เลขาฯป.ป.ช. เผยเบื้องหลังคดี บิ๊กป้อม ‘นาฬิกายืมเพื่อน’ ทำไมถึงไม่ผิด!

วันที่ 24 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี สำนักงาน ป.ป.ช. จัดกิจกรรมผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. พบสื่อมวลชน หัวข้อ ‘เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน’ โดยมีนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

นายวรวิทย์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเด็นการยืมบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่กลายเป็นประเด็นในสังคมที่ผ่านมาว่า บ้านเรายังติดหล่มกันอยู่ตรงนี้ ก่อนอื่นต้องดูเรื่องของวัตถุประสงค์ของการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าพนักงานของรัฐยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน

มีวัตประสงค์เพื่อต้องการสร้างความโปร่งใสให้กับระบบการเมืองและระบบราชการ ความโปร่งใสป้องกันการทุจริตได้ หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้วต้องโปร่งใส การยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งแรกเอาไว้เป็นฐานว่า ทรัพย์สินมีเท่าไหร่อย่างใด

หัวใจสำคัญในการตรวจสอบของ ป.ป.ช. คือ ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง เขาได้ใช้อำนาจหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ นี่คือประเด็นสำคัญ แต่ขณะเดียวกันไม่ว่าจะเป็นการทำงานของ ป.ป.ช. ที่ผ่านมา มักมุ่งเน้นไปเรื่องแสดงถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ยังไม่ได้ไปดูเรื่องความเคลื่อนไหวระหว่างดำรงตำแหน่ง” นายวรวิทย์ กล่าว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า การตรวจสอบทรัพย์สินในกรรมสิทธิ์ของผู้ยื่น คู่สมรส หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เริ่มจากการตรวจสอบทรัพย์สินที่ต้องแสดงต่อ ป.ป.ช. ได้แก่ ทรัพย์สิน 9 ประเภท เช่น เงินฝาก เงินลงทุน ที่ดิน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น และหนี้สิน 4 ประเภท เช่น เงินเบิกเกินบัญชี หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เป็นต้น

ส่วนกรณีของการยืมบัญชีทรัพย์สิน หากยึดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุไว้ แบ่งเป็น 2 แบบคือ 1.ยืมใช้คงรูป เช่น การขอยืมทรัพย์สินแบบให้เปล่า แต่มีภาระที่ต้องคืนเมื่อถึงกำหนด กรรมสิทธิ์ไม่โอน สมมติ ตนมีรถใช้ เผอิญรถเสีย แต่ต้องการใช้รถ มีเพื่อนสนิทเลยขอยืมรถเพื่อนมาใช้ ตนมีภาระที่ต้องคืนรถคันนั้นเมื่อใช้เสร็จ แต่รถคันดังกล่าวไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของตน เป็นต้น

2.การยืมใช้สิ้นเปลือง เช่น การยืมเงิน กรรมสิทธิ์ของวัตถุที่ยืมคือเงิน กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ยืมเลย แล้วถ้าเกิดคนที่ยืมไม่จำเป็นต้องใช้ธนบัตรฉบับเดิม ใช้ธนบัตรฉบับใหม่ได้ เมื่อกรรมสิทธิ์โอน มีหนี้ ในแบบบัญชีทรัพย์สินระบุว่าไว้ชัดเจนในส่วนของการแสดงรายการหนี้สิน

ส่วนประเด็นเรื่องยืมนาน ๆ หากกลับไปอ่านข้อเท็จจริงในแถลงข่าวของ ป.ป.ช. ว่า ยืมนานแค่ไหน ข้อเท็จจริงมีการยืมนาฬิกาทั้งหมด 21 เรือน ในช่วงระยะเวลาต่างๆ ไม่ได้ยืมกันนานๆ ยืมเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วก็คืน เปลี่ยนใหม่ไปเรื่อยๆ จนถึง 21 เรือน อาจมีประเด็นสื่อมวลชนสงสัยว่า บางเรือนนานผิดปกติ ข้อเท็จจริงในสำนวนระบุว่า มีการคืนแล้ว แต่เจ้าของไม่สะดวกที่จะรับคืน ก็เป็นระยะเวลาที่อาจกลายเป็นประเด็น” นายวรวิทย์ กล่าว

นายวรวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงแก้ไขแบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องยื่นแก่ ป.ป.ช. เนื่องจากมีทรัพย์สินหลายรายการที่มีคำอธิบายและอาจเกิดปัญหา เช่น ทรัพย์สินอื่น โดย 2-3 วันก่อนหน้านี้ไปชี้แจงเรื่องยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ ส.ว. ฟัง มีบางรายตั้งข้อสังเกตว่า ทรัพย์สินอื่นนั้น ต้องระบุเป็นรายชิ้น หรือระบุภาพรวม เป็นต้น นี่คือประเด็นที่ ป.ป.ช. รับมาพิจารณา

ส่วนกรณีการยืมทรัพย์สิน ถ้าเกิดขึ้นก่อน และถือว่าอยู่ในบริบทที่ควรจะต้องแจ้งหรือไม่ นี่คืออยู่ในประเด็นที่คณะทำงานศึกษาอยู่ และจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป แต่ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่ายืมแล้วแจ้งบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ประเด็นอยู่ที่ว่าใช่การยืมหรือไม่ หรือเป็นของตัวเองแล้วบอกยืมหรือไม่ นี่เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการค้นหาความจริง” นายวรวิทย์ กล่าว

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับการชี้มูลความผิดคดีโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียน จำนวน 56 แห่ง ในพื้นที่เขตการศึกษาที่ 2 จ.นครราชสีมา ซึ่งส.ส.พรรคพลังประชารัฐรวมอยู่ด้วย 3 รายนั้น นายวรวิทย์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อถามย้ำว่ามีการชี้มูลความผิดแล้วหรือไม่

นายวรวิทย์ กล่าวว่า ขออนุญาตไม่ตอบ เพราะจะเกิดผลกระทบหลายส่วน อย่างไรก็ตามขอให้ใจเย็นๆ รอข้อมูลที่เป็นทางการจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน