ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ 3 มาตรการหลัก เริ่มจากตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร

ต่อมาคือราคาก๊าซแอลพีจี หรือก๊าซหุงต้ม ให้อยู่ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม และส่วนลดค่าไฟฟ้ากำหนดให้อยู่ที่ 19.05 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านที่อยู่อาศัยไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน

ทั้ง 3 มาตรการดังกล่าวเป็นความต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่สิ้นสุดในเดือนเม.ย.2567 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน บรรเทาผลกระทบค่าครองชีพ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

โดยรวมแล้วรัฐบาลจะช่วยเหลือประชาชนต่อไปอีก 4 เดือน

ส่วนงบประมาณสำหรับ 3 มาตรการนั้น กระทรวงพลังงานคาดว่าจะใช้เงินรวมทั้งสิ้น 8,300 ล้านบาท ประกอบด้วยด้านน้ำมันเชื้อเพลิง 6,500 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็นช่วยเหลือกลุ่มประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซล 6,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคการผลิต การเกษตร และขนส่ง กับช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ก๊าซแอลพีจี 500 ล้านบาท และด้านไฟฟ้า 1,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้การดำเนินการดังกล่าวใช้งบฯ จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปก่อน ส่วนที่เหลือค่อยขอรับการจัดสรรจากงบฯ ปี 2567 งบกลางในรายการเงินสำรองจ่ายเพิ่มกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น

เงินที่รัฐบาลนำมาใช้ใน 3 มาตรการนี้ นอกจากบรรเทาภาระค่าครองชีพแล้ว น่าจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว

สภาพในปัจจุบัน แม้จะหลุดพ้นจากการปกครองของรัฐบาลทหาร และรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน

แต่ยังมีปัจจัยจากภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจด้วย ตั้งแต่โรคระบาด วิกฤตพลังงานโลก และสงคราม เป็นต้น ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกยังซึมเซาต่อเนื่อง รวมถึงไทยเช่นกัน

ดังนั้น หลังจากที่รัฐบาลเห็นชอบมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน บรรเทาผลกระทบค่าครองชีพแล้ว หวังว่าในช่วงครึ่งปีหลัง จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมาอีก

โดยเฉพาะช่วงรอยต่อโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่เงินจะเข้าสู่ระบบช่วงปลายปี เพื่อเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาแล้วจะได้ไม่ตกลงไปอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน