FootNote : ภาพชุมนุมมวลชน ยุคดิจิทัล กับบทสรุปจาก ยุคอะนาล็อก

หากเป็นในยุคอะนาล็อก รายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ว่าจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมของ “คณะราษฎร 2563″ไม่เคยเกินหลัก 2 หมื่นจะได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างสูง

ไม่ว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่ว่าเมื่อปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ตลอดจนวิทยุกระจายเสียง

นั่นเพราะความจำกัดของ “สื่อ” นั่นเพราะความจำกัด “พื้นที่”

แรกทีเดียวสื่อกระแสหลักคือวิทยุกระจายเสียง ต่อมาสื่อกระแสหลักคือหนังสือพิมพ์ และต่อมาสื่อกระแสหลักคือโทรทัศน์อันเป็นฟรีทีวีในแต่ละช่อง

เห็นได้จากสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 เห็นได้จากสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2519 ที่สื่อยังดำรงอยู่ในยุคแห่งอะนาล็อกอย่างเด่นชัด

แต่เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ข้อเสนอและการประเมินของสภาความมั่นคงแห่งชาติก็กลายเป็นประเด็น กลายเป็นคำถาม

คำถามต่อประสิทธิภาพของ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ”

ในยุคแห่งดิจิทัลภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะมิได้จำกัดแต่เพียงสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์เท่านั้น ตรงกันข้าม สื่อใหม่อย่างที่เห็นกันในเฟซบุ๊ก ในทวิตเตอร์ ในไลน์ ในอินสตาแกรม ได้เบียดแทรกเข้ามา

การปรากฏขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก”ในเดือนกรกฎาคมอาจไม่ได้รับความสนใจจากสื่อ “หลัก”เท่าใดนัก

จึงไม่ได้มีการนำเสนอผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ หรือแทบไม่ได้เห็นเลยในสื่อโทรทัศน์ ส่วนใหญ่จึงสัมผัสได้จากการไลฟ์สดหรือสื่อออนไลน์บางสื่อ

แต่เมื่อผ่านการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในเดือนกันยายนเป็นต้นมา การชุมนุมของ “ราษฎร” ก็เริ่มได้รับความสนใจจากหนังสือพิมพ์จากโทรทัศน์

เมื่อย่างเข้าเดือนตุลาคมภาพของการชุมนุมมิได้เป็นความลับอีกแล้วกลับกลายเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมพร้อมทั้งข้อเรียกร้อง

ต้องยอมรับว่าเป็นภาพอันสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับที่สภาความมั่นคงแห่งชาติรายงาน ไม่ว่าภาพ เสียง ปรากฏอย่างเด่นชัด

น่าแปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้ความเชื่อถือกับบทสรุปของสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นอย่างสูง

นี่คือจังหวะก้าวที่สำคัญและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

เพราะเท่ากับสร้างความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในความเป็นจริงที่เห็นและเป็นอยู่

อันอาจนำไปสู่การตัดสินใจสั่งการที่ผิดพลาดได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน