นักวิชาการ จี้ ‘บิ๊กตู่’ ลาออกจากหัวหน้า คสช. หยุดใช้ ม.44 ไปจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ พร้อมเปิดตัวเครือข่าย we watch สังเกตการณ์เลือกตั้ง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 15 ธ.ค. ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ “ว่าด้วยบทเรียนและบทบาทในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย” นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ “กลเกมการเมืองก่อนและหลังการเลือกตั้งปี 2562”

โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า จากการสำรวจพบหมากเกมทางการเมืองถูกวางไว้ก่อนการเลือกตั้งประมาณ 16 หลุม อาทิ การออกแบบระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ ปี 60 ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกนำมาใช้อีกแล้ว ออกแบบมาเพื่อลดทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมือง สร้างความคลุมเครือในการตัดสินใจระหว่างการเลือก ส.ส.พรรค หรือนายกฯ, การเซ็ตซีโร่พรรคการเมืองทำให้พรรคไม่มีฐานสมาชิก

การกำหนดให้พรรคต้องทำไพรมารี่โหวตโดยที่ไม่มีความพร้อม, การใช้ ม.44 ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง, รัฐบาลกลายมาเป็นผู้เล่นไม่ใช่กรรมการ หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอตัวเป็นนายกฯอีกครั้ง รัฐบาลจะมีอำนาจเหนือองค์กรอิสระและพรรคการเมืองอื่นๆ, การ ใช้ ม.44 ให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ใน 5-6 จังหวัด เพื่อเอื้อให้กับบางพรรค

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นางสิริพรรณ กล่าวอีกว่า หลุมพรางต่อมาคือการล็อกนักการเมืองด้วยการส่งทหารไปเยี่ยมเยียนนักการเมืองและหัวคะแนน, การแขวนนักการเมืองท้องถิ่นบางพื้นที่จนมีการย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), การย้ายพรรคครั้งใหญ่ของอดีตส.ส.ไปยัง พปชร. โดยตัวเลขอดีตส.ส.ปี 54 หรือส.ส.เกรดเอ 55 คน ย้ายมา พปชร., มิติเศรษฐกิจจากการลงทะเบียนคนจนซึ่งคิดไว้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เป็นผลให้ 22 กลุ่มทุนได้ประโยชน์จากเม็ดเงิน, การโอนเงิน 500 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ซึ่งล้วนส่งผลต่อการเลือกตั้ง, ผู้สมัครพรรคเดียวกันมีหลายเบอร์ ทำให้ยากต่อการจดจำและเกิดความสับสนของผู้ที่ยังตัดสินใจไม่สะเด็ดน้ำ

นางสิริพรรณ กล่าวต่อว่า ตนคาดหวังให้ กกต. เชิญพรรคการเมืองมาตกลงกัน เพื่อจับสลากเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ หรือให้ กกต.พิมพ์บัตรเลือกตั้ง 350 เขต ส่วนตัวยังมีคามหวังกับ กกต. ที่จะนำดินมากลบหลุมพรางที่ถูกวางไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงกรณีป้ายหาเสียงจะมีแค่หน้าส.ส.เขต หัวหน้าพรรค และแคนดิเดทนายกฯ ห้ามใช้รูปผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ สิ่งที่น่ากังวลใจและมองว่าเป็นอันตรายพอสมควร คือเราไม่เคยมีพรรคการเมืองของรัฐ ขณะที่การเลือกคนที่ใช่ พรรคที่รัก ทำไม่ได้อีกแล้ว

“กลเกมที่วางไว้หลังเลือกตั้ง คือปกติเราจะรู้ผลการเลือกตั้งภายในวันลงคะแนน แต่ครั้งนี้จะรู้ผลภายใน 2 เดือน ไม่เร็วกว่า 1 สัปดาห์แน่นอน ระหว่างนั้นยังมีการสอยใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม และใบดำ ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์สูง เพราะทุกครั้งที่มีการสอยจะกระทบคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ สามารถคำนวณได้ว่าจะต้องสอยกี่คน นอกจากนี้ ยังต้องจับตามองไปที่ประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นคนที่นำชื่อนายกฯ ขึ้นทูลเกล้า ในอดีตชื่อนายกฯเคยถูกเปลี่ยนมาแล้ว”

“รวมทั้งยังมีประเด็นนายกฯ คนนอก ซึ่งถูกบิดเบือนว่า เป็นรายชื่อที่เสนอจากพรรค ไม่ถือเป็นคนนอกเพราะผ่านสายตาประชาชนแล้ว แต่ในทางรัฐศาสตร์ นายกฯ ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งและไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคยังเป็นคนนอก ในภาพรวมมองว่า พรรคที่ชนะการเลือกตั้งอาจไม่ได้เป็นรัฐบาล จึงขอเรียกร้องให้ ส.ว.เคารพประชาชน ขอให้ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงประชาชน หากประชาชนช่วยกันสังเกตการณ์การเลือกตั้งจะไม่ผิดหวังกับผลเลือกตั้ง”นางสิริพรรณ กล่าว

ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน มูลนิธิอันเฟรล (ANFREL) บรรยายในหัวข้อ “การสังเกตการณ์ในต่างประเทศ : การฟื้นฟูและการสถาปนาประชาธิปไตย” ว่า ตนมีบทบาทเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งนานาชาติ 18 ปี เชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งจะทำให้คนไทยเข้าใจว่าวาทกรรมคนดีไม่มีอยู่จริง ถ้าเรายอมรับอำนาจนอกระบบเราจะเจอกับความเลวร้ายอย่างไร เชื่อว่าคนไทยต้องเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง เพราะประชาธิปไตยไม่มีทางลัด

ด้าน นายชูวัส ฤกษ์ศรีสุข บก.เว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า การต่อสู้ของนักมวย 2 คน ดูเผินๆ อาจเห็นว่าหน่วยก้านพอๆ กัน แต่อีกคนมีปืนสะพายหลังอยู่ บทบาทของสื่อต้องสร้างสนามแข่งขันที่เป็นธรรม ถ้าปล่อยให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีการโกง สื่อจะไม่ได้รับความเชื่อถืออีกเลย ต้องปลดอาวุธ คสช.แยก คสช.ออกจาก พปชร. สื่อต้องเรียกร้องให้หยุดรายการพูดข้างเดียว

จากนั้นเป็นการบรรยายในหัวข้อ “สิ่งที่ต้องจับตาในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง” โดย นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากบทเรียนในหลายประเทศ ทำให้มองเห็นการชุบตัวของเผด็จการผ่านการเลือกตั้ง หรือเรียกว่าระบอบเผด็จการจำแลงตัวเองให้เป็นประชาธิปไตย จัดการเลือกตั้งโดยที่ไม่ทำให้ตัวเองเสียอำนาจ คุมผลลัพธ์ให้ได้ การเลือกตั้งครั้งนี้เราจะไม่เห็นการโกงโจ่งแจ้งเหมือนในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่จะทำด้วยความแนบเนียน มีกลไกและเทคนิคที่ซับซ้อน เช่น แบ่งเขตพิสดาร

นายประจักษ์ กลาวต่อว่า โดยการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลคณะรัฐประหาร คสช.ยังมีอำนาจอยู่จนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่ และยังมีอำนาจเต็ม ถ้าเปรียบเป็นภาษากีฬาอาจเทียบเคียงได้ว่า คสช.ออกกติกาเอง ส่งผู้เล่นลงแข่ง แต่งตั้งกรรมการเอง และเปลี่ยนกติการะหว่างทางได้ด้วย ม.44 รวมทั้งมีผู้เล่นนอกสนาม หรือส.ว. ซึ่งไม่เล่นในสนาม แต่สุดท้ายจะมีผลต่อการตัดสิน

นายประจักษ์ กล่าวอีกว่า เราต้องร่วมกันจับตาถึงกฎเกณฑ์ที่จะออกมาหลังมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งโดยกกต. ไปจนถึงขั้นตอนการนับคะแนน การข่มขู่บังคับที่อาจทำต่อนักการเมือง หัวคะแนน หรือผู้เลือกตั้ง จนต้องย้ายขั้ว ย้ายพรรค เสรีภาพในการหาเสียงของพรรคการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และต้องจับตาโซเซียลมีเดีย เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์คล้ายประชามติโมเดล มีให้ข้อมูลข้างเดียวเฉพาะฝ่ายสนับสนุนเท่านั้นที่เผยแพร่ได้ และกลเกมหลังการเลือกตั้ง 24 ก.พ.62 ช่วงนับคะแนนเป็นสุญญากาศ คสช.ยังอยู่ ม.44 อาจถูกนำมาใช้บิดเบือน จัดการหรือระงับข้อพิพาทในบางเขตเลือกตั้ง

“การเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญคือ กองทัพกับประชาชน ถ้ากองทัพไม่วางตัวเป็นกลางจะเป็นอันตรายมาก ขณะที่ประชาชนจะเป็นเพียงผู้ใช้สิทธิหย่อนบัตรไม่พอ แต่จะต้องมีบทบาทจับตาการเลือกตั้งในเขตของตัวเอง ผมขอเสนอให้ร่วมกันส่งพลังกดดันไปยัง คสช. ให้เลิกใช้ ม.44 ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ได้รับเสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกฯ ไม่ว่าจากพรรคใด อย่างน้อยแม้ไม่ลาออกจากนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ควรลาออกจากหัวหน้า คสช. เพราะขณะนี้สวมหมวกอยู่หลายใบ การลาออกจากหัวหน้าคสช. จะทำให้สง่างามมากกว่า”

“รัฐบาลควรเปิดกว้างและเชิญชวนองค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนระหว่างประเทศเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง หากเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมก็ยากที่จะมีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ จากบทเรียนของหลายประเทศทำให้น่าห่วงว่า การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรอบใหม่ ตอนนี้การเลือกตั้งเหมือนเป็นความหวังสุดท้ายในการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไปได้อย่างเรียบร้อย”นายประจักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานเสวนายังมีการเปิดตัวเครือข่าย We Watch ซึ่งแถลงจุดยืน และข้อเรียกร้องต่อสาธารณะ ดังนี้ 1.We Watch เป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่เชิดชู สิทธิเสรีภาพ และความเสมอ ภาคของประชาชน มีบทบาทในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง เพื่อทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นอิสระยุติธรรม เป็นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนสประชาธิปไตยได้

2.เป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกทั่วประเทศ และจะขยายให้ครอบคลุมทุกหน่วยเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นพื้นที่ของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วม ในการตรวจสอบทางการเมืองด้านการสังเกตการณ์เลือกตั้ง 3.We Watch เป็นเครือข่ายที่เป็นกลางมีความเป็นอิสระจากฝ่ายต่างๆ 4.นอกจากทำหน้าที่สังเกตการณ์เลือกตั้งในครั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ยังมุ่งสร้างบรรยากาศให้การเลือกตั้ง กลายเป็นความหวังของประชาชนอย่างแท้จริง

5.เราสนับสนุนให้พรรคการเมืองแข่งขันกันอย่างอิสระและยุติธรรม 6.เราจะนำเสนอข้อมูลการสังเกตการณ์เลือกตั้ง ตั้งแต่ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ช่วงของการเลือกตั้ง และช่วงหลังการเลือกตั้ง สู่สาธารณะเพื่อทำให้ทุกคนสนใจ และเห็นความเป็นไปของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง 7.เราขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกภาคส่วน รวมถึงภาคธุรกิจ เข้าร่วมการสังเกตการณ์เลือกตั้ง เพื่อเป็นการสร้างประสิทธิภาพในการเลือกตั้ง และกลไกการมีส่วนร่วม และตรวจสอบทางการเมืองของประชาชน

8.เราขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหน้าที่โดยอิสระ และมีความกล้าหาญ รวมถึงเร่งแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้การเลือกตั้งอาจไม่มีความชอบธรรม 9.เราขอชื่นชมข้าราชการทุกหน่วยงาน ที่วางบทบาทเป็นกลาง และกล้าหาญ เพียงพอในการปฏิเสธการเข้าร่วมการกระทำที่จะทำลายความเป็นอิสระ และยุติธรรมของการเลือกตั้ง และ 10.ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และคสช. หยุดการแทรกแซงการเลือกตั้ง เพื่อทำให้การเลือกตั้งปราศจากข้อครหา และหลีกเลี่ยงหนทางแห่งความรุนแรงระลอกใหม่ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังการเลือกตั้ง


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน