ผลสำรวจ “โพลมติชนxเดลินิวส์: รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” ซึ่งสำรวจระหว่าง วันที่ 1-31 ตุลาคม 2566 ผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเครือมติชนและเดลินิวส์ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ทุกระดับอายุ อาชีพ การศึกษา และรายได้ทั่วประเทศ รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 42,848 โหวต

เป็นการรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนที่เป็นเสียงธรรมชาติ เปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นความหมายที่แท้จริงของสาธารณะ โดยได้รับความสนใจจากคนดังหลากหลายวงการ ทั้งกลุ่มนักการเมืองซีกรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ภาคเอกชน นักวิชาการ รวมถึงนางงาม ดารานักแสดง และนักกีฬา

การจัดทำโพลในครั้งนี้ มติชนและเดลินิวส์ ได้อาสาเดินหน้าถามประชาชนว่าอะไรคือปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพื่อให้รัฐบาลรับทราบ นำไปจัดการนโยบายให้ตรงจุด และประเทศจะไปต่อได้ โดยได้สำรวจใน 2 ประเด็นหลักระหว่างเร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม หรือเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง

จากการสำรวจดังกล่าวมีการแยกคำถามออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ ข้อที่ 1. เร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม และ ข้อที่ 2 เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง

ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ประชาชนอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ- ปากท้อง ร้อยละ 60.2 ส่วนเร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคมอยู่ที่ ร้อยละ 39.8 นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดของการโหวตในแต่ละหัวข้อ ดังนี้

ข้อที่ 1.เร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม จากการสำรวจพบว่าประชาชนอยากให้แก้รัฐธรรม ร้อยละ 21.4 ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 20.4 ปฏิรูปกองทัพ ร้อยละ 18.8 กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ร้อยละ 17.2 รัฐสวัสดิการ ร้อยละ 16.5 และปัญหาอื่นๆ ร้อยละ 5.6

ข้อที่ 2.เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง จากการสำรวจพบว่า ประชาชนอยากให้ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน ร้อยละ 25.4 แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน-หนี้สาธารณะ ร้อยละ 20.6 แก้ปัญหาการเกษตร ร้อยละ 16.9 แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ร้อยละ 15.6 เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนปริญญาตรี ร้อยละ 15.1 และปัญหาอื่นๆ ร้อยละ 6.3

สำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้ร่วมโหวตออนไลน์ โพลมติชน x เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? จำนวน 42,848 ราย แยกเป็นเพศชาย ร้อยละ 63.7 เพศหญิง ร้อยละ 33.2 และไม่ระบุเพศ ร้อยละ 3.1 โดยมีอายุ 51 ปีขึ้นไปร้อยละ 35.8 อายุ 31-40 ปี ร้อยละ 22.7 อายุ 41-50 ปี ร้อยละ 20.1 อายุ 21-30 ปี ร้อยละ 16.9 และ อายุ 18-20 ปี ร้อยละ 4.5 ส่วนระดับการศึกษาจากการสำรวจพบว่า การศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 51.2 ต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 28.1 ปริญญาโท ร้อยละ 17.7 และปริญญาเอก ร้อยละ 3

ส่วนอาชีพที่ร่วมโหวตในครั้งนี้ พบว่าพนักงานบริษัทร่วมโหวตสูงสุดที่ ร้อยละ 25.3 ค้าขาย/ประกอบกิจการส่วนตัว ร้อยละ 19.0 ราชการ/ รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.5 อื่นๆ ร้อยละ 16.7 รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 10.0 นักศึกษา ร้อยละ 6.0 และเกษตรกร ร้อยละ 5.5

ทั้งนี้ ยังพบอีกว่าผู้ร่วมโหวตมีรายได้ต่อเดือน 10,001-20,000 บาท เป็นผู้ร่วมโหวตสูงสุด ร้อยละ 23.5 รองลงมาได้แก่ รายได้ต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 20.0 รายได้ต่อเดือน 50,001 บาท ขึ้นไป ร้อยละ 19.3 รายได้ต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 17.0 รายได้ต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 12.2 และ รายได้ต่อเดือน 40,001-50,000 บาท ร้อยละ 8.0

โดยมีผู้ร่วมโหวต 10 อันดับแรกตามทะเบียนบ้าน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 29.3 จังหวัดนนทบุรี ร้อยละ 4.8 จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 3.5 จังหวัดปทุมธานี ร้อยละ 3.3 จังหวัดชลบุรี ร้อยละ 3.1 จังหวัดสมุทรปราการ ร้อยละ 2.8 จังหวัดนครราชสีมา ร้อยละ 2.6 จังหวัดขอนแก่น ร้อยละ 2.5 จังหวัดสงขลา ร้อยละ 1.5 และจังหวัดอุบลราชธานี ร้อยละ 1.4

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน