คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ปมร้อน การเมือง – การเมืองหลังคว่ำร่างแก้ไข “รัฐธรรมนูญ” กำลังจะก้าวเข้าสู่สภาพการณ์ใหม่

บทบาทของ “รัฐสภา” จะลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ แม้ว่ายังมีความชอบธรรมในเชิงพิธีกรรมและรูปแบบอันมี “รัฐธรรมนูญ” รองรับด้วยแข็งแกร่ง

บทบาท การเมือง “ท้องถนน” จะทวีความคึกคัก

ที่เคยมองและเข้าใจกันในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ว่า การเคลื่อนไหวของ “กลุ่มราษฎร” ฝ่อลง แผ่วลงและถดถอยลงเป็นลำดับ ครานี้ก็จะ เห็นกัน

เห็นอย่างเด่นชัดนับแต่เดือน “เมษายน” เป็นต้นไป

คําประกาศแรกอันปรากฏขึ้นหลังการสนทนาใน “คลับเฮาส์” คือคำถาม “สว.มีไว้ทำไม”

คำถามนี้เริ่มจากปาก นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ซึ่งเคยเป็นเลือดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์อย่างต่อเนื่อง เมื่อผ่านสถานการณ์วันที่ 17 มีนาคมก็แจ่มชัด

แจ่มชัดในบทบาท “ฝักถั่ว” ของ ส.ว.

อย่าได้แปลกใจหาก นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า จะถือเอาวันที่ 6 เมษายนเป็นจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวเพื่อพุ่งปลายหอก ไปยัง “ส.ว.”

เท่ากับยืนยันยุทธการ “ปิดสวิตช์ส.ว.” ต่อเนื่อง

ที่มีบทสรุปจากผู้จัดเจนทางการเมืองว่า การเคลื่อนไหว “รัฐธรรมนูญ” ได้จบไปแล้ว

เป็นความจริงที่การลงมติในคืนวันที่ 17 มีนาคม อาจมีผลทำให้การเคลื่อนไหวผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้หมดความหมายลง

แต่นั่นก็ทำให้หลายคนตกอยู่ในสภาพเปล่าเปลือย

ไม่ว่าจะมองเข้าไปยัง 250 ส.ว. ไม่ว่าจะมองเข้าไปยัง 100 กว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมองเข้าไปยังความไร้เดียงสาของ 61 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย

สิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็น “แรงดาลใจ” ในทางการเมือง

ปมว่าด้วย “รัฐธรรมนูญ” จะค่อยๆ กลายเป็นประเด็นอันร้อนแรงในทางสังคม

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ต่อต้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนถือเอา “รัฐธรรมนูญ” มาจุดร่วม

เป็นเครื่องมือในการปกป้อง เป็นเครื่องมือในการฟาดกระหน่ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน