‘บิ๊กฉัตร’ แจงรัฐบาลนี้มีผลงานบริหารจัดการน้ำดีเยี่ยม ลดพื้นที่น้ำท่วม-น้ำแล้ง-เพิ่มปริมาณน้ำ มากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา 4 เท่า โวลดงบกว่า 2.6 หมื่นล้าน

แผนบริหารจัดการน้ำ / เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแผนการบริหารจัดการน้ำในปี 2562 ว่า เรื่องดังกล่าวรัฐบาลได้พยายามทำและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยก่อนหน้าที่รัฐบาลนี้จะเข้ามา ประเทศไทยไม่เคยมีแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ แต่เมื่อตนเข้ามา เริ่มคิดว่าจะต้องมีแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งถือเป็นแผนบริหารจัดการน้ำครั้งแรกของประเทศ มีระยะเวลา 20 ปี ตรงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ

ขณะเดียวกันเรายกร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯประกาศใช้พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับแรกของประเทศไทย โดยมีผลบังคับใช้ใน 30 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ขณะเดียวกันมีการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งทั้ง 3 เสาหลักนี้ จะสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนการทำงาน โดยปัจจุบันจากการเดินหน้าเรื่องดังกล่าว ทำให้ตั้งแต่ปี 2557 เราสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ถึง 4 เท่าของรัฐบาลที่ผ่านมา กล่าวคือ เราทำ 4 ปี เท่ากับ 12 ปีย้อนหลัง และยังพบว่าสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้

โดยในปี 2551-2553 มีพื้นที่น้ำท่วม 5.15 ล้านไร่ ปี 2554-2556 มีน้ำท่วมเฉลี่ย 5.66 ล้านไร่ และในช่วงรัฐบาลชุดนี้ เหลือ 1.67 ล้านไร่ ส่วนเรื่องภัยแล้งตั้งแต่ปี 2551-2554 มีหมู่บ้านที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 22,813 หมู่บ้าน ปี 2555-2557 มี 20,915 หมู่บ้าน และในรัฐบาลนี้ ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เหลือ 3,030 หมู่บ้าน

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาภัยแล้งและพื้นที่น้ำท่วมที่ลดลง สะท้อนผ่านงบประมาณที่เราต้องชดเชยในทั้ง 2 ส่วนนี้ โดยในช่วงแรกชดเชยไป 50,281 ล้านบาท ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่เจอน้ำท่วมหนัก ชดเชยไป 89,755 ล้านบาท และในช่วงรัฐบาลชุดนี้ เหลือ 18,594 ล้านบาท จะเห็นว่าตัวเลขงบประมาณที่ต้องชดเชยนั้นลดลง ทำให้สามารถนำงบประมาณไปใช้บริหารจัดการประเทศในด้านอื่นๆได้

โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งจากสำนักงบประมาณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) อย่างไรก็ตาม โครงการบริหารจัดการน้ำหลายโครงการเพิ่งเริ่มต้น

โดยในช่วงต้น เราทำไปหลายโครงการแต่เป็นโครงการขนาดเล็ก ส่วนโครงการขนาดใหญ่จะทำไม่ได้มาก มีเพียงประมาณ 10 กว่าโครงการ เพราะจะต้องสอดรับกับงบประมาณ รวมถึงจะต้องผ่านกระบวนการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2 ปี

“นายกฯกล่าวกับผมว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ให้นำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ยังไม่ได้ทำ มาทำต่อ ซึ่งขณะนี้เราดำเนินการไปแล้ว 3 โครงการ และในปี 2562 จะทำอีก 5 โครงการ ทั้งนี้ โครงการบริหารจัดการน้ำต่างๆที่เราจะทำ ได้พูดคุยกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า จะออกแบบใหม่ให้การก่อสร้างโครงการรุกพื้นที่ป่าน้อยที่สุด แต่แม้ว่าเราจะทำโครงการวันนี้ การแก้ปัญหาเรื่องน้ำต้องใช้เวลากว่าโครงการจะสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ อย่างน้อยต้องใช้เวลา 4-5 ปี แต่แม้ว่ารัฐบาลจะเริ่มช้าไป แต่ในระยะยาวจะลดความเดือดร้อนของประชาชนได้ ซึ่ง 4 ปี เราสามารถประหยัดงบประมาณ 26,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางที่เสนอของบประมาณ พร้อมกันนี้ ตนย้ำทุกหน่วยงานว่า ทุกโครงการจะต้องไม่มีการล็อกสเปก หรือเขียนโครงการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่ได้” รองนายกฯ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน