ครม.เสนอเลื่อนบังคับใช้ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน โชว์โปร่งใส หวั่นเกิดวิกฤต

วันที่ 9 พ.ย. นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวภายหลังเข้าหารือกับนายวิษณุกรณี ประกาศคณะกรรมการป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของ ผู้มีหน้าที่ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิ้น ตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ว่า

ได้รับฟังความเห็นของนายวิษณุที่เป็นตัวแทนของคณะรัฐมนตรี ที่ได้แสดงความเห็นห่วงเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายว่า ประกาศดังกล่าวสามารถขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปได้อีกหรือไม่ เพื่อให้โอกาสบุคคลในตำแหน่งที่ไม่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้เตรียมตัว

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ได้หารือกับตัวแทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีบางคนกังวลถึงประเด็นเหล่านี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเบื้องต้นจะรวบรวมความเห็นดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในช่วงสัปดาห์หน้า

“รองนายกฯวิษณุบอกว่า คณะรัฐมนตรีเป็นห่วงในประเด็นข้อกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยอาจลาออกเพื่อค้านการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ตรงนี้เป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปจากเดิมมีผล 30 วัน เป็น 60 วัน หรืออะไรก็ตามแต่ เพราะหากให้บังคับใช้เลยใน 30 วันนี้ อาจทำให้เกิดวิกฤตปัญหาในแวดวงการศึกษา เกิดการชะงักในการทำงานได้” นายนิวัติไชย กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินโดยตำแหน่ง หมายรวมไปถึงสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ รวมถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่รูปอื่นที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วยหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่หารือกับนายวิษณุ โดยเจตนารมย์ของประกาศ ป.ป.ช. ฉบับนี้ คือการบังคับใช้กับฆราวาส

ขณะนี้จึงยังไม่มีความเห็นที่ชัดเจนว่าพระชั้นผู้ใหญ่ที่มาดำรงตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจะต้องยื่นด้วยหรือไม่ เพราะพระชั้นผู้ใหญ่ใช้กฎหมายแตกต่างกัน ต้องรอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. หารือก่อน

อธิการบไม่ห่วง-ห่วงแต่กรรมการสภา

นายฤาเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สวนสุนันทา กล่าวว่า ปัจจุบันกรรมการสภามรภ.สวนสุนันทา ครบรอบวาระแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างสรรหากรรมการสภาใหม่ ดังนั้นคณะกรรมการสภาชุดปัจจุบัน เป็นคณะกรรมการสภาที่อยู่ระหว่างรักษาการ คิดว่ากรรมการสภาที่รักษาการไม่น่าจะเข้าข่ายที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.

โดยกรรมการสภาชุดใหม่นี้ มหาวิทยาลัยต้องสรรหาภายใน 90 วัน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ เมื่อมีประกาศป.ป.ช.ฉบับนี้ออกมา จะทำให้การสรรหากรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาคเอกชนยากขึ้นหรือไม่นั้น ตนมองว่ามหาวิทยาลัยอื่นอาจจะยากขึ้น แต่สำหรับ มรภ.สวนสุนันทา ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเป็นมหาวิทยาลัยค่อนข้างใหญ่ ทำงานอย่างมีระบบ ผู้แทนจากภาคเอกชนก็อยากเข้ามาร่วมเป็นกรรมการสภา

ผมในฐานะอธิการบดี มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอยู่แล้ว จึงไม่รู้สึกกังวลใจ แต่เรื่องกรรมการสภาที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน นักธุรกิจจากภาคเอกชนอาจจะไม่สบายใจ ไม่อยากเข้ามา ผมมองว่าไม่กลัวการตรวจสอบ แต่การที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของภรรยา และบุตรด้วย เป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะหากพลาดหรือหลงลืมชี้แจงรายละเอียดบางอย่าง อาจจะวุ่นวาย ได้รับความผิดทางอาญาได้

ผมรอฟังแนวทางของรัฐบาลว่าจะแก้ไขอย่างไร แต่มหาวิทยาลัยยินดีจะปฏิบัติตาม และกรรมการสภาของมรภ.สวนสุนันทา พร้อมปฏิบัติตาม ไม่มีใครมีปัญหา ไม่กังวลการตรวจสอบ แต่กังวลถึงความยุ่งยากมากกว่า

ด้านนายเปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดี มรภ.พระนคร กล่าวว่า ประกาศป.ป.ช. ที่ออกมา ตนไม่ติดใจในส่วนของอธิการบดี ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องยื่นอยู่แล้ว อีกทั้งการออกประกาศนี้ ป.ป.ช. สามารถทำได้เพราะอยู่ในอำนาจหน้าที่ ส่วนออกมาจะเหมาะหรือไม่ ตนไม่ขอออกความคิดเห็น และในส่วนของนายกสภาและกรรมการสภา มีท่าทีอย่างไรหลังประกาศ ป.ป.ช. ออกมา ตนไม่ทราบเพราะยังไม่ได้พูดคุยกัน

ตามข่าวที่ออกมาอาจกระทบกรรมการสภา จะลาออกกัน แต่ขณะนี้ ท่าทีของกรรมการสภา มรภ.พระนครยังคงเงียบอยู่ สาเหตุที่ไม่ออกมาแสดงท่าที เพราะรอท่าทีจาก ป.ป.ช. หรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่ถ้ากรรมการสภาลาออกจริงจะส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของมหาวิทยาลัยอย่างมาก

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน