การประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ.2566 จะเริ่มขึ้นในวันที่ 12 ธ.ค.เป็นต้นไป มีวาระพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดย ครม. รัฐบาล และ ฝ่ายค้าน ที่สำคัญหลายฉบับ

ที่เป็นประเด็นต้องเกาะติด อาทิ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับพรรคก้าวไกล โดยที่พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นร่างประกบ

และร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

รวมถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ในความเห็นของนักวิชาการเรื่องใดน่าเป็นห่วงที่สุด

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 67 เชื่อว่าผ่านได้ง่ายแน่นอน อย่างไรฝ่ายค้านก็ต้องเข้าใจ ถ้าทำอะไรมากไปอาจทำให้การจัดสรรงบส่งผล กระทบวงกว้าง และที่สำคัญรัฐบาลมีเสียงข้างมาก คุมเสียงได้








Advertisement

ขณะที่ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมอาจผ่านยาก ถ้าเป็นร่างจากพรรค ก้าวไกล เนื่องจากข้อเสนอของ ก้าวไกลมีมาตรา 112 และถ้าเพื่อไทยเสนอร่างประกบจริง การแก้ปัญหาก็อาจไม่ครอบคลุมถึงมาตรา 112 แต่อาจได้ประเด็นอื่นมาแทน ซึ่งจะทำให้ปัญหาความ ขัดแย้งในสังคมยังไม่จบ

แน่นอนถ้าผ่านแค่ร่างของทางรัฐบาล ประชาชนหรือคนหนุ่มสาวที่ต้องโทษมาตรา 112 จะไม่ได้อยู่ในข่ายได้รับการนิรโทษกรรม

เลี่ยงไม่ได้ว่ามาตรา 112 สัมพันธ์กับการเมือง ถ้าต้องการแก้วิกฤตการเมืองก็ต้องดูที่ มาตรา 112 และต้องดูอีกว่าใครโดนกลั่นแกล้ง โดนยัดข้อหา ที่ต้องคืนความเป็นธรรมให้ ใครมีเจตนาจริงๆ หรืออาฆาตมาดร้ายก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรก็ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งหมด แต่ร่างของเพื่อไทยคงตัดเรื่องเหล่านี้ ปัญหาจึงจะไม่หมดสิ้น ประชาชนคงจะไม่พอใจ

แต่ไม่อยากให้นำเอาเรื่องนี้มาช่วงชิงการได้เปรียบกัน แม้จะรู้ว่าเพื่อไทยทำแบบนี้ เพื่อประนีประนอมกับชนชั้นนำ ขณะที่พรรคก้าวไกลก็ต้องการใช้พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อ กลบเกลื่อนหลังสังคมจับไต๋ได้ว่า ก็แอบมีดีลลับกับทางเพื่อไทยบางเรื่อง

ฉะนั้นเรื่องนี้ถ้าจะทำกันอย่างจริงจังคิดว่าทั้งก้าวไกล เพื่อไทยต้องคุยกัน ก่อนมีร่างพ.ร.บ.นี้ออกมาแกนนำทั้งหมดต้องทำความเข้าใจ พรรคเพื่อไทยต้องยอมรับให้ได้ว่ามาตรา 112 เป็นปัญหาทางการเมืองจริงๆ อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้เพื่อไทยเคยยืนยันต้องแก้มาตรา 112

ฉะนั้นเรื่องนี้น่าจะมีการคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ ทางออกเรื่องนี้ต้องคุยกันให้จบแล้วค่อยมาทำเป็นร่างที่สมบูรณ์แบบ ทำให้เป็นวาระแห่งชาติที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลมาร่วมแก้ปัญหาวิกฤตการเมือง

ส่วนพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านเชื่อว่าเข้าทันสมัยประชุมนี้ ถ้าไม่ทันจะส่งผลกระทบกับการขับเคลื่อนนโยบายเดือนพ.ค.67 เห็นเรื่องเงียบๆ อาจมีปัญหาในกระบวนการ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา แต่ถ้าผ่านกระบวนการนี้ไปแล้วก็ทันเข้าสภาแน่

เมื่อมาสู่สภาก็คงไม่มีผลอะไรเพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมาก ก้าวไกลเองก็คงให้ผ่าน เพราะในอนาคตยังต้องร่วมไม้ร่วมมือกันตั้งรัฐบาลหลังสว.ชุดนี้ครบวาระ

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจะเป็นประเด็นร้อนของสภาได้หากพรรคก้าวไกลทำได้ตามมาตรฐานเดิม แต่ครั้งนี้คิดว่าจะไม่เป็นอย่างที่สังคมคาดหวัง เพราะช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราเห็นจุดบกพร่องความล้มเหลวของรัฐบาลหลายจุด แต่พรรคก้าวไกลก็ไม่ได้เป็นฝ่ายค้านเชิงรุกอย่างที่คุยโวไว้

ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจคงทำพอเป็นพิธี ไม่มีอะไรน่าสนใจ เพราะเชื่อว่าหลังนายทักษิณ ชินวัตร ออกจากโรงพยาบาล สว.หมดวาระ ทั้งก้าวไกลและเพื่อไทยจะหันมาร่วมกัน

เนื่องจากการเมืองวันข้างหน้า ก้าวไกลทิ้งเพื่อไทยไม่ได้ และนายทักษิณ ก็รู้ว่าเพื่อไทยจะทิ้งก้าวไกลไม่ได้ เพราะหาก 2 พรรคนี้ไม่ร่วมกัน นายทักษิณ ก็ยังต้องอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจ


สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

เมื่อสภาเปิดสมัยประชุมมีร่างกฎหมายสำคัญรอการพิจารณาอยู่ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 67 คิดว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นกฎหมายของสภา มีกรรมาธิการ มีกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้วว่าฝ่ายค้านเท่าไร ฝ่ายรัฐบาลเท่าไร เพราะฉะนั้นคงไม่มีปัญหา

ฝ่ายค้านก็อยากให้ผ่านเพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนการอภิปรายร่างพ.ร.บ. งบประมาณที่จะมีการถล่มกันก็เป็นเรื่องธรรมดา ถือว่าฟังเพลงกันไปก่อน

แต่กฎหมายที่คิดว่าคนจับตาดูและอาจผิดหวังคือร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคก้าวไกล เพราะไปๆ มาๆ วันนี้ไม่เหมือนตอนหาเสียง

ตอนหาเสียงคนมองว่าเมื่อพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยเป็นเสียงข้างมาก ร่างกฎหมายนี้ก็ต้องผ่าน แต่วันนี้อยู่คนละข้างแล้วแถมเพื่อไทยไปผสมอยู่กับข้างที่ไม่อยากให้แตะการนิรโทษกรรมความผิดมาตรา 112

ฉะนั้นตรงนี้คนจะผิดหวัง เพราะตอนหาเสียงสองพรรคใหญ่ประกาศว่าเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำแต่ถึงเวลาก็ทำไม่ได้ ดังนั้นร่างของพรรคก้าวไกลไม่ผ่านแน่ หากผ่านก็ไม่ใช่อย่างที่ก้าวไกลต้องการ อาจผ่านในแง่ให้รับหลักการ แล้วให้ตั้ง กมธ.วิสามัญมาพิจารณาว่าสมควรจะแก้ไขตรงไหน

มองว่าเป็นการดื้อเสนอกฎหมายเพราะไม่มีคำตอบตั้งแต่แรก ที่จริงควรตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาก่อนเสนอร่างเข้าสู่วาระ 1 เพื่อพิจารณาว่าจะเสนอกฎหมายนี้หรือไม่

ล่าสุดพรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างประกบก็ต้องผ่านอยู่แล้ว แต่เนื้อหาย่อมแตกต่างไปจากของพรรคก้าวไกล คือไม่แตะมาตรา 112

คิดว่าพรรคเพื่อไทยเองก็หนักใจเพราะเหมือนผิดคำพูด เพราะที่จริงเพื่อไทยก็เป็นความหวังของกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงมาตรา 112 เหมือนกัน เพียงแต่เมื่อเพื่อไทยไปรวมกับอีกกลุ่ม ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เขายอมร่วมรัฐบาลด้วยคือต้องไม่แตะมาตรา 112

ส่วนร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย ไม่รู้ว่าจะทันสภาสมัยนี้หรือไม่ ซึ่งคิดว่าจะเป็นประเด็นร้อนของสภา เพียงแต่พรรคเพื่อไทยจะถูกมองอย่างคลางแคลงใจว่าหลอกประชาชนหรือไม่ แล้วกลับกลายไปเป็นเรื่อง ยืดเยื้อ ท้ายที่สุดสงสัยจะไปแขวนอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

หากร่างพ.ร.บ.เงินกู้ เข้าสภาได้จริง รัฐบาลจะโดนอภิปรายถล่มหรือไม่ยังไม่รู้ คงมีประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันคือเศรษฐกิจวิกฤตจริงหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็ประกาศว่าเศรษฐกิจดีขึ้น แต่พอจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ ก็บอกเศรษฐกิจตอนนี้ไม่ดี

ดังนั้น เปิดประชุมสภาสมัยหน้ามาอาจร้อนแรง เพราะสส.เริ่มตั้งหลักกันได้แล้ว รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่คิดว่าคงไม่ถึงขั้นเดือดมาก เพราะการเมืองเป็นปกติต้องมีสองข้างเสมอ

สถาพร เริงธรรม
คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น

ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 67 ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะลักษณะการกระจายตัวของงบประมาณเป็นไปตามงบประมาณปกติที่จัดสรรให้ตามหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ใช้ฐานของกรมเป็นฐานรองรับเรื่องงบประมาณ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรที่จะทำให้พ.ร.บ. งบประมาณ 67 จะไม่ผ่าน ส่วนฝ่ายค้านต้องมีเสียงไม่สนับสนุนอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ

แต่มีข้อสังเกตว่า การจัดสรรงบประมาณ ตามแนวทางดังกล่าวจะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ เท่าที่ดูในพ.ร.บ. งบประมาณ ยังมีการจัดสรรงบประมาณ ที่ไม่ชัดเจนในเชิงยุทธศาสตร์ การทำงานเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์อาจไม่บรรลุผลได้

การจัดสรรเป็นงบประมาณประจำ ทำตามหน่วยงานปกติ รัฐบาลมีงบกลางอยู่ประมาณ 17% ซึ่งส่วนใหญ่มีโครงการรองรับไว้อยู่แล้ว ในเมื่อการทำงบประมาณเป็นแนวทางแบบนี้ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างไร

เช่น ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากปัจจัยภายนอก การจัดสรรงบประมาณจึงไม่มีความชัดเจนในเชิงยุทธศาสตร์ที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้

หลักๆ ต้องดูว่า รัฐบาลใช้เงินเพื่ออะไร นโยบายที่แถลงต่อสภา งบประมาณที่จัดสรรตอบโจทย์หรือไม่ สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ คิดว่าตรงจุดนี้จะเป็นส่วนที่ฝ่ายค้านนำมาคัดค้าน

อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลค่อนข้างเป็นเอกภาพ ทุกพรรคจะได้งบประมาณตามที่ต้องการ ดังนั้นปัจจัยภายในจึงไม่ใช่ปัญหาที่จะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณนี้

สำหรับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่พรรคเพื่อไทยจะยื่นประกบกับพรรคก้าวไกลก็เป็นเรื่องปกติของการเสนอกฎหมาย ที่รัฐบาล มักยื่นประกบร่างกฎหมายของฝ่ายค้าน

พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเรื่องการเมือง ที่พรรคเพื่อไทยน่าจะนำบทเรียนเมื่อปี 2553 มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข และประกบไปกับร่างของพรรคก้าวไกล

หากพ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ผ่าน ผลกระทบจะตกอยู่กับผู้มีคดีจากเหตุการณ์ทางเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่บุคคลระดับแกนนำ แต่เป็นกลุ่มที่เข้าร่วมกระบวนการจนโดนคดีความ กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบทางตรง หากจะให้ผ่านต้องไปคุยกันเรื่องเงื่อนไขบางประการให้ตกผลึกเสียก่อน

สำหรับพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท นายวิษณุ เครืองาม คณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้ทางออกไว้ให้แล้ว พร้อมระบุกฤษฎีกาพิจารณาได้ภายในเดือนพ.ค.67 ซึ่งเป็นทางออกที่น่าสนใจ แต่จะทันสมัยนี้หรือไม่ หากไม่ทันรัฐบาลจะได้รับผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ สิ่งที่รัฐบาลต้องตอบคำถามให้ได้คือ ประเทศมีวิกฤตเศรษฐกิจขนาดไหน

อีกเรื่องคือความคุ้มค่าที่รัฐบาลต้องอธิบายให้ชัดเจน เมื่อเทียบฝ่ายคัดค้านนโยบายนี้ที่มองว่าการแจกเงินดิจิทัลไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แค่พยุงตัว และไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างระยะยาวได้

และมีประเด็นสุ่มเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.เลือกตั้ง เพราะระหว่าง หาเสียงพรรคเพื่อไทยชี้แจงต่อกกต.ว่า นโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทมาจากงบปกติ

แต่ปัจจุบันหันไปออกพ.ร.บ.กู้เงิน ผิดไปจากเงื่อนไขที่ชี้แจงไว้ ซึ่งเป็นอีกประเด็นหากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยดำเนินการไม่รัดกุม จะทำให้พ.ร.บ.กู้เงินไม่ผ่านได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน