หญิงหน่อย ลุยอุดร ร้องให้รัฐบาล แก้ภัยแล้งให้ตรงจุดตามที่แนะ เร่งเยียวยาเกษตกร

วันที่ 2 ส.ค. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายศราวุธ เพชรพนมพร และคณะ ส.ส.อุดรธานี ทั้ง 8 คน เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ ฝนทิ้งช่วงพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง โดยเดินทางไปที่ทุ่งหนองนามน ประตูระบายน้ำห้วยหลวง อ.กุดจับ เพื่อพบปะกับประชาชนในพื้นที่ และดูปัญหาของสภาพทุ่งหนองนามนลดลง จนเห็นสันดอนใกล้สถานีสูบน้ำดิบเพื่อไปผลิตน้ำประปา

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

โดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเสนอความเห็น ซึ่งไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ไม่เป็นไร ยังสามารถทำงานในฐานะ ส.ส. ขอให้ดูแลชาวบ้านที่เลือกทุกคนมา ชาวบ้านประสบปัญหาเรื่องราคายางพาราตกต่ำ ขอให้ผลักดันให้ได้ กก.ละ 60 บาทตามที่หาเสียงไว้ และเมื่อครั้งเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ได้อนุมัติให้ขุดลอกทุ่งหนองนามน แต่การขุดยังไม่เต็มพื้นที่โครงการ ขอให้เร่งขัดทำการขุดลอกให้ครบ เพื่อเป็นน้ำไว้ผลิตน้ำประปา และพัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อน

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้กล่าวทักทายชาวบ้านว่า คิดฮอดหลายเด้อ ตั้งใจเดินทางมาอุดรธานี เพื่อมาเยี่ยมและขอบคุณ ที่เลือกผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย จนเป็น ส.ส.แบบยกจังหวัด แต่จากการนับคะแนนแปลกที่สุดในโลก ต่างประเทศเข้าก็งงกับวิธีการ ยังมีเหตุการณ์บัตรเขย่ง บัตรออกลูก โกงได้โกงไป เที่ยวหน้าชนะให้ขาดไปเลย เราไม่ได้เข้ามาเป็นรัฐบาล แต่ก็จะทำหน้าที่เป็นปากเสียง หลังจาก 4-5 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่ได้รับการเหลียวแล โดยเฉพาะราคาพืชผลการเกษตร

“ตอนมาปราศรัยหาเสียงจำได้ทั้งหมด เราบอกว่าราคายางพารา กก.ละ 60 บาท ทำได้ภายใน 3 เดือน ถ้าเราเป็นรัฐบาลตอนนี้น่าจะ กก.ละ 50 บาทแล้ว วันนี้เราได้ผลักดันให้ตั้งกรรมาธิการราคาสินค้าเกษตร ตอนนี้มีการตั้งขึ้นมาแล้ว ก็จะเข้าไปทำหน้าที่ในส่วนนี้ รวมไปถึงการเดินทางไปทางภาคเหนือ และมาที่อุดรธานี สภาพที่ฝนแล้งมาหลายเดือน พืชผลการเกษตรเสียหาย อุดรธานีอาจจะไม่รุนแรงเหมือนที่อื่น และไม่กี่วันฝนก็ตกลงมา บางพื้นที่เกิดภาวะน้ำท่วม”

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวต่อไปว่า พรรคเพื่อไทยได้จัดแผนจัดการน้ำ รวมทั้งของพื้นที่อุดรธานี เพื่อเตรียมเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ จะไปพูดกับคนที่ชอบพูดอยู่คนเดียว ไม่ฟังคนอื่นเขาพูด ก็จะไปตะโกนให้มาฟังให้ได้ สำหรับการขุดลอกทุ่งหนองนามน จะฝากให้ ส.ส.อุดรธานี เสนอขอรับการสนับสนุนในงบเหลือจ่าย หรืองบปี 63 ตามช่องทางที่มีอยู่ ตอนนี้เรามีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

หลังจากนั้นคุณหญิงสุดารัตน์ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง โดยมีนายวิชัย จาตุรงค์กร ผอ.โครงการฯ บรรยายสรุปความเป็นมาจนถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า มีความจุ 135 ล้าน ลบม. น้ำส่วนใหญ่ใช้เป็นน้ำดิบผลิตประปาให้เมืองอุดรธานี นับตั้งแต่ปี 2555 มีปัญหาน้ำไหลเข้าอ่างฯน้อย น้ำไม่เคยเก็บเต็มอ่าง ยกเว้นปี 2560

สำหรับปี 62 จนถึงขณะนี้มีน้ำอยู่ 28.29 ล้าน ลบม.หรือ 21 เปอร์เซ็นต์ของระดับเก็บกัก แต่สามารถนำน้ำมาใช้ได้ 21.69 ล้าน ลบม.ยังไม่ได้ส่งน้ำให้เกษตรกร คาดว่าจะมีสถานการณ์เหมือนปี 58 ที่ปีนั้นเก็บน้ำได้เพียง 40 ล้าน ลบม. ได้เสนอให้ศึกษาห้วยหลวงตอนกลาง และตอนบน ต่อมาคุณหญิงสุดารัตน์ฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา อุดรธานีเหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ในภาคอีสานและภาคเหนือ คือ แล้งจัด จนข้าวในนาหรือพืชไร่อื่นๆ ยืนต้นตาย

เพิ่งจะมีฝนในสัปดาห์ที่ผ่านมา พอฝนมาบางที่ก็เกิดน้ำท่วม เกิดภัยแล้งยังโดนน้ำท่วมอีก เป็นความยากลำบากของพี่น้องเกษตรกรอย่างยิ่ง อย่างพื้นที่เขื่อนในอุดรธานี ตอนนี้มีน้ำในเขื่อนเพียง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทางชลประทานเองบอกว่า ยังคาดเดาอนาคตไม่ได้ ถ้าฝนตกและเก็บน้ำได้จึงจะสามารถปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรได้ ถ้าตกแล้วไม่เข้าเขื่อนก็ต้องเก็บน้ำสำรองไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค

“ข้อเรียกร้องของเราวันนี้ ถ้าหากรัฐบาลเชื่อตามที่เราเรียกร้องตั้งแต่ 2–3 เดือนแรก คือ การพูดความจริงกับประชาชน พื้นที่ไหนไม่มีน้ำทำการเกษตรให้ก็ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ จ่ายค่าชดเชยไปก่อนเลย ไม่ต้องให้เกษตรกรมาเสียแรง เสียเวลา เสียเงินลงทุนในการปลูกข้าวหรือปลูกพืชพันธุ์อย่างอื่น และเก็บผลผลิตไม่ได้ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ทำตาม จนมาถึงตรงนี้ก็เห็นผลแล้วว่า น้ำเพื่อการเกษตรในภาคอีสานแทบจะไม่มีเลย ได้รับผลกระทบกันเป็นส่วนใหญ่ เราขอเรียกร้องให้เร่งจ่ายเงินชดเชยเรื่องภัยแล้งให้เร็วที่สุด ภายในเดือนสิงหาคมนี้ขอให้จ่ายให้จบ เพราะว่าถ้าเงินมีฝนตกในช่วงปลายปีก็สามารถเอาเงินจำนวนนี้ไปลงทุนผลิตอย่างอื่นได้บ้าง”

คุณหญิงสุดารัตน์ฯ กล่าวต่อไปกว่า นอกจากนี้ มติ ครม.ที่ออกมา เราเห็นว่าเงินชดเชยน้อยมาก อย่างข้าวได้เพียง 1,113 บาท พืชไร่ก็เพียง 1 พันบาทต้นๆ เหมือนกัน พืชสวนประมาณ 1,600 บาท แล้วกำหนดที่ 30 ไร่ ตรง 30 ไร่เราไม่ว่าอะไร แต่เราอยากให้รัฐบาลรู้ความจริงว่า เกษตรกรไม่มีที่ดินเยอะอย่างนั้นแล้ว มีเพียง 5–10 ไร่ ก็เยอะแล้ว

เราอยากเสนอให้เป็นรูปธรรม จ่ายให้เสร็จภายในสิงหาคมนี้ ขยับเพดานการชดเชย อาจจะเป็นขั้นบันได เช่น 5–10 ไร่แรก ข้าวต้องชดเชน 2 พันบาทขึ้นไปเลย เพราะต้นทุนก็เกือบ 3 พันบาทแล้ว นี่ยังไม่ได้รวมค่าปุ๋ยค่ายา “หากเลย 10 ไร่ขึ้นไป อาจจะลดลงเหลือพันกว่าบาทได้ ไม่เช่นนั้นเกษตรกรที่มีที่ดินน้อยก็จะได้น้อย เช่น 5 ไร่ ได้เพียง 5,000 บาท แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าให้เค้าสัก 2,500 บาท เขายังจะได้เงินหมื่นกว่าบาท เขายังเอาไปทำอะไรได้บ้าง ถ้ามี 10 ไร่ ยังได้ 2 หมื่นกว่า ยังได้เป็นทุนไปต่อชีวิต

ขอเรียกร้องในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขอให้รัฐบาลตอบ เราจะให้ ส.ส.ของเราไปถามด้วยว่า จะชดเชยเมื่อไหร่ เพราะถ้าช้ากว่านี้ก็ไม่มีประโยชน์แล้ว เกษตรกรก็เอาไปลงทุนไม่ทัน ในการลงทุนใหม่ถ้าฝนมาจริง ขอให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาภัยแล้ง”

คุณหญิงสุดารัตน์ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ใช่อยู่ว่าตอนนี้ฝนตกแล้ว แต่พืชมันเสียหายไปแล้ว จะอ้างว่าฝนตกแล้วไม่ได้ คุณสำรวจไปแล้วแต่ยังไม่จ่ายเงินเขา ฝนตกแล้วแต่ข้าวที่ตายไปแล้วมันฟื้นคืนใหม่ไม่ได้ ก็จะให้ ส.ส.ไปเร่งรัดในสภาอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 แล้ว


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน