คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

โควิด-สงกรานต์ จังหวะใกล้เข้าสู่ช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ กลับเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้ง

แม้ยังไม่มีมาตรการเข้มข้นออกมาเหมือนช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อปี 2563 แต่ก็ทำให้กระทบบรรยากาศการฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวและบริการไม่น้อย

อย่างไรก็ตามหากมองให้เป็นมุมบวก สถานการณ์นี้จะช่วยทำให้ผู้คนระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิตช่วงวันหยุดได้เข้มงวดขึ้น

ดีกว่าจะปล่อยให้ช่วงวันหยุดเป็นช่วงเวลาการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างกว้างขวาง เหมือนที่หลายๆ ประเทศเผชิญมาแล้ว

การรับมือกับสถานการณ์ที่พลิกผันไปมาเหล่านี้โดยเฉพาะกับรัฐบาล ควรสุขุมรอบคอบให้เป็นตัวอย่าง มากกว่าแสดงออกด้วยอารมณ์หงุดหงิด

 

สถานการณ์ขณะนี้ที่รัฐบาลคาดหวังคือกระตุ้นให้การท่องเที่ยวภายในประเทศฟื้นความคึกคัก พร้อมกับเริ่มรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศกลับเข้ามาแบบควบคุมจำนวน

ช่วงสงกรานต์ จังหวัดท่องเที่ยวหลายจังหวัด จะกลับมาจัดงานกันอีกครั้งหลังจากที่หยุดไปในปีก่อน

จากข้อมูลของการท่องเที่ยวฯ เมืองหลัก และเมืองรอง จะมีจำนวนชาวไทยไปเที่ยวประมาณ 7.30 แสนคน/ครั้ง อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 30 ประเมินแล้วจะสร้างรายได้หมุนเวียนมากกว่า 3,700 ล้านบาท

ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า จำนวนเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ปี 2564 นี้น่าจะอยู่ที่ 112,867.43 ล้านบาท

เป็นจำนวนเงินที่ลดลงร้อยละ 16.9 หรือต่ำสุดในรอบ 9 ปี โดยไม่นับสงกรานต์ปี 2563 เนื่องจากเป็นปีที่งดจัดกิจกรรมสงกรานต์

 

เมื่อมองภาพรวมและการประเมินเศรษฐกิจในช่วงสงกรานต์ปีนี้ จึงคาดเดาได้ว่าจะเป็นปีที่ไม่มั่นคงนัก เนื่องจากมีปัจจัยผสมผสานระหว่างความต้องการฟื้นฟูกับสภาพการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อ

จากเดิมที่ความวิตกกังวลของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงสงกรานต์คือเรื่องอุบัติเหตุ แต่ปัจจุบันเป็นการกลัวเรื่องโควิด-19 ระบาด

ตามโพลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ดังกล่าว ประชาชนกังวลเรื่องโควิด-19 มากที่สุดร้อยละ 60.8 เทียบกับความกังวลเรื่องอุบัติเหตุ/ความปลอดภัยในการเดินทางร้อยละ 54.3

ดังนั้นความคาดหมายของรัฐจึงน่าจะเข้าใจว่าสถานการณ์ย่อมเป็นเช่นนี้ ไม่มีอะไรที่จะได้ดั่งใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน