ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ หรือแม้กระทั่งพรรคอนาคตใหม่หรอก ที่คสช.และพรรคพลังประชารัฐจะต้องเกาะติดทุกฝีก้าว

เป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ต่างหากที่ควรสนใจ

เพราะพรรคเหล่านี้มากด้วยความจัดเจนในทางการเมือง

จัดเจนกระทั่งยังไม่กล้าแตะคสช. ยังไม่กล้าแตะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างชนิดตรงๆ

นี่ย่อมต่างไปจากท่าทีของพรรคเพื่อไทยและพันธมิตร

เหมือนกับว่าโอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะจับมือกับพรรคเหล่านี้เพื่อสืบทอดอำนาจ คสช.มีค่อนข้างสูง

แต่เวลา 2 เดือนที่เหลือก็ยังเป็นความไม่แน่นอน

พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา อาจเฉยๆ เมื่อเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์

แต่ความจำเป็นของพรรคเหล่านี้จะเริ่มสัมผัสได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

1 สัมผัสผ่านการเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

นั่นก็คือ ถึงอย่างไรก็ต้องชู “หัวหน้าพรรค” ของตน อันเป็นท่าทีที่ต่างไปจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย

1 สัมผัสผ่านการเสนอความเห็นต่อ “คสช.”

ในเบื้องต้นอาจหงุดหงิดกับเรื่องของ “นาฬิกา” แต่เมื่อปะเข้ากับความพยายามเอารัดเอาเปรียบทุกเม็ดจากพรรคพลังประชารัฐในระหว่างการหาเสียง

อาจจะต้องเข้าปะทะโดยตรง

กระนั้น ที่สำคัญก็คือ พรรคเหล่านี้จะตะแคงหูรับฟังอุณหภูมิในทางสังคมอย่างละเอียด

หากแนวโน้มเป็นไปในทางปฏิเสธการสืบทอดอำนาจของคสช. และเมื่อประสานกับความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ

ถึงตอนนั้นหละสำนวนเด็ดๆ อย่างเช่นระวังจะต้องซด “น้ำบัวบก”จะตามมาอย่างได้อารมณ์

การเมืองก็เป็นเช่นนี้ ไม่ว่ายุค จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ว่ายุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

นักการเมืองต้องกระสาต่อ “กลิ่น”และอารมณ์ หากสังคมไม่เอาด้วยก็ยากที่นักการเมืองจะเอาด้วย

ถึงจะใช้ “ปฏิบัติการด้านการข่าว” หรือ “IO”อย่างไร กลิ่นที่ชาวบ้านไม่เอาด้วยรุนแรงยิ่งนัก

และพรรคการเมืองก็พร้อมสะท้อนออกให้เห็นเด่นชัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน