อีกประเด็นการเมืองที่ถูกจับตาในช่วงนี้ สำหรับการออกพ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ล่าสุด นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ได้ออกมาขอโทษกฤษฎีกา ที่คำสัมภาษณ์ของตัวเองทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าร่างพ.ร.บ.กู้เงิน ถึงมือกฤษฎีกาแล้ว แต่การพิจารณาล่าช้า

จนทัวร์ลงกฤษฎีกา ทั้งที่กระทรวงการคลังยังไม่ได้ส่งหนังสือสอบถามถึงการออก พ.ร.บ.กู้เงิน ดังกล่าวมาเลย

เป็นเหตุผลที่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาชี้แจงขั้นตอนการออกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

ขั้นตอนแรก รอหนังสือจากกระทรวงการคลัง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะถามมายังกฤษฎีกาว่ารัฐบาลสามารถออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทได้หรือไม่

และขั้นตอนขณะนี้เป็นเพียงการส่งคำถามมาหารือว่าครบเงื่อนไขออกพ.ร.บ.กู้เงินได้หรือไม่ ยังไม่เรียกว่าเป็นการจัดทำร่าง พ.ร.บ. เนื่องจากมติของที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ มอบหมายให้กฤษฎีกาไปดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งกฤษฎีกาจะดูข้อกฎหมาย ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินแผ่นดิน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ 2548 กฎหมายเงินคงคลัง เป็นต้น

รวมทั้งต้องดูอำนาจหน้าที่ของครม.ด้วย เรื่องนี้ต้องดูตาม ข้อกฎหมายอย่างรอบคอบว่าทำได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ก็บอกทำไม่ได้ ไม่ได้ซับซ้อนอะไร

เมื่อตอบคำถามรัฐบาลที่ส่งมาแล้วครบถ้วนแล้ว ถึงจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่อีกครั้ง ที่ประชุมจึงจะมีมติว่าสามารถเดินหน้าออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ได้หรือไม่

ส่วนการวินิจฉัยว่าสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้วิกฤตหรือไม่วิกฤต เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และ ครม.ที่ต้องหาข้อมูลมาอธิบาย กฤษฎีกาไม่สามารถให้คำตอบได้

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ชี้แจงเหตุผลที่ยังส่งหนังสือถามไปยังกฤษฎีกาไม่ได้ เพราะต้องปรับคำถามใหม่หลังสภาพัฒน์แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 และต้องรอเวียนหนังสือรับรองให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ที่ประกอบด้วยหลากหลายหน่วยงานรับรองการประชุมก่อน คาดส่งหนังสือได้ในเร็วๆ นี้ ยืนยันว่าไม่ได้ยื้อ

นายจุลพันธ์ยืนยัน กระบวนการยกร่างกฎหมายใช้เวลาไม่มาก แต่ที่ไม่รู้คือกฤษฎีกาจะใช้เวลาตีความแล้วส่งกลับมายังกระทรวงการคลังได้เมื่อไร

ด่านแรกจึงสำคัญ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาวินิจฉัยของ คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 ที่มี นายพนัส สิมะเสถียร อดีต รมว.คลัง เป็นประธาน ร่วมด้วย นายบดี จุณณานนท์ อดีตรมว.คลัง และอดีต ผอ.สำนักงบประมาณ, นายธานิศ เกศวพิทักษ์ รองประธานศาลฎีกา, นายปัญญา ถนอมรอด อดีตประธานศาลฎีกา และประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

นายสมชัย ฤชุพันธุ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต อดีตผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด, น.ส. จารุวรรณ เฮงตระกูล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, นายนนทิกร กาญจนะจิตรา อดีตเลขาธิการสำนักงาน ก.พ. และ นายศักดา ธนิตกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งล้วนข้าราชการเกษียณ ที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง

ที่สำคัญกฤษฎีกาชุดนี้เคยวินิจฉัยเกี่ยวกับโครงการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตมาแล้ว กรณีคณะอนุกรรมการฯ ชุดนายจุลพันธ์ หารือว่า โครงการนี้ทำได้ตามกรอบกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าทำได้โดยไม่ขัดกฎหมาย ในระยะ 6 เดือนตามระยะเวลาโครงการ แต่การจะยืมเงินจากธนาคารออมสินไปดำเนินการไม่สามารถทำได้ ผิดวัตถุประสงค์พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน

ทั้งนี้ เมื่อกฤษฎีกาตอบกลับความเห็น ที่อาจออกมาเป็น 3 แนวทาง คือ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือให้ปรับปรุงแก้ไข รัฐบาลก็ต้องนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมครม. ซึ่งมติจะออกมาว่า เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือรอฟังความเห็นหน่วยงานอื่นเพิ่มเติม ก็อยู่ที่คำตอบของกฤษฎีกา

แต่หากครม.ไฟเขียว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยการส่งร่างพ.ร.บ.กู้เงินเข้าสภา พิจารณา 3 วาระรวด ซึ่งรัฐบาล 314 เสียง ไม่น่ามีปัญหา

ก่อนส่งต่อวุฒิสภา ซึ่งต้องพิจารณาใน 60 วัน ไม่มีอำนาจตีตก ทำได้เพียงส่งกลับสภาผู้แทนฯ ให้โหวตใหม่

ในช่วงส่งท้ายปีนี้ ต้องลุ้นในชั้นกฤษฎีกาก่อน โดยที่รัฐบาล ยังคงเป้าหมายเดิมคือ ยกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน และนำเข้าครม.ได้ ภายในปีนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน