ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย.2566 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 90 ร่วงต่อ 3 เดือนติด เหตุกำลังซื้ออ่อนแอ รวมทั้งเงินบาทอ่อนค่า เสนอแบงก์ชาติคุมดอกเบี้ยฝากและกู้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนก.ย.2566 อยู่ที่ระดับ 90.0 ลดลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ 91.3 ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เป็นผลมาจากภาคการผลิตชะลอตัวจากกำลังซื้อในประเทศอ่อนแอลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนและรายได้ภาคเกษตรที่ลดลง

รวมทั้งอุปสงค์ประเทศคู่ค้าชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนชะลอจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และการอ่อนค่าของเงินบาทเนื่องจากเงินทุนไหลออกจากประเทศจากความกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น และน้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งและวัตถุดิบสินค้าเกษตร

ขณะที่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดค่าครองชีพลดราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และลดค่าไฟฟ้าจาก 4.45 เป็น 3.99 บาท/หน่วย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมและค่าขนส่งลดลง สะท้อนจากดัชนีต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน รวมทั้งการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวยังคงส่งผลดีต่อการบริโภคในประเทศ

โดยจากการสำรวจในเดือนก.ย.2566 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 84% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 69.5% และเศรษฐกิจในประเทศ 45.6% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 55.2% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 43.5% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 41.8%

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.3 ลดลงจากครั้งก่อนคาดไว้อยู่ที่ 99.5 โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากความกังวลต่อแนวโน้มราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อส่ง ผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แต่อย่างไรก็ยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอนุมัติวีซ่าฟรีชั่วคราวให้นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน เป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งคาดว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566

“ส.อ.ท.ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน ดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ให้ลดลง เพื่อลดภาระให้ผู้ประกอบการ และเร่งตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดยเร็ว รวมทั้งเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินคืนในระบบ Net Metering และสนับสนุนให้มีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน รองรับความเป็นกลางทางคาร์บอน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน