คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

กอ.รมน.ไม่รู้เห็น – เมื่อกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมสมาชิกการ์ดราษฎรที่จ.สมุทรปราการ คำถามที่ผุดขึ้นทันทีคือแล้ว เจ้าหน้าที่หน่วยงานใดทำ

ลักษณะการจับกุมแบบอุ้มเป้าหมายโดยชาย 4-5 คน ใช้ผ้าคลุมศีรษะจากบ้านพักไปขึ้นรถตู้ โดยผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นใคร อีกทั้งบังคับเซ็นเอกสาร และข่มขู่ห้ามไปร่วมการชุมนุมอีก ไม่ใช่วิธีที่เจ้าหน้าที่รัฐปกติจะทำกัน

ชายกลุ่มนี้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กอ.รมน. แต่กอ.รมน.ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง

พร้อมชี้แจงว่าหน่วยงานของตนไม่มีภารกิจความรับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยและดูแลพื้นที่การรักษาความปลอดภัยของการชุมนุม

ส่วนรองผอ.กอ.รมน.แต่ละจังหวัดไม่มีอำนาจจะทำเช่นนั้น

 

การที่กอ.รมน.ถูกอ้างชื่อดำเนินการต่อผู้ชุมนุมครั้งนี้เป็นเรื่องที่ต้องสอบสวนให้แน่ชัด ขณะเดียวกันก็น่าศึกษาเช่นกันว่าเหตุใด กอ.รมน. จึงถูกอ้างชื่อ

หลังรัฐประหารปี 2557 กอ.รมน. มีบทบาท โดดเด่นมากขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลคสช. โดยเฉพาะการติดตามความเคลื่อนไหวของนักการเมือง/กลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม และแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐาน ม.116

รวมถึงตรวจสอบความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ ปิดเว็บไซต์ที่เห็นว่าเป็นภัยต่อรัฐ

อีกทั้งมีบทบาทระดมมวลชนในสังกัดผลักดันการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

 

หากย้อนประวัติกอ.รมน. ไปถึงยุคก่อตั้งเมื่อปี 2516 ยิ่งมีผลงานเด่นชัดในการเผชิญหน้ากับฝ่ายคอมมิวนิสต์

ก่อนจะมีสถานะเป็นหน่วยงานราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อควบคุมงานความมั่นคงของประเทศทั้งระบบในปัจจุบัน

กอ.รมน. มีอำนาจประเมินและกำหนดว่าสถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัยต่อประเทศ ดังนั้นการจับตาผู้ชุมนุม ตั้งแต่ระดับชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ จนมาถึงระดับประเทศ จึงไม่น่าจะรอดพ้นสายตา

แต่การอุ้มการ์ดราษฎรเมื่อช่วงก่อนเที่ยงคืนวันที่ 16 ม.ค.นั้น กอ.รมน.ระบุว่าไม่รู้เห็นแต่อย่างใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน