แก้-ไม่แก้รธน. ปมชี้ขาดเลือกตั้ง

เข็มนาฬิกาโรดแม็ปเริ่มเดินอีกครั้งหลังหยุดชะงักไปนาน 2 เดือน

จากกรณีเครือข่ายแม่น้ำ 5 สายในส่วนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ ที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้ง

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัย ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต่อเนื่องจากร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ที่เพิ่ง ผ่านฉลุยไปก่อนหน้า

ยังเหลือให้ลุ้นอีกขยักกับคิววินิจฉัยคำสั่งคสช. ฉบับที่ 53/2560 ว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมือง ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติชี้ขาดวันที่ 5 มิถุนายน

สถานการณ์เริ่มไหลลื่น ในส่วนร่างพ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ได้ส่งต่อไปให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้วเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ส่วนร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ตามที่ฝ่ายกฎหมายรัฐบาลแจกแจง ขั้นตอนหลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องส่งคำวินิจฉัยฉบับเต็มกลับมายังสนช. เพื่อส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ น่าจะใช้เวลาไม่เกินปลายเดือนมิถุนายน เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วถึงจะดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายในเวลา 11 เดือน

เป็นช่วงเวลา 11 เดือนที่เลื่อนให้สั้น ลงได้ แต่เลื่อนให้ยาวไม่ได้

สอดรับกับฝ่ายกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อธิบายอย่างละเอียดตามปฏิทิน กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะอยู่ในกรอบเวลาไม่เกิน 90 วัน

เมื่อร่างกฎหมายได้รับโปรดเกล้าฯ ลงมา ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จะทำให้กฎหมายลูกจำนวน 3 จาก 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ประกอบด้วย พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว. มีผลบังคับใช้ทันที

ยกเว้นพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ที่จะมีผลบังคับใช้ใน 90 วันหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

การที่พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ไม่ได้มีผลบังคับใช้ทันทีทันใด เป็นเหตุให้ไม่สามารถเริ่มนับหนึ่งกระบวนการเลือกตั้งได้

ต้องรอครบกำหนด 90 วัน ให้กฎหมายมี ผลบังคับใช้ทั้งหมดทุกฉบับ รัฐบาลกับกกต.ถึง จะหารือร่วมกัน

เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วัน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

เมื่อคำนวณระยะเวลาแบบเต็มเพดาน

การเลือกตั้งจะมีขึ้นภายใน 3+3+5 เดือน ซึ่งจะไปตรงกับเดือนเมษายน หรืออย่างช้าเดือนพฤษภาคม 2562

แต่มีโอกาสที่จะเร็วกว่านั้นได้ ตามที่นักการเมืองและคนอยากเลือกตั้ง เสนอว่าหากคสช.ออกคำสั่ง แก้ ไขยกเลิกกรอบเวลา 90 วันในการบังคับใช้พ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.

รวมถึงการที่รัฐบาลจะไปหารือตกลงกับกกต. ให้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน 90 วัน หลังพ.ร.ป.ทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ แทนที่จะเป็น 150 วัน

หากเลือกทำวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือเลือกทำทั้ง 2 วิธี จะช่วยร่นเวลาเลือกตั้งให้เร็วขึ้นได้ 3-6 เดือน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าคสช.และรัฐบาลจะทำหรือไม่ทำเท่านั้น

กระนั้นก็ตาม ถึงแม้ว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.ป. 2 ฉบับสุดท้ายไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองต่างก็มองว่าน่าจะเป็นสัญญาณดี เพราะทุกอย่างจะได้เดินตามโรดแม็ปต่อไป

ที่สำคัญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้ไม่มีใครสามารถนำเรื่องกฎหมายลูก มาเป็นข้ออ้างในการเลื่อนโรดแม็ปออกไปได้อีก

ยกเว้นจะมีการสร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมา เช่น ด้วยข้ออ้างเดิมๆ ว่ายังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มแดงฮาร์ดคอร์ ผสมโรงชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

เตรียมก่อเหตุสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง วาระครบรอบ 4 ปีคสช. จนนำมาสู่การแจ้งจับกุมดำเนินคดีแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมกว่า 60 คน เป็นต้น ตรงนั้นก็ต้องไปว่ากันอีกที

รวมถึงการที่แผนกรุยทางสืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้ง ผ่าน”เครื่องดูดฝุ่น”ที่ระยะหลังเริ่มออกอาการตื้อๆ ตันๆ

มีแต่พรรคพลังชลที่เป็นเนื้อเป็นหนัง นอกนั้นที่ดูดมาได้ส่วนมากเป็นอดีตส.ส.แถว 2 แถว 3 หรือไม่ก็เป็นอดีตผู้สมัครส.ส.สอบตก

สรุปคือ ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน หรือต่อให้ไปจับมือกับพรรคเล็กพรรคน้อย หรือพรรคขนาดกลาง หลังเลือกตั้ง

แต่ตราบใดที่พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ยังอยู่ ก็เป็นเรื่องยากที่พรรคคสช. จะรวบรวมส.ส.ได้เกินครึ่งสภาหรือ 250 เสียง เพื่อเป็นเครื่องค้ำยันให้อยู่ในอำนาจได้นานๆ

เพจเฟซบุ๊กเชียร์พล.อ.ประยุทธ์ เปิดสำรวจความคิดเห็นแฟนเพจ หัวข้อ “ครบรอบ 4 ปี คสช. ยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้บริหารบ้านเมืองต่อหรือไม่” ปรากฏผลโหวตออกมาพลิกล็อกมโหฬาร

ไม่หนุน 94% หนุน 6%

ก่อนหงายเงิบซ้ำจากผลสำรวจ “ระดับความสุขคนไทย ในโอกาสครบรอบ 4 ปี ที่ คสช.เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ”

โพลให้เลือก 2 ช่อง “แฮปปี้-ไม่แฮปปี้” ผลหลังจากเปิดโหวต 4 ชั่วโมง มีคนเข้ามากด 6,900 โหวต

กด “แฮปปี้” 4 % “ไม่แฮปปี้” 96 %

หายสงสัยทำไมคสช. จึงยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมือง

แก้

กับอีกประเด็นมาแรงต้องจับตา

กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศปักธงอุดมการณ์พรรค หากได้เข้าสภาไม่ว่าในฐานะรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

จะเดินหน้าลุยรื้อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มรดกชิ้นใหญ่ของคสช. ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง วางกลไกเพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจที่แท้จริงในการบริหารประเทศได้

“ธนาธร” ปลุกกระแส “ธงเขียว” จุดกำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับคืนมาอีกครั้ง รวมถึงการผลักดันนิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมืองยุคคสช.

ถึงจะเป็น 2 ประเด็นท้าทายผู้มีอำนาจอย่างรุนแรง

แต่ปรากฏว่าหลังจากนายธนาธรออกมาจุดกระแสไม่ทันสิ้นเสียง ก็มีนักการเมืองจาก 2 พรรคเป็นอย่างน้อย คือ พรรค เพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา

ที่แสดงท่าทีพร้อมร่วมปฏิบัติการ “กระตุกหนวด”ครั้งนี้ด้วย

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังแสดงท่าทีกระมิดกระเมี้ยน รอดูกระแสว่าจะจุดติดจริงจังหรือไม่

กระนั้นก็ตามการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้คสช.ตรวจสอบการประชุมใหญ่พรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่ามีการกระทำใดที่ผิดกฎหมายหรือไม่

เช่นเดียวกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯและรมว.กลาโหม สั่งให้กกต.ไปตรวจสอบทั้งในประเด็นการ”ฉีก”รัฐธรรมนูญ และแนวคิดนิรโทษกรรมคดีการเมือง ว่าอาจเป็นการหาเสียงล่วงหน้า

อีกทั้งเรื่องที่นายธนาธรใช้คำว่า”ฉีก”รัฐธรรมนูญ

ก็ไม่ใช่แค่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ยังมีสนช.นักห้อยโหนบางคน ออกมาข่มขู่อาจเข้าข่ายเป็นเหตุให้ถูก”ยุบพรรค”ได้

ทั้งหมดเพื่อหวังให้นายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงพรรคอื่นๆ ที่มีแนวคิดไปในทางเดียวกัน เกิดความหวาดกลัว แต่อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า คสช.หวั่นไหวกับการจุดประเด็นนี้ขึ้นมาไม่น้อย

หากวัดจากแรงกระเพื่อมต่อประเด็นการ แก้ ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แบบรื้อทิ้งทั้งฉบับ น่าจะเป็น”เส้นแบ่ง”พรรคการเมืองได้ชัดเจนว่า ใครอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ใครอยู่ฝ่ายคสช.

ดีไม่ดียังจะเป็นประเด็นชี้ขาดผล”แพ้-ชนะ” เลือกตั้งอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน