ช่วงนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อกำหนดพื้นที่เตรียมจัดตั้งอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จ.ลำปาง

อุทยานฯ ดังกล่าวมีพื้นที่ 448,933.43 ไร่ ครอบคลุม 13 ตำบล 5 อำเภอ จ.ลำปาง คือ อ.เมืองลำปาง อ.งาว อ.แจ้ห่ม อ.วังเหนือ และ อ.แม่เมาะ

ทางการให้เหตุผลในการจัดตั้งอุทยานฯ ว่า เนื่องจากประสบปัญหาภัยคุกคามจากการลักลอบตัดไม้หวงห้าม การบุกรุกพื้นที่ป่า และมีการดำเนินคดีจำนวนมาก

แต่การเตรียมจัดตั้งอุทยานฯ ครั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ เครือข่ายชาติพันธุ์ เครือข่ายเกษตรกร และภาคประชาสังคมต่างแสดงความเป็นห่วง

ความกังวลใจของเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากการประกาศจัดตั้งอุทยานฯ ถ้ำผาไท คือหวั่นเกรงจะทับซ้อนกับพื้นที่การใช้ประโยชน์ของชุมชน

โดยเฉพาะพื้นที่ทำกิน พื้นที่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในป่า การเก็บหาของป่า ตลอดจนพื้นที่ในรูปแบบจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอยู่มานานร้อยกว่าปี มีวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกลมกลืนกับธรรมชาติ คอยดูแลรักษาผืนป่ามาตลอด

อีกประการสำคัญประชาชนเหล่านี้อยู่อาศัยในพื้นที่มาก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการป่าไม้ และการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ดังนั้น หากประกาศเป็นอุทยานฯ จะส่งผลให้การดำรงวิถีชีวิตถูกจำกัด ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมปราบปราม และมีบทลงโทษ

จากบทเรียนที่ผ่านมาการที่รัฐประกาศขีดเส้นว่าพื้นที่ใดเป็นป่าอนุรักษ์ ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่มาก่อนแทบทั้งสิ้น กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

นอกจากประชาชนถูกกีดกันออกจากถิ่นอาศัยดั้งเดิมแล้วยังถูกดำเนินคดีซ้ำ ดังที่ปรากฏชัดในขณะนี้คือกรณีชาวบ้านบางกลอย ที่ถูกบังคับอพยพออกจากป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ส่วนกรณีถ้ำผาไท เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้าน แต่ประเด็นคือกระบวนการจัดทำแผนที่แนวเขตต้องชัดเจน เช่น พื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน จะทำอย่างไรไม่ให้ทับซ้อน

ที่สำคัญคือกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงส่วนราชการที่ต้องลดอคติ ไม่ตราหน้าชาวบ้านที่อยู่กับป่าเป็นพวกลักลอบตัดไม้ทำลายป่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน