วันนี้พาไปดูความสำเร็จของแปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง หนึ่งเดียวใน จ.สกลนคร ที่บ้านโคกก่อง ต.โคกก่อง อ.เมือง จ.สกลนคร

เกษตรกรในพื้นที่รวมตัวกันผลิตมันฝรั่งจนประสบผลสำเร็จ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกร 97 ราย พื้นที่ปลูกรวม 574 ไร่ มีนายธาตุ คำสงค์ เป็นประธานแปลงใหญ่

นายธาตุเล่าให้ฟังว่า ประสบการณ์ของตนเองในการปลูกมันฝรั่งมากว่า 20 ปี จากเดิมก่อนหน้านั้นปลูกมะเขือเทศ เป็นการปลูกพืชหลังฤดูทำนาปี เพื่อส่งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) อ.เต่างอย จ.สกลนคร

แต่เนื่องจากมะเขือเทศเป็นพืชที่เน่าเสียง่าย การดูแลรักษาให้มีคุณภาพสม่ำเสมอหลังเก็บเกี่ยวเพื่อส่งเข้าโรงงาน จึงเป็นไปได้ยาก ขณะที่มีต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง จึงคิดปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน

ต่อมามีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายโรงงานของบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืน

ภายใต้สัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตมันฝรั่งของบริษัท ซึ่งมีตลาดรับซื้อตามสัญญา มีการประกันราคาที่แน่นอน และได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา หัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพสูง เป็นต้น ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะผลิตมันฝรั่ง








Advertisement

นายธาตุเล่าต่อว่า การปลูกช่วงแรกได้ผลผลิตค่อนข้างน้อยมาก ประสบปัญหาขาดทุนติดต่อกัน 3 ปี แต่ก็ไม่ท้อ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการปลูกของโรงงานคอยให้กำลังใจ สอนแนะนำวิธีปลูกและการดูแลรักษาผลผลิตอย่างใกล้ชิด

ตนจึงนำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ ทำให้ผลผลิตมันฝรั่งเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้มีรายได้ดี เมื่อเกษตรกรคนอื่นเห็นว่า ตนเองปลูก มันฝรั่งแล้วรายได้สูง จึงมีเกษตรกรตัดสินใจปลูกตามจำนวน 10 คน

ปัจจุบันตนปลูกมันฝรั่ง 3 ไร่ แบ่งระยะเวลาการปลูกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. ต่อมาโรงงานได้กำหนดจุดรับซื้อขึ้นมา ณ บ้านโคกก่อง ต.โคกก่อง อ.เมือง จ.สกลนคร

โรงงานให้ตนเป็นหัวหน้าจุดรับซื้อ ต่อมาจึงเริ่มรวบรวมเกษตรกรที่ปลูกมันฝรั่ง จัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่มันฝรั่งบ้านโคกก่อง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน

ขณะที่ น.ส.อุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า จ.สกลนคร เป็นแหล่งผลิตมันฝรั่งอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเกษตรกรนิยมปลูกเป็นพืชเสริมรายได้จากการทำนาเป็นหลัก

เมื่อเดือนพ.ค.2566 จ.สกลนคร มีพื้นที่ปลูกมันฝรั่ง 1,783 ไร่ เพิ่มขึ้น 24.59% จากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 1,431 ไร่

เนื่องจากภาครัฐมีโครงการสนับสนุนการปลูกมันฝรั่งหลังฤดูทำนาปี ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาราคาดี เกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูกครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.พังโคน และอ.โคกศรีสุพรรณ

สำหรับการผลิตของกลุ่ม เกษตรกรจะปลูกมันฝรั่งเป็นพืชหลังฤดูทำนาปี ปีละ 1 รอบ ในการปลูกมันฝรั่งเกษตรกรจะใช้หัวพันธุ์ในการเพาะปลูกประมาณ 250-325 กิโลกรัม/ไร่ ราคาหัวพันธุ์อยู่ที่ 26-35 บาท/กิโลกรัม หัวพันธุ์ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ มีระยะเวลาการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 90 วัน นิยมปลูกช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. และเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค.

ในปี 2566 กลุ่มแปลงใหญ่ มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 23,590 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 3,090 กิโลกรัม/ไร่/ปี รวมผลผลิตทั้งกลุ่ม 1,774 ตัน/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 41,200 บาท/ไร่/ปี คิดเป็น ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 17,610 บาท/ไร่/ปี

หากคิดเป็นกำไรของทั้งกลุ่มในการผลิตมันฝรั่งอยู่ที่ 10 ล้านบาท/ปี

ด้านการตลาด กลุ่มแปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง ทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) กับบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งบริษัทมารับผลผลิตทั้งหมดที่ไร่ของเกษตรกร

ปี 2566 ราคาประกัน ณ ไร่นา ที่เกษตรกรขายได้ คือ เกษตรกรที่ทำสัญญาและเพาะปลูกช่วงเดือนต.ค.2565 ราคาขายจะอยู่ที่ 14 บาท/กิโลกรัม และเกษตรกรที่ทำสัญญาและเพาะปลูกช่วงเดือนพ.ย. ราคาขายจะอยู่ที่ 12.70 บาท/กิโลกรัม

หลังจากบริษัทรับซื้อผลผลิตแล้ว ผลผลิตจะถูกส่งไปยังห้องเย็นและโรงงานแปรรูปใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และพระนครศรีอยุธยา เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดกรอบและขนมขบเคี้ยว

ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อความยั่งยืน จากการที่แปลงใหญ่มันฝรั่ง โคกก่องเข้าร่วมโครงการกับบริษัท ทำให้เกษตรกรได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา หัวพันธุ์มันฝรั่งที่มีคุณภาพสูง เป็นต้น

รวมถึงการกำหนดราคารับซื้อที่แน่นอน สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการตามหลักตลาดนำการผลิต โดยมีโครงการสนับสนุน ได้แก่ การศึกษาการลดต้นทุนปุ๋ยเคมี การศึกษาวิจัยพันธุ์มันฝรั่ง การขยายพื้นที่ปลูกมันฝรั่งภายในประเทศ

และยกร่างการเกษตรพันธสัญญาที่ครอบคลุมและราคาเป็นธรรม อีกทั้ง สำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนครได้ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยสร้างรายได้แก่เกษตรกร ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มแปลงใหญ่ฯ เข้าร่วมโครงการ เห็นได้ว่าทั้งภาครัฐและเอกชนมีการส่งเสริมและสนับสนุนตั้งแต่การปลูกจนถึงการตลาด ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งมีความยั่งยืน

“ในปี 2567 กลุ่มแปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง ตั้งเป้าหมายว่าจะมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 600 ไร่ ตามนโยบายบริษัทและความต้องการตลาด”

นายธาตุกล่าวเสริมปิดท้ายว่า “หลังจากหันมาปลูกมันฝรั่ง ทำให้ผมและสมาชิกกลุ่มมี รายได้เพิ่มขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นตามลำดับ มีเงินส่งเสียลูกหลานเรียนหนังสือได้สูง สามารถซื้อรถไถและอุปกรณ์การเกษตรได้หลายชนิด และในอนาคต ผมมีความต้องการจะซื้อรถไถอีกคันให้ลูกชาย”

ปีนี้มีสมาชิกในกลุ่ม นำรายได้ที่ได้รับจากการปลูกมันฝรั่งไปซื้อรถไถจำนวน 2 คัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการปลูกมันฝรั่ง เป็นสินค้าเกษตรที่น่าสนใจและยังมีตลาดรองรับอีกมาก สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ผู้สนใจศึกษาดูงานมันฝรั่งโคกก่อง สอบถามได้ที่นายธาตุ คำสงค์ โทร.08-6234-3575

พัทธ์ธีรา วงษ์อัศวกรณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน