เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 10 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผ่านประชามติแล้ว ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น ที่ประชุมร่วมครม.และคสช.ไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว

โดยมีมติให้ใช้มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่บัญญัติไว้ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้สามารถขอรับร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้วนำกลับลงมาปรับปรุงบางมาตราได้ ในเฉพาะประเด็นที่มีการแจ้งมา ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะใช้เวลาทำให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพราะเป็นการแก้ไขเพียงไม่กี่มาตรา ส่วนกรอบการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นตนไม่ทราบ แต่คิดว่าต้องทำให้เสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญกลับคืนมาแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่จะทำหน้าที่แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ คือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นายวิษณุ กล่าวว่า ตามทฤษฎีแล้วระบุว่าเวลาจะยกร่างรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แก้ให้เป็นไปตามที่ได้รับการแจ้งมา โดยนายกฯจะตั้งคณะกรรมการพิเศษ ที่ประกอบด้วย คณะกรรมการกฤษฎีกา ประมาณ 8-10 คน ขึ้นมาพิจารณา เนื่องจากเป็นการแก้ไขเพียงไม่กี่มาตรา และไม่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือโครงสร้างทางการเมือง กระบวนการเลือกตั้ง ไม่กระทบรัฐสภา ครม. ศาล องค์กรอิสระ หรือกระบวนการใดๆในทางการเมืองทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

เมี่อถามว่า หลังจากแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะเข้าสู่การนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 90 วัน ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น โดยต้องเป็นการเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพราะเป็นการรับคืนกลับมาทั้งฉบับ

ต่อข้อถามถึงกระแสขจ่าวว่า จะมีการแก้มีการแก้ไขใน 3 มาตรา คือ มาตรา 5, 17 และ 182 รองนายกฯ กล่าวว่า ในหลักการเป็นเช่นนั้น แต่เราต้องไปพิจารณาว่าไปเกี่ยวพันกับประเด็นหลักหรือไม่ ถ้าเกี่ยวโยงกับมาตราอื่นๆก็ต้องไปแก้ไขตรงนั้นด้วย ทั้งนี้ หากจะต้องเริ่มกระบวนการนับใหม่ 90 วัน รัฐบาลก็ยังยืนยันในโรดแมปเดิมอยู่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน