FootNote : เงาสะท้อนจากกรณี นักเรียนเลว ชุมนุมธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

หากติดตามการชุมนุมของ “นักเรียนเลว” ในวันเสาร์ที่ 5 กันยายน ณ บริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตำรวจยกรั้วเหล็กเข้ามาจัดระเบียบกระทั่งมีการอ่าน “แถลงการณ์”
ก็จะสัมผัสได้ใน “พัฒนาการ” ทั้งในทางรูปแบบและในทางเนื้อหาความคิด
กระบวนการดำเนินไปเหมือนการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม กับที่ตามมาอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม
นั่นก็คือ มี “พัฒนาการ” มีการ “เติบใหญ่” ทั้งในทางความคิดและในทางการเมือง
กล่าวสำหรับ “นักเรียนเลว” ต้องมองอย่างเปรียบเทียบจากที่ชุมนุมเป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 19 สิงหาคม กับที่ชุมนุมเป็นครั้งที่ 2 ในวันเสาร์ที่ 5 กันยายน
ก็สัมผัสได้ในความเติบใหญ่จำนวนมากถึง 50 เครือข่าย
ขณะเดียวกัน เนื้อหาที่ปรากฏผ่าน “แถลงการณ์” ก็สะท้อนปัญหาทางการศึกษาเอาไว้อย่างลึกซึ้งและรอบด้าน
เนื่องจากถูกกดทับจากระบอบ “เผด็จการ” ใน “โรงเรียน”

การรวมตัวกันของ “นักเรียนเลว” ก็ดำเนินไปเหมือนกับการเกิดขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก”
นั่นก็คือ เป็นไปเองและมีลักษณะอันเป็น “อัตโนมัติ”
เหมือนกับจะไร้ระเบียบเพราะไม่มี “ผู้นำ” ที่โดดเด่นและแจ่มชัด หากในความไร้ระเบียบนั้นก็ยึดโยงกันภายใต้การเชื่อมร้อยจากปัญหาและการถูกกดทับอย่างเดียวกัน
นั่นก็คือ สภาวะที่เป็น “เผด็จการ” ทำให้พวกเขามิอาจงอก่องอขิงยอมรับได้
ขณะเดียวกัน อาศัยจากปัจจัยของเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้มีการติดต่อสัมพันธ์กันได้อย่างรวดเร็วแม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เมื่อมีปัญหาอย่างเดียวกันก็ดำรงอยู่ในลักษณะ “เราเป็นเพื่อนกัน”
ไม่ว่ามองไปยัง “โรงเรียน” ไม่ว่ามองไปยัง “ประเทศ” ก็จะสรุปออกมาได้ตรงกัน นั่นก็คือ ระบอบเผด็จการ

จากการชุมนุมของ “เยาวชน/ประชาชนปลดแอก” ในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม จากการชุมนุมของ “นักเรียนเลว” ในวันเสาร์ที่ 5 กันยายนฉายสะท้อนถึงพัฒนาการ
เป็นพัฒนาการที่จะไปสำแดงออกอย่างเด่นชัดอีกครั้งในการชุมนุมวันเสาร์ที่ 19 กันยายน ณ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เวลาที่เหลืออีก 2 สัปดาห์จะเป็น “คำตอบ”

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน