิดความอบอุ่น ตั้งแต่ปี 45 จนเวลาผ่านไปกว่า 21 ปี กลุ่มปันหยาบาติกได้พัฒนาลวดลายผ้าบาติกจากภูมิปัญญา เอกลักษณ์ประจำถิ่น ร่วมสร้างเส้นทางอาชีพที่ยั่งยืน ให้กับกลุ่ม จนกลายเป็นสินค้าโอท็อปที่มีชื่อเสียงและเป็นความภาคภูมิใจของจ.สตูล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน