FootNote:คำถาม นายกรัฐมนตรี อนาคต คำตอบ นายกรัฐมนตรี ในอดีต

เมื่อประสบเข้ากับคำถามในเรื่องบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในกาลข้างหน้าอันใกล้ว่าควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร

คำตอบจาก “อดีต”นายกรัฐมนตรี 3 คนน่าสนใจ

ไม่ว่าจะเป็น นายอานันท์ ปันยารชุน ไม่ว่าจะเป็น นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีคำตอบอันเหมือนกับจะเป็นบทสรุปตรงกัน

ด้านหนึ่ง ทั้ง 3 ต่างปฏิเสธว่า ยุคของตนได้ผ่านพ้นไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่งต่างฟันธงว่าอนาคตของประเทศควรอยู่ในมือของ “คนรุ่นใหม่”

นายอานันท์ ปันยารชุน อาจเป็นคำตอบแบบปลายเปิด นั่นก็คือมิได้ติดตรึงอยู่กับอายุหรือวัย หากแต่ขึ้นอยู่กับมีความคิดใหม่หรือไม่เพียงใด

ขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร ฟันธงอย่างเฉียบขาดว่าหมดเวลาของคนในรุ่น “เบบี้ บูมเมอร์”แล้วอย่างสิ้นเชิง ความหมายก็หมายความถึงการปฏิเสธโอกาสของคนในรุ่นเดียวกันกับตน

บทสรุปของ 3 อดีตนายกรัฐมนตรีจึงสำคัญอย่างใหญ่หลวง

เป็นความสำคัญซึ่งไม่เพียงแต่ลากดึงเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงมาอยู่ในเวทีแห่งการเปรียบเทียบ หากแต่ยังเป็นคำถามไปยังบรรดาหัวหน้าพรรคหลายพรรคการเมืองอีกด้วย

คำว่า “คนรุ่นใหม่” ตามแนวทางของ 3 อดีตนายกรัฐมนตรีได้ชูขึ้นสูงเด่นจึงกลายเป็นประเด็นและวาระแห่งชาติโดยอัตโนมัติ

ด้านหนึ่งทำให้ต้องทอดตามองไปยังอนาคตข้างหน้า ด้านหนึ่งจะประจักษ์ในเส้นทางแห่งอนาคตมีความจำเป็นต้องมองปัจจุบันในแบบวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา

ปัจจุบันในที่นี้กินความตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อันสะท้อนผ่านยุคแห่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสำคัญ

คำถามก็คือ สังคมยังเรียกร้องต้องการผลงานอันเห็นได้จากการบริหารบ้านเมืองผ่านยุคแห่งรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 หรือไม่อย่างไร

จะถือว่านี่คือปฏิมาและความต้องการอย่างแท้จริงของรัฐไทย

คำถามนี้มิได้มีต่อคนรุ่น “อาวุโส” ที่มากด้วยประสบการณ์เท่านั้น หากแต่ยังหมายถึง “คนรุ่นใหม่” ที่จะต้องมีชีวิตอยู่ยาวนาน

คำถามนี้ย่อมมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวตั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน