นักวิชาการ ชี้ ม็อบญวนฮือต้าน ต่างชาติเช่าที่ 99 ปี ไทยเงียบ เพราะ ‘มีปืนกดหัว’ ปลุกรัฐบาลเลือกตั้ง รื้อกฎหมายอีอีซี

วันที่ 12 มิ.ย. นายกิตติ ลิ่มสกุล อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ถึง การเลื่อนการลงประชามติร่างกฎหมายเปิดทางให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ว่า มีหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งแง่มุมทางประวัติศาสตร์ระหว่างชาวจีนกับเวียดนาม ที่เกิดสงครามต่อกันหลายครั้ง โดยมุมมองของชาวเวียดนามต่อชาวจีนจะมองจีนเป็นผู้กระทำกดทับชาวเวียดนาม ที่เห็นชัดก็คือเรื่องตัวอักษรที่ก่อนจะมาใช้แบบฝรั่งเศสในปัจจุบัน ก็ตัวใช้ตัวอักษรจีนมาเป็นเวลายาวนาน ในทางเศรษฐกิจเวียดนามเองก็ผูกติดกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากขึ้น สัดส่วนการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ชาติ ก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีการคานกันระหว่างจีนและญี่ปุ่น ถึงแม้ระบบการปกครองของเวียดนามจะเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนจีน แต่ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ก็เป็นชนวนหนึ่ง ที่ทำให้ชาวเวียดนามลุกฮือขึ้นคัดค้านกฎหมายให้เช่าที่ดิน 99 ปี

นายกิตติ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน จะเห็นได้ว่า ใจกลางการประท้วงเกิดขึ้นที่ทางใต้ของเวียดนาม ซึ่งก็เป็นศูนย์กลางการลงทุนของเขา ที่ค่อนข้างจะโปรฝรั่ง (อยู่ฝั่งเดียวกับตะวันตกมาก) อีกทั้งตัวอย่างที่ผ่านมา ก็จะพบได้ว่า ทุนจีนไปที่ไหน ก็จะเป็นจีนเองที่ได้เปรียบมหาศาล อีกทั้งที่ดินของเวียดนามเอง ลำพังที่ดินราบลุ่มเพื่อใช้สอยนั้นก็มีน้อยอยู่แล้ว หากปล่อยให้ต่างชาติหรือทุนจีนเข้ามาใช้ได้ 99 ปี อีก ก็จะยิ่งเป็นปัญหา นอกจากนี้เองก็คาดว่า อาจเป็นเรื่องการเมืองภายในของเวียดนามเอง ที่คนในพรรค แม้จะมีแนวคิดเสรีเรื่องการลงทุนมากขึ้น แต่ก็ไม่อยากให้ต่างใช้ได้สิทธิยางนายโดยเฉพาะจีน การปล่อยให้มีการประท้วงอาจเป็นเพื่อการสร้างความชอบธรรมให้ยุติหรือชะลอเรื่องนี้ไปในที่สุด

“ส่วนกรณีของไทย ที่มีการออก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก มีเนื้อหาให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้ของเวียดนาม แต่ที่สามารถทำได้อย่างง่ายได้ ก็เพราะ มีอำนาจปืนมากดไว้ เพราะ หากลองเป็นรัฐบาลปกติจะทำไม่ได้ง่ายดายขนาดนี้ จะต้องมีการอภิปรายกันหลายยก ทั้งในสภาและนอกสภา ซึ่งผลที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นแจ๊ก หม่า ของอาลีบาบาจากจีน หรือทุนอื่น ก็ยังไม่เห็นผลตอบรับที่เป็นรูปธรรมมากนัก ดังนั้นหากกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย กฎหมายฉบับนี้จะต้องถูกหยิบขึ้นมาทบทวนแก้ไขหรือยกเลิก ซึ่งส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน รวมไปถึงการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียจากภาคประชาสังคม และภาคประชาชนด้วย การให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปีถือเป็นเรื่องใหญ่มาก” นักเศรษฐศาสตร์ ม.ไซตามะกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน