สู้กันในเกม : บทบรรณาธิการ

สู้กันในเกม – หลังเปิดรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบเขตทั่วประเทศ ปรากฏว่ามีผู้มีความประสงค์ลงเลือกตั้งจำนวนมากมายจนกลายเป็นสถิติใหม่ที่น่าสนใจ แสดงถึงความตื่นตัวทางการเมือง หลังจากประเทศไทยไม่มีการ เลือกตั้งมาแต่วันที่ 2 ก.พ.2557

ถ้าหากรวมผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อจากพรรคต่างๆ และผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ก็ถือว่ามีจำนวนมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

น่าเสียดายที่บรรยากาศการรับสมัครครั้งนี้ แม้จะมีความคึกคัก แต่ก็ขาดสีสัน เพราะกฎหมายการเลือกตั้งห้ามผู้สนับสนุนแห่แหน บรรเลง หรือละเล่นประโคมด้วยเครื่องดนตรีต่างๆ อันเป็นการจูงใจ

ถือว่าผิดธรรมชาติของการแสดงออกเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งในครั้งนี้ กำหนดและออกแบบให้ใช้บัตรใบเดียวได้ทั้งตัว ผู้สมัครและพรรคการเมือง ตามความเชื่อแบบการจัดสรรปันส่วนผสม ทุกคะแนนเสียงมี ความหมาย ไม่ตกน้ำหายไป

แต่ก็สร้างความยุ่งยาก ยุ่งเหยิง สับสน และน่าอึดอัดเช่นกัน เพราะผู้สมัครแต่ละพรรคแต่ละเขตได้หมายเลขไม่เหมือนกัน ด้วยข้ออ้างของ ผู้ร่างกฎเกณฑ์ว่าจะทำให้ประชาชนมีความรู้จักและใกล้ชิดกับผู้ลงเลือกตั้งมากขึ้น

แต่จุดประสงค์สำคัญจริงๆ นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและเปิดเผยว่าไม่ต้องการให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมีขนาดใหญ่และมีอำนาจมากเกินไป

เป็นภยาคติในนามเผด็จการรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินทางมาถึงขนาดนี้แล้ว การเลือกตั้งก็ต้องดำเนินต่อไป คงไม่มีอะไรหรือข้ออ้างใดๆ จะมาขัดขวางได้ แม้ว่าบางฝ่ายจะไม่พึงพอใจกติกาแบบนี้นัก

อีกทั้งการรณรงค์หาเสียง ตลอดจนการ ติดป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์แนะนำตัวผู้สมัครก็มีข้อจำกัดหยุมหยิม แต่ในโลกไร้พรมแดน ที่มีสื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามาช่วยก็คงจะบรรเทาปัญหานี้ได้

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ในการเลือกตั้ง ครั้งนี้ รัฐบาลปัจจุบันมีส่วนได้เสียอยู่ด้วย เพราะมีบางพรรคการเมืองแสดงท่าทีสนับสนุนอย่างเปิดเผย และมีอดีตรัฐมนตรีไปร่วมขับเคลื่อนด้วย

ก็หวังว่าจะต่อสู้กันในเกม มีความเสรี และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

บทบรรณาธิการ : เลือกตั้งกับอำนาจนิยม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน