คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย แสดงความกังวลต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น

ล่าสุดส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรักษาการ เกี่ยวกับแนวทางการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที ที่จะเรียกเก็บในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566

เนื่องจากกังวลภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน และผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และขีดความสามารถแข่งขันของผู้ประกอบการ

เห็นว่าค่าไฟฟ้างวดใหม่ไม่ควรเกินหน่วยละ 4.25 บาท จากงวดปัจจุบันในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 อยู่ที่หน่วยละ 4.70 บาท

กกร.ระบุถึงความเป็นไปได้ว่า หากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณค่าเอฟทีแล้ว พบมีหลายประเด็นสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาปรับลดค่าเอฟทีงวดใหม่ได้

เช่น ปริมาณก๊าซธรรมชาติ (แอลเอ็นจี) จากอ่าวไทยที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณที่เพิ่มจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อีกทั้งมีแผนปรับเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือน ธ.ค.2566

ด้วยปัจจัยดังกล่าวจะช่วยลดการนำเข้าแอลเอ็นจี สอดคล้องกับราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง

รวมถึงภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทั้งงวดที่ 1 และ 2 ลดลงเร็วกว่าแผนด้วยต้นทุนจริงของแอลเอ็นจีที่ต่ำกว่าที่เรียกเก็บค่าเอฟทีทั้ง 2 งวดดังกล่าว








Advertisement

ค่าไฟฟ้าแพงเป็นปัญหามาโดยตลอดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และกำลังจะจากไป ได้สร้างภาระแก่ประชาชนอย่างมาก ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าและอาหารปรับขึ้นตาม ตลอดจนกระทบต่อขีดความสามารถของผู้ประกอบการ

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะอ้างเหตุผลถึงราคาพลังงานโลกที่สูงขึ้น และสงครามในยุโรป แต่ส่วนหนึ่งก็เพราะนโยบายพลังงานที่บกพร่อง และถูกตั้งคำถามเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่หรือไม่

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายกฯ รักษาการจะนำข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนไปพิจารณา เพราะขณะนี้มีหลายปัจจัยที่เอื้อให้ลดค่าไฟฟ้าได้แล้ว

จากนั้นระยะยาวก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะหลายพรรคการเมืองต่างก็หาเสียงไว้กับประชาชน จะปรับนโยบายพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน