30 ปี 4 มิถุนาฯ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

30 ปี 4 มิถุนาฯ – วันที่ 4 มิถุนายน เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองระดับโลก เมื่อกองกำลังทหารใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมกลุ่มนักศึกษาและประชาชน ซึ่งจัดการประชุมประท้วงบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน กลางกรุงปักกิ่ง

แม้ประเทศจีนขณะนั้นเพิ่งตั้งต้นการเติบโตจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ และไม่ได้เปิดประเทศมากนัก แต่ความสะเทือนขวัญของเหตุการณ์วันที่ 3-4 มิ.ย. 2532 ใหญ่เกินกว่าที่จะควบคุมข้อมูลข่าวสารได้

ภาพความรุนแรงจากการใช้กำลังทหารต่อพลเรือนจึงถ่ายทอดเป็นข่าวไปทั่วโลก

โดยเฉพาะภาพชาย 1 คนยืนเผชิญหน้ากับขบวนรถถังกลางถนนโดยลำพัง ยังเป็นที่จดจำและเป็นภาพประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน

แม้ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และไม่ได้มีมาตรการทางเศรษฐกิจเหมือนกับชาติตะวันตก

แต่เหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบกับการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมของไทยที่เรียกร้องประชาธิปไตยในเวลาต่อมา








Advertisement

ทั้งเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 และ พฤษภาฯ 53 ซึ่งมีพลเรือนไร้อาวุธถูกสังหาร อีกทั้งประชาธิปไตยถูกบิดให้เป็นระบอบของความวุ่นวาย ความไม่สงบ และกระทบต่อความมั่นคง

จุดร่วมในเหตุการณ์ลักษณะนี้ รวมถึงอีกหลายเหตุการณ์ในโลกที่ประชาชนเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ กลับถูกปราบปรามด้วยการใช้กำลังและอาวุธ

ล้วนเป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ

เหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินผ่านพ้นมาครบ 30 ปี แม้อาจมีพิธีการรำลึกไม่กี่แห่ง แต่ความสะเทือนขวัญและสะเทือนใจครั้งใหญ่นี้ยังคงบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์โลก

เป็นบทเรียนและเครื่องเตือนใจแก่ผู้มีอำนาจทางการเมืองว่า ผลจากการปราบปรามประชาชนด้วยการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดแม้เอาชีวิตผู้อื่น อาจทำให้การรักษาอำนาจดำเนินต่อไปได้

และการควบคุมให้เหตุการณ์ระดับโลกยังคงเป็นเรื่องภายในประเทศที่ป้องกันการแทรกแซงจากภายนอกได้

แต่ทุกครั้งที่รัฐประหัตประหารประชาชน รอยด่างทางประวัติศาสตร์นั้นลบไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน