FootNote : ความแคลงคลาง กังขา เพื่อไทย บนฐาน แห่งกลไก “รัฐธรรมนูญ”

ทั้งๆ ที่พรรคเพื่อไทยก็ร่วมลงนามใน “บันทึกช่วยจำ” หรือ MOU อย่างเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ต่อหน้า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคก้าวไกล

ต่อหน้า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แห่งพรรคประชาชาติ ต่อหน้า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส แห่งพรรคเสรีรวมไทย

ถามว่าเหตุใดสังคมยังมองพรรคเพื่อไทยด้วยความกังขา

แม้กระทั่งนักข่าวจากไทย PBS ได้รับเกียรติให้สัมภาษณ์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการคนสำคัญในคณะยุทธศาสตร์ของพรรค

ยังตีความในลักษณะอันสะท้อนความสงสัย ไม่ว่าจะมองผ่านแต่ละคำถาม ไม่ว่าจะมองผ่านบทสรุปอันเป็นของนักข่าวเองโดยมิได้มาจากแก่นแท้แห่งคำพูดของ นายภูมิธรรม เวชยชัย

ทั้งที่แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะยืนยันอย่างหนักแน่น หากแม้กระทั่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ประกาศมาแล้วเป็นครั้งที่ 500 กว่าด้วยความเหน็ดเหนื่อย

จำเป็นต้องยอมรับว่าความกังขาทั้งหมดนี้มิได้เพิ่งเกิด หากแต่คุกรุ่นตั้งแต่ “ก่อน” การเลือกตั้งมาแล้ว

เนื่องจาก “ลักษณะ” อันสลับซับซ้อนแห่งโครงสร้างการเมือง

ความซับซ้อนในทางการเมือง ไม่เพียงเป็นลักษณะพิเศษอันเป็นที่รับรู้กัน “ภายใน” องคาพยพแห่งพรรคเพื่อไทย ซึ่งต่อเนื่องมาจากพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทยเท่านั้น

หากแต่ต้องยอมรับว่ามีหลายปัจจัยในทางการเมืองที่เพิ่มลักษณะอันซับซ้อน และกางครอบอยู่เหนือพรรคเพื่อไทย

รูปธรรมอันเด่นชัดอย่างที่สุดก็คือ ปัจจัยเนื่องแต่รัฐประหารตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งปัจจุบันคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก็เคยสรุปอย่างรวบรัดมาแล้ว ในห้วงที่เป็นคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐมิใช่หรือ

นั่นก็คือ บทสรุปที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อ “พวกเรา”

คำว่า “พวกเรา” ในที่นี้ในเมื่อการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 หมายถึงพรรคพลังประชารัฐ หมายถึงการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นี่ย่อมเป็นอำนาจ “อื่น” อันอยู่เหนือการควบคุมของพรรคเพื่อไทย มิใช่หรือ

แม้ในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 ก็ยังเป็นเช่นนี้

ตราบใดที่รัฐธรรมนูญยังเป็น “กลไก” ตราบใดที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญยังเป็น “กลไก”

คำว่า “พวกเรา” ย่อมมิได้หมายถึงพรรคเพื่อไทยแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน