เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนา “การสร้างความเข้าใจรากเหง้า ความขัดแย้ง และกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี”

นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานกมธ. กล่าวว่า ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้มีมานับร้อยปี แต่มักถูกอ้างอิงถึงด้วยสถิติตัวเลขผู้สูญเสียชีวิตมากกว่า 7,000 ราย สูญเสียมูลค่า และโอกาสทางเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกระบวนการสร้างสันติภาพ งบประมาณที่ภาครัฐใช้ไปในระยะหลังนับคร่าวๆ มากกว่า 500,000 ล้านบาท มีหน่วยงานกระทรวงที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ มากกว่า 14 หน่วยงาน แต่อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน ทั้งที่มองว่า ปัญหาได้คลี่คลายดีขึ้น และที่มองว่าปัญหายังดำรงอยู่

กมธ.มีการประชุมมาแล้ว 7 ครั้ง การสัมมนาครั้งนี้จะทำให้กมธ.และที่ปรึกษาได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทั้งยัง คาดหวังว่ากมธ.ชุดนี้ จะสามารถร่างเป็นข้อเสนอต่อสภา โดยเร็วที่สุด และเสนอต่อไปยังรัฐบาลได้

จากการทำงานมาระยะหนึ่ง มีประเด็นสำคัญที่กมธ.ได้พิจารณาเป็นหัวข้อที่ยากและไม่ได้พูดคุยกันในวงกว้างนัก แม้ในสภาเอง อาทิ

1.บทบาทของรัฐสภาต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

2.การปรับการทำงานของฝ่ายบริหารเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ และมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านการพูดคุยสันติภาพโดยตรง และทำอย่างเต็มเวลา

3.ขจัดอุปสรรคต่อการเดินหน้าของกระบวนการสันติภาพอันเกิด จากความกลัวต่อปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ไปสู่ระดับสากล








Advertisement

4.การบัญญัติ แก้ไข และบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพโดยรวม

5.ปรับการจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และการแสวงหาทางออกทางการเมือง

การทำงานของกมธ.มีแนวโน้มขยายเวลาจากกรอบเดิมที่ได้รับมา 90 วัน และตั้งหัวข้อในการศึกษาพิจารณาที่ชัดเจน รวมถึงการลง พื้นที่รับฟังปัญหาในเดือนม.ค.2567 อย่างน้อย 2-3 ครั้ง พร้อมคาดว่า จะทยอยมีข้อสรุปในประเด็นใหญ่ๆ ช่วงกลางเดือนม.ค.2567

สำหรับการทำงานของฝ่ายบริหารที่ไม่เป็นเอกภาพนั้น หมายถึงหน่วยงาน ศอ.บต. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า

นายจาตุรนต์ชี้แจงว่า การทำงานของภาครัฐมี 2 ส่วน คือ คณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ ซึ่งกมธ.จะศึกษาดูว่ามีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร อีกส่วนคือการบริหารความรับผิดชอบการแก้ปัญหาความขัดแย้งจากผลกระทบของคำสั่ง คสช.

จะเห็นได้ว่าแต่ละหน่วยงานที่ดูแลเรื่องชายแดนภาคใต้ รับบัญชาการจากนายกรัฐมนตรีทั้งหมด แต่ไม่มีการประสาน เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน แต่ละหน่วยงานยังถือกฎหมายคนละฉบับ

ทั้งนี้กมธ.ได้รับทราบข้อเสนอของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เรื่องการยุบ กอ.รมน. และได้เห็นปัญหาความลักลั่นไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งกมธ.จะต้องดูว่าองค์กรที่เหมาะสมในการรับผิดชอบแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ควรจะเป็นอย่างไร

ส่วนการแก้ปัญหากฎหมายพิเศษต่างๆ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินกฎอัยการศึก กมธ.จะหาข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมจากองค์ความรู้ ของฝ่ายต่างๆ ให้ฝ่ายบริหารปฏิบัติตามได้หรือไม่ กฎหมายเหล่านี้ควรจะใช้หรือไม่ใช้อย่างไร ควรยกเลิกหรือไม่ แต่บางเรื่อง ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นปัญหาระดับประเทศ โดยกมธ.มีหน้าที่ทำข้อเสนอที่เหมาะสมที่สุด

กมธ.ชุดนี้มีองค์ประกอบทั้ง สส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล การทำ ข้อเสนอให้เป็นที่ยอมรับของสภาเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งยังได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันพระปกเกล้าให้มีการสอบถามความเห็นจากสส. ให้กว้างขวาง เพื่อจัดทำข้อเสนอที่เป็นที่ยอมรับจาก สส.

ส่วนกมธ.จะพูดคุยถึงประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ หรือรูปแบบการบริหารปกครองพิเศษหรือไม่นายจาตุรนต์ยืนยันว่าจะต้องมีการพูดคุยแน่นอน เรื่องเหล่านี้ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ได้ข้อสรุป หากเรื่องมีผลกระทบต่อทั้งประเทศ

“การกระจายอำนาจของทั้งประเทศขณะนี้มีสถานะถอยหลัง ส่วนรูปแบบการปกครองพิเศษ ต้องยอมรับว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างจาก กทม. และเมืองพัทยา ดังนั้น ต้องหาสมดุลที่ควรมีการกระจายอำนาจมากขึ้น เหมือนหลายจังหวัด ที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว”

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ส่วนจะมีกฎหมายมาคุ้มครองผู้เห็นต่างและผู้อยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาจากประเทศต่างๆ รวมถึงการทำงานที่ผ่านมาของไทยด้วย ปัญหานี้ซับซ้อน เรื่องที่มีการดำเนินคดีและมีประชาชนผู้เสียหาย การจะออกกฎหมายเพื่อระงับการดำเนินคดีหรือนิรโทษกรรม เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ต้องหากฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์

ที่พูดกันมากถึงกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นโจทย์หนึ่งที่กมธ.ต้องพิจารณา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน