“บิ๊กตู่”เหน็บแนม ระบุบางคนใช้สมองแค่บางส่วน สร้างแต่ความขัดแย้ง วอนอย่าต่อต้านรัฐธรรมนูญที่ตัวหนังสือ ขอให้ดูเจตนาและการปฏิบัติ โต้ไทยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้านกระบอกเสียงบัวแก้วซัดฮิวแมนไรต์วอตช์ใช้ข้อมูลเก่า ไม่ดูว่าไทยเดินหน้าตามโรดแม็ปหรือไม่ กรธ.ยันจัดทำกฎหมายลูกไม่สะดุดแม้ 3 กรธ.จะร่วมทีมแก้รธน. เล็งส่งร่างพ.ร.บ. กกต.เบื้องต้นให้สนช.ดูก่อน “สุวิทย์” เดินสายถกแผนโครงสร้างป.ย.ป. ตั้งกรรมการ 4 ชุด คาดเสร็จสัปดาห์หน้า สปท.แนะนักการเมืองลดทิฐิร่วมวงปรองดอง พท. พร้อมร่วมด้วยแต่ขอดูความชัดเจนก่อน ด้านผบ.ทบ.รอกลาโหมเคาะรายชื่อกรรมการปรองดอง ระบุสถานการณ์ดีขึ้น แบ่งสี-แบ่งฝ่ายน้อยลง แม่น้องเกดยี้ ให้กองทัพนำปรองดอง อัด “เสรี สุวรรณภานนท์”ตอกย้ำความขัดแย้ง นัดบุกสภาจี้ชี้แจง รมต.ยันคุ้มครองสิทธิ “ไผ่ ดาวดิน”

“บิ๊กตู่”วอนอย่าต่อต้านรธน.

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 14 ม.ค. ที่สนามเสือป่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2560 ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้เรามีรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญก็คือรัฐธรรมนูญ ตัวหนังสือก็คือกฎหมายที่เขียน แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่การปฏิบัติ จึงขออย่าไปค้านหรือต่อต้านกันที่ตัวหนังสือ แต่ต้องดูที่เจตนาและการปฏิบัติ ซึ่งไม่มีอะไรที่เขียนได้ดี เพราะภาษาไทยแปลได้หลายแบบ จึงต้องแปลในทางที่ดีว่ารัฐธรรมนูญที่เขียนมาน่าจะดีขึ้นกว่าเดิม โดยขึ้นอยู่กับทุกคนต้องร่วมมือกัน

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยถูกมองว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งตนได้ชี้แจงกับต่างชาติไปว่าเส้นแบ่งระหว่างการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการทำผิดกฎหมายมันเป็นเส้นบางๆ จึงต้องช่วยกันอธิบายด้วย ซึ่งวันนี้เราไปไหนมาไหนได้ หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เราไปไหนมาไหนได้หรือไม่ ไปวันเด็กได้หรือไม่ มีคนเดินเต็มท้องถนน จึงขออย่ากลับไปเป็นแบบนั้น

เหน็บบางคนขยันสร้างขัดแย้ง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่เป็นปัญหากับเรามากที่สุดในตอนนี้คือเรื่อง โซเชี่ยลมีเดียและเทคโนโลยี เราต้องเรียนรู้ว่ามีส่วนดีส่วนเสียอย่างไร จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช้ในทางที่ผิด ขอฝากเอาไว้ด้วย เพราะจะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดี มีระบบความคิด การติดตามข่าวสารบ้านเมือง ขอให้อ่านหนังสือเยอะๆ หนังสือเป็นอาหารของมันสมอง ถ้าไม่อ่านหนังสือเลยไม่ฟังที่ครูพูด สมองก็จะไม่เจริญเติบโต เพราะสมองต้องการที่จะเจริญเติบโต สมองมีทั้งข้างหน้าซ้ายขวาเต็มไปหมด ใช้ให้มันครบถ้วน

“อย่าทำตัวเหมือนผู้ใหญ่บางคน ที่มีสมองหน้าหลังซ้ายขวาแต่ใช้ไม่ครบ ใช้ทั้งหมดไปในเรื่องของความขัดแย้ง ในเรื่องของความไม่ดี อย่าทำอีก เราต้องเรียนรู้จากหนังสือจากโทรทัศน์ ยูทูบ อะไรก็แล้วแต่ที่มีประโยชน์ ถ้าบิดเบือนหรือมีอะไรที่ผิดกฎหมายก็แจ้งความกับตำรวจไป จะได้เลิกทำกันเสียที” นายกฯ กล่าว

เล็งส่งกม.กกต.ให้สนช.ชิมลาง

นายเธียรชัย ณ นคร คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า แม้จะมีตัวแทนจากกรธ. 3 ราย ไปร่วมเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ เพื่อพิจารณาปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ แต่ก็ไม่มี ผลกระทบต่อการทำงานของกรธ. องค์ประชุมที่เหลือก็ทำหน้าที่กันตามปกติ ขณะนี้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมายกร่างกฎหมายลูกแต่ละฉบับ เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล แล้วนำตัวร่างเสนอให้ที่ประชุมกรธ.พิจารณา

นายเธียรชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ กรธ. ยังเตรียมร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ล่าสุด ที่ยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปพิจารณาศึกษาในรายละเอียด เจตนารมณ์ ของกรธ.ไว้ก่อน เมื่อถึงกำหนดส่งร่างสุดท้ายไปให้ สนช. จะได้มีความพร้อมในการพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป

สุวิทย์เดินสายถกโครงสร้างป.ย.ป.

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคี ปรองดอง (ป.ย.ป.) เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าจะเดินหน้าพูดคุยกับบุคคลและหน่วยงานต่างๆ เพื่อเตรียมแผนจัดทำโครงสร้างป.ย.ป. ซึ่งจะมีคณะกรรมการ 4 ชุดย่อย ได้แก่ 1.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และ 4.คณะกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งจะต้องจัดตั้งสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU)

นายสุวิทย์กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันที่ 16 ม.ค. จะเข้าพบ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่รัฐสภา เพื่อหารือถึงการสานต่องานด้านการปฏิรูปและข้อเสนอของ สปท. จากนั้นเวลา 09.00 น. จะหารือกับพล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ ก่อนที่เวลา 15.30 น. จะหารือเรื่องข้อกฎหมายกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และพบ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ ในเวลา 17.30 น.

คาดตั้งกก.4ชุดเสร็จสัปดาห์หน้า

นายสุวิทย์กล่าวว่า ส่วนวันที่ 17 ม.ค. จะพบกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เพื่อหารือถึงการจัดเตรียมโครงสร้างของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่พล.อ. ประวิตรเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนวันที่ 18 ม.ค. จะหารือกับนายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกฯ และวันที่ 20 ม.ค. จะเข้าพบนาย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.

นายสุวิทย์กล่าวว่า นอกจากนี้ตนจะกำชับในการประชุมวิป 3 ฝ่าย ครม. สนช. สปท. ในวันที่ 18 ม.ค. นี้ ให้ดำเนินการเรื่องต่างๆ ในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การทำงานสอดคล้องกับป.ย.ป. ทั้งนี้ คาดว่าคณะกรรมการทั้ง 4 คณะในป.ย.ป.จะตั้งได้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสรรหาตัวบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสมมาร่วมคณะและหากพบว่ามีปัญหาอุปสรรค นายกฯจะใช้ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวปลดล็อกให้สำเร็จ

“บิ๊กป้อม”ดึงคู่ขัดแย้งทำเอ็มโอยู

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 กล่าวถึงการสร้างความปรองดองว่า ล่าสุด เท่าที่ได้พูดคุยกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงจากนายกฯ ให้ดูเเลเรื่องปรองดอง ทราบว่ารองนายกฯ มีความตั้งใจสูงทุ่มเทสุดตัวเรื่องนี้ และมีเเนวคิดเบื้องต้นว่าในเร็ววันนี้จะเชิญทุกฝ่าย ทุกพรรคคู่ขัดเเย้งเข้ามาพูดคุยเพื่อเสนอความคิดเห็นหาทางออก ขจัดความขัดเเย้ง หลังจากนั้นจะทำเป็นข้อตกลงเอ็มโอยู เพื่อยุติความขัดแย้ง เดินหน้าไปสู่ความปรองดองก่อนการเลือกตั้งให้ได้ โดยข้อตกลงดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมาย แต่จะกระทำให้สังคมได้รับรู้อย่างเปิดเผย

สปท.ขอให้ฟัง”บิ๊กตู่”คนเดียว

ที่รัฐสภา ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเลขานุการป.ย.ป. จะเข้าหารือวันที่ 16 ม.ค.นี้ว่า คงไม่ได้มาคุยอะไรเป็นพิเศษ นัดหารืออย่างที่ทราบๆ กัน

เมื่อถามว่า สปท.เตรียมหารือกับรัฐบาลเพื่อผลักดันประเด็นใดเป็นพิเศษ ร.อ. ทินพันธุ์กล่าวว่า ขอให้ฟังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนเดียวก็เเล้วกัน ทุกฝ่ายรู้ดีอยู่เเล้วว่านายกฯ พูดชัดเจนขนาดไหน ทั้งการเตรียมการและการขับเคลื่อนไปสู่การปรองดอง

สปท.สอนนักการเมืองลดทิฐิ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.การเมือง สปท. กล่าวถึงการประสานงานกับคณะกรรมการปรองดองชุดต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นว่า การเชื่อมต่อกันไม่ยาก สปท.การเมืองต้องรวบรวมประเด็นปัญหา ทางออกความขัดเเย้ง ส่งรัฐบาล สนช.หรือกรรมการปรองดองชุดต่างๆ ให้นำไปเป็นเเนวทาง อย่ามองว่าสปท.ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรรมการปรองดองที่ตั้งวันนี้ยังมีเเต่โครงสร้าง ส่วนเนื้อหาสาระจะมาจากสปท. ฝ่ายการเมือง ประชาชน ส่วนเวลาจะไปเชื่อมกันจุดใดวันไหน อยู่ที่กรรมการปรองดองชุดต่างๆ นอกจากนี้ฝ่ายการเมืองควรชงข้อเสนอมานานเเล้ว ไม่มีใครกันท่าหรือกีดกัน เเต่เป็นเพราะเเต่ละฝ่ายไม่ยอมลดมีทิฐิ กล่าวหาอีกฝ่ายว่าไม่ดี ถึงเวลาหยุดกล่าวหากัน เสนอความต้องการที่เเท้จริงมา แต่ต้องเป็นคำถามที่ทำให้คนดีกัน ไม่ใช่คำถามที่ทำให้คนตีกัน

“จริงๆ ปัญหาปรองดอง จากที่ศึกษามามีหลายมิติเเต่เราจะผลักดันเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเมือง สิ่งสำคัญคือข้อเสนอเเนวทางออก ข้อยุติสภาพบังคับที่เกิดขึ้นได้ต้องเป็นกฎหมายที่ออกจากสนช. ดังนั้น สนช.อย่ารีบออกตัวเสนอกฎหมายของตนเองฝ่ายเดียว ต้องรอฟังข้อมูลของรัฐบาล กรรมการปรองดอง หรือของพรรค ของชาวบ้านก่อน แล้วค่อยออกเป็นกฎหมายที่ทุกฝ่ายยอมรับ เดี๋ยวจะกลายเป็นสร้างบรรยากาศเฉยๆ แต่มันไม่ใช่การสร้างความปรองดองแก้ปัญหาความขัดเเย้งที่เเท้จริง” นายเสรี กล่าว

“บิ๊กเจี๊ยบ”ชี้แบ่งสี-แบ่งฝ่ายลดลง

เวลา 10.00 น. ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าวถึงการสร้างความปรองดองว่า รายละเอียดเรื่องการปรองดองนั้น ทางกระทรวงกลาโหมกำลังดำเนินการอยู่ในเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ดังนั้น ยังไม่มีการลงรายละเอียดว่าใครรับผิดชอบด้านใดบ้าง ตนคิดว่าเรื่องการปรองดองเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกัน

ผบ.ทบ.กล่าวว่า ส่วนการปรองดองจะเห็นผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เพราะที่ผ่านมามีความพยายามดำเนินการ อยู่ โดยเฉพาะกองทัพบกที่มีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปตั้งแต่เดือนพ.ค.2557 ซึ่งต้องยอมรับว่าในภาพรวมการ แบ่งแยกสีและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของประชาชนน้อยลง แต่อาจมีความคิดเห็นแตกต่างเรื่องการเมืองอยู่บ้าง ซึ่งคิดว่าในภาพรวมดีขึ้น เมื่อมีคณะกรรมการปรองดองชุดนี้ขึ้นมาดำเนินการในระดับนโยบาย เชื่อว่าทุกอย่างจะเดินสู่แนวทางที่ดี ทั้งนี้ ตนขอความร่วมมือร่วมใจกับทุกคนเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ซึ่งกองทัพก็ทำทุกอย่างเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข

แม่น้องเกดยี้กองทัพนำปรองดอง

นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน.ส.กมลเกด อัคฮาด หรือน้องเกด ผู้เสียชีวิตจากการสลายชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 กล่าวถึงการผลักดันการสร้างความปรองดองของรัฐบาล ที่มีพล.อ.ประวิตรเป็นผู้รับผิดชอบว่า ไม่เห็นด้วย เนื่องจากโครงสร้างของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.อ.ประวิตรระบุว่าจะมีตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ผู้นำเหล่าทัพ พรรคการเมืองและแกนนำ ผู้ชุมนุมเท่านั้น โดยไม่มีตัวแทนของฝ่ายประชาชน ในฐานะผู้สูญเสียจากการบาดเจ็บ ล้มตาย หรือติดคุก ที่เป็นผลจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สำคัญ คือรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ และกองทัพเองก็คือส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้ง โดยเฉพาะการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 การจะมาเป็นเจ้าภาพผลักดันการสร้างความปรองดองถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะปราศ จากบุคคลที่เป็นกลางที่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายสามารถยอมรับได้

บุกสภาสัปดาห์หน้า-จี้”เสรี”ชี้แจง

นางพะเยาว์กล่าวว่า ส่วนการผลักดันแนวทางปรองดองจาก กมธ.ด้านการเมือง สปท. ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้วจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เป็นเพียงเร่งผลักดันเอาหน้า หวังตำแหน่งในอนาคต เนื่องจากคำแถลงของนายเสรีมีการใช้คำว่า เผาบ้านเผาเมือง สะท้อนชัดถึงความอคติ นำวาทกรรมที่คู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่งใช้โจมตีอีกฝ่ายหนึ่งมาใช้ ทั้งนี้ ตนจะเดินทางไปยังรัฐสภา เพื่อทวงถามคำอธิบายต่อวาทกรรมดังกล่าวจากนายเสรี ในสัปดาห์หน้า

ปชป.หนุนรัฐเดินหน้าปรองดอง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งป.ย.ป. โดยมีนายกฯ เป็นประธานว่า หลายรัฐบาลพยายามสร้างปรองดอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก กระทั่งรัฐบาล คสช.ที่พยายามจะสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติอีกครั้ง ตนคิดว่าเป็นเรื่องดี แต่ปัจจัยของความปรองดองจะไม่บังเกิดผลสำเร็จก็ต่อเมื่อประชาชนไม่เข้าใจตรงกันว่าความปรองดองเป็นอย่างไร ซึ่งพอจะเริ่มสร้างความปรองดองก็เถียงกันแล้วว่าปรองดองจริงๆ ต้องนิรโทษกรรมให้หมด แต่บางฝ่ายบอกว่านิรโทษกรรมบางส่วน หรือไม่นิรโทษกรรมเลย ดังนั้น ถ้าจะเริ่มต้นกันจริงๆ ต้องนิยามให้ชัดเจนเลยว่าปรองดองในที่นี้คืออะไร เพื่อจะกำหนดแนวทางและเป้าหมายได้อย่างจริงจัง

“ในมุมมองผมคิดว่าการปรองดองคือการลืมบางเรื่องเพื่อเดินไปข้างหน้า ถ้าเราไม่ลืมแล้วสังคมก็จะโกรธกันอยู่อย่างนี้ แต่ไม่ได้ลืมทั้งหมด ขณะเดียวกันต้องควรจำบางเรื่องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำในอดีตอีก ฉะนั้นถ้าเราไม่ลืมบางเรื่อง และจำบางเรื่องสังคมไทยก็จะไม่จบไม่สิ้น เป็นอยู่ แบบนี้” นายนิพิฏฐ์กล่าว

แนะอย่าดึงคู่ขัดแย้งนั่งกก.

เมื่อถามว่าแนวทางการปรองดองของ คสช.ที่กำหนดให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบเชิญทุกภาคส่วนมาหารือกัน นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ถ้าจะเริ่มการปรองดองต้องควรทำแบบนี้ ซึ่งคู่ขัดแย้งไม่จำเป็นต้องเชิญมาเป็นกรรมการ เพราะถ้าเชิญมาจริงๆ ก็จะไปเถียงกันในคณะกรรมการอีก ก็จะไม่จบไม่สิ้น หากแต่ต้องเชิญมาแสดงความ คิดเห็นถือว่าทำถูกแล้ว

นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ตนคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ถ้าทำให้ความปรองดองจริงๆ ก็ทำได้ง่ายกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มา เพราะมีมาตรา 44 ซึ่งการปรองดองบางเรื่องต้องออกเป็นกฎหมาย ในเมื่อหารือกันจนตกผลึกแล้ว ตนขอเสนอให้ใช้มาตรา 44 เลยเพื่อจะได้แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องไปเถียงกันอีก ส่วนตนจะยินดีไปหารือในเวทีดังกล่าวหรือไม่นั้นอยู่ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคเป็นผู้มอบหมาย

พท.ก็พร้อมปรองดอง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงรัฐบาลเดินหน้าสร้างการปรองดองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยากให้บ้านเมืองสงบ ประชาชนมีความสุข ไม่ขัดแย้งแตกแยก พรรคเพื่อไทยรับใส่เกล้าฯ และจะไม่ทำตัวเป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง ทุกคนรู้ว่าประเทศมีปัญหามาตลอด 10 ปี เพราะรากฐานจากความขัดแย้ง สังคมไทยแตกแยกร้าวลึก เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม อยู่ที่รัฐบาลด้วยว่าจะไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง และต้องอำนวยให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ต้องแสดงให้เห็นว่าพร้อมหาทางออกของประเทศอย่างจริงจัง เชิญทุกฝ่ายพูดคุย ดูว่าจุดไหนที่จะทำให้คลี่คลายได้ ทั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นที่ดีแต่ขอดูรายละเอียด เช่น ฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วม ดูว่าใครจะเป็นหลัก จะเป็นนายกฯ หรือรองนายกฯ คนไหน หลักการ วิธีการ เป็นอย่างไร ทุกอย่างต้องชัดเจนและเป็นทางการ

กต.ซัดฮิวแมนฯใช้ข้อมูลเก่า

นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงองค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ จัดทำและเผยแพร่รายงานประจำปี 2560 โดยระบุถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของประชาชนในประเทศไทยว่า ฮิวแมนไรต์วอตช์ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาล จัดทำรายงานดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อสรุปสถานการณ์ภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนของทุกประเทศทั่วโลก โดยสถานการณ์ในไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายงาน

นายเสขกล่าวว่า รัฐบาลไทยรับทราบรายงานดังกล่าว โดยภาพรวมเห็นว่าเป็นรายงานที่ขาดความสมดุล โดยข้อมูลที่ใช้ประกอบรายงานเป็นข้อมูลเก่าและไม่ได้คำนึงถึงความคืบหน้าและความพยายาม ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ฝ่ายไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม อาทิ การดำเนินการตามโรดแม็ปของรัฐบาลมีความคืบหน้าตามลำดับ มี เป้าหมายนำประเทศสู่ความเป็นประชา ธิปไตยที่เข้มแข็ง สังคมที่ปรองดอง และบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพ

ย้ำวางรากฐานสู่โรดแม็ปเลือกตั้ง

นายเสขกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 2 ของโรดแม็ป คือการปฏิรูปในทุกด้าน เพื่อวางรากฐานที่แข็งแรงและนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ควบคู่กับการจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันได้ประกาศใช้แล้วมากกว่า 190 ฉบับ โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่สั่งสมมานาน รวมถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำและสิทธิมนุษยชน อาทิ ความเท่าเทียมทางเพศ ปัญหาการค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย สิทธิแรงงาน ทั้งนี้ การวางรากฐานที่สำคัญเหล่านี้จะเอื้อต่อการก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 คือการจัดเลือกตั้งตามโรดแม็ปที่ได้กำหนดไว้ และการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองที่ยั่งยืนภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

“รัฐบาลจะยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และยึดมั่นการดำเนินการให้สอดคล้องพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของสังคมและประชาชนไทยต่อไป” นายเสขกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน