ฟางเส้นสุดท้าย

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ฟางเส้นสุดท้าย : งานวิจัยเรื่องคนฆ่าตัวตายของ“โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ซึ่งได้ผลสรุปว่าจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายเพราะผลกระทบโควิดมีพอๆ กับคนเสียชีวิตเพราะโรคโควิด-19 เป็นประเด็นสะเทือนใจทางสังคม

เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่กดดันและทำให้คนที่ทุกข์ใจ หรือป่วยทางใจอยู่แล้ว อาการทรุดลงอีก

การฆ่าตัวตายเพราะผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่เป็นไปตามทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตของชาร์ลส์ ดาร์วิน ตามที่มีผู้กล่าวอ้างว่าสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอและปรับตัวไม่ได้จะตายและสูญพันธุ์ไปโดยปริยาย

มนุษย์ผ่านวิวัฒนาการมาแล้วและดำรงอยู่ได้ด้วยร่างกายและจิตใจประกอบกัน โดยเฉพาะการดำรงอยู่ในสังคมเดียวกัน ต้องมีความเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือกัน มากกว่าเอาตัวรอดโดยเหยียบย่ำผู้อื่น

สาเหตุของการฆ่าตัวตายในสถานการณ์โควิด-19 ส่วนใหญ่มาจากผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อที่ไม่สมดุลกับสภาพสังคม

ขณะที่การป้องกันการระบาดต้องเป็นไปตามการประเมินทางวิทยาศาสตร์ของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ภารกิจรองรับผลกระทบจากมาตรการเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

หากพลาดอย่างแรก คือประเมิน “ขนาด” ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ออก การวางแผนและคำนวณเงินงบประมาณที่จะต้องใช้รับมือจะ ผิดพลาดเป็นลำดับต่อๆ ไป

ปัญหาที่ตามมาคือจะมีคนตกหล่นหรือหลุดรอดจากมาตรการความช่วยเหลือ และเมื่อคนหาทางออกไม่ได้ ไม่มีจะกิน ไม่มีความหวัง และมองไม่เห็นว่าอนาคตจะต่อสู้อย่างไร แรงกดดันนี้มักทำให้เกิดโศกนาฏกรรม

ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศหากมองอย่างตรงไปตรงมา หลายคนเริ่มเดือดร้อนนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 เนื่องจากกลไกทางประชาธิปไตยหยุดชะงัก

เสียงและความต้องการของประชาชนถูกปิดกั้นเส้นทาง หรือถูกอุดตันด้วยระบบที่ไม่เกิดการ กระจายอำนาจ

ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยามองว่า คนที่ฆ่าตัวตายในช่วงเวลานี้ส่วนใหญ่เป็นความเครียดสะสมมีปัญหาเยอะมาก่อนอยู่แล้ว เมื่อถูกกระทบกระเทือนอีก ภาวะจากโควิด-19 จึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้จบชีวิตลง

รัฐบาลต้องใส่ใจที่ต้องนำเรื่องนี้ไปพิจารณาแก้ไขปัญหาด่วนเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน