อนาคตใหม่รุกหนัก ชงญัตติถกคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯก่อนลงมติ 5 มิ.ย.นี้ ยื่นสอย 30 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ พปชร. 27 รปช. 1 ชทพ.1 ปชภ. 1 จี้ศาลรธน.ยึดหลัก‘ธนาธร’ รับคำร้องสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่

อนาคตใหม่ – เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 4 มิ.ย. ที่อาคารรัฐสภาใหม่ ถนนเกียกกาย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่(อนค.) นำทีมส.ส.พรรคอนาคตใหม่กว่า 60 คน เข้ายื่นหนังสือขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

นายปิยบุตร กล่าวว่า มายื่นหนังสือ 2 เรื่องคือ 1.ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 จำนวนส.ส. 1 ใน 10 ส่งคำร้องต่อประธานสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของส.ส. และ 2.ยื่นญัตติให้ประธานสภา ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะมีการลงมติ

นายปิยบุตร กล่าวว่า กรณีแรกเป็นไปตามที่ตนเคยแถลงก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรับคำร้องและสั่งให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ยุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.จนกว่าคำวินิจฉัยว่า หากมีการดำนเนิการในเรื่องนี้ อนค.ขอสงวนสิทธิในการยื่นเรื่องให้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของส.ส.รายอื่นที่เข้าข่ายการถือครองหุ้นสื่อด้วย ซึ่งมี 30 คน ที่มีชื่ออยู่ในบริษัทที่จดทะเบียนเกี่ยวกับการทำสื่อและสิ่งพิมพ์ด้วย

“มีพรรคพลังประชารัฐ 27 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน และพรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน โดยประธานสภาไม่มีอำนาจวินิจฉัย ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และหากใช้มาตรฐานเดียวกับนายธนาธร ศาลก็ต้องรับคำร้องและสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกัน” นายปิยบุตรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่มีคำสั่งนัดประชุม ในวันที่ 5 มิ.ย.นั้น ใจความว่า มาตรา 159 วรรคแรก กำหนดว่าการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ต้องพิจารณาจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 เท่านั้น

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
เมื่อพิจารณามาตรา 159 และมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบกันแล้ว การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ จึงแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่ การพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งในขั้นตอนนี้เป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร และการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในขั้นตอนนี้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

ดังนั้น ข้าพเจ้าผู้มีรายชื่อแนบท้ายนี้ในฐานะส.ส. จึงขอเสนอญัตติดังกล่าวมาตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 37 เพื่อให้สภาพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกฯก่อน โดยบรรจุญัตติเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาในส่วนนี้ให้เสร็จก่อนมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ส่วนเหตุผลและรายละเอียดจะได้ชี้แจงในที่ประชุมสภาต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน