อนาคตใหม่ เผยความจริงอีกด้าน ‘สมคิด’ ไม่ได้พูดวันแถลงนโยบาย 5 ปีคสช.ทำอะไรไว้!

วันที่ 6 ส.ค. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค อนาคตใหม่ กล่าวตอบโต้การ แถลงนโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี “แกะรอยคำพูดรองนายกสมคิด” ระบุแยกเป็นประเด็นว่า

เงินเฟ้อต่ำจนติดลบหลังคสช.

สมคิดพูด : “ก่อนที่ คสช. จะเข้ามาเงินเฟ้อนี่ต่ำกว่า 0 นะครับ ในขณะนั้น มันหมายความว่าชีพจรมันแผ่ว ความมั่นใจทั้งหลายไม่มีเหลือแล้ว”

ข้อเท็จจริง : เหตุการณ์เงินเฟ้อติดลบนั้นเกิดขึ้นในปี 2558 หลังจากที่ คสช. ยึดอำนาจแล้ว มีสาเหตุหนึ่งมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตกต่ำตามต้นทุนการผลิตที่ลดลงอย่างมาก เมื่อราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยการผลิตสำคัญของสินค้าต่างๆ ลดลง ทำให้ราคาสินค้าอื่นๆ ลดลงตาม

อีกส่วนหนึ่งมาจากการที่เศรษฐกิจหลังรัฐประหารฟื้นตัวได้ช้า โตต่ำ ซึ่งอาจหมายความว่าความมั่นใจที่ไม่มีเหลือนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการยึดอำนาจของ คสช.

นักท่องเที่ยวหายเพราะ คสช. ไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก

สมคิดพูด : “นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงประเทศไทยเพราะมันเกิดความไม่ปลอดภัย เพราะประเทศของเขาบอกให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการมาเมืองไทย”

ข้อเท็จจริง : นักท่องเที่ยวหายจริง ตั้งแต่ที่มีการชุมนุมของ กปปส. แต่เมื่อมีการรัฐประหาร ตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้ คสช. ก็ยังไม่สามารถดึงนักท่องเที่ยวให้กลับคืนมาได้ เหตุผลมาจากการประกาศกฎอัยการศึกที่ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปี 2558 ทำให้หลายประเทศออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวไม่ให้เดินทางมาประเทศไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาการใช้จ่ายสูงต่อการเดินทาง

อีกสาเหตุหนึ่งคือบริษัทประกันการท่องเที่ยวจะไม่ขายประกันให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศที่ประกาศกฎอัยการศึก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนักท่องเที่ยวรวมที่ดูเหมือนจะฟื้นเร็วเกิดจากนักท่องเที่ยวจีนที่โตขึ้นถึง 71% แต่นักท่องเที่ยวจีนในเวลานั้นมีการใช้จ่ายต่อการเดินทางต่ำกว่านักท่องเที่ยวจากยุโรปราว 30%

การลงทุนหดหลังรัฐประหาร จากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศและความไม่แน่นอนของนโยบาย

สมคิดพูด : เรื่องของการลงทุนน้อยมาก เพราะว่าใครจะมาลงทุนในขณะนั้น บนถนนมีแต่ม็อบ ความปลอดภัยไม่มี เศรษฐกิจถดถอย

ข้อเท็จจริง : จริงบางส่วน การลงทุนเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ปลายปี 2556 เป็นต้นมา แต่ช่วงหลังรัฐประหาร อัตราการขยายตัวการลงทุน โดยเฉพาะภาคเอกชน ก็ยิ่งตกต่ำลงไปอีก โดยตัวเลขการลงทุนเอกชนในปี 2558 ลดลงกว่าปี 2557 จาก -1% เป็น -2% และยังไม่ฟื้นจนกระทั่งปี 2560

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากเศรษฐกิจชะลอตัว แต่อีกส่วนหนึ่งก็มาจากนโยบายรัฐบาล คสช. ในการส่งเสริมการลงทุนที่ออกมาหลากหลาย แต่ไม่เข้าเป้า ตั้งแต่นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซุปเปอร์คลัสเตอร์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-curve มาจนถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

จนนักลงทุนออกอาการ “รอดูท่าที” ชะลอการลงทุนไว้ก่อน เพราะจะรอว่าแพ็คเกจสิทธิประโยชน์การลงทุนแบบไหนถึงจะได้ประโยชน์กับตัวเองสูงที่สุด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรยังสอบไม่ผ่าน

สมคิดพูด : “(มาตรการช่วยเหลือชาวนา) รัฐบาลที่ผ่านมาใช้วิธีเพิ่มรายได้ให้มันพอดีกับที่เขาคิดว่าน่าจะอยู่ได้ และก็พอมีพอกิน เราไม่รู้ว่าจะเรียกอันนั้นว่าอะไร จำนำยุ้งฉาง หรือท่านจะเรียกยังไงก็ได้ ทุกคนเนี่ยเน้นไปที่ว่าเหตุการณ์เฉพาะหน้า ท่านบอกว่าไม่ได้ช่วยเหลือเนี่ยไม่จริง”

ข้อเท็จจริง : จริงที่รัฐบาลประยุทธ์ 1 ใช้เงินในการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรรวมกันกว่า 500,000 ล้านบาท แต่ในด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรถือว่ารัฐบาล คสช. ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ถ้าเราดูดัชนีรายได้เกษตรกรเปรียบเทียบในปี 2557 และ 2561 แล้ว จะเห็นว่าดัชนีรายได้เกษตรกรรวมทั้งหมดไม่เพียงไม่เพิ่ม แต่กลับลดลง 3% (สวนทางกับทรัพย์สินของเจ้าสัวทั้งหลายและกำไรบริษัทในตลาดหุ้นที่โตขึ้น)

นอกจากนี้ ถ้าเราดูที่ 3 พืชหลักอย่างข้าว ยาง ปาล์ม ที่โอบอุ้มเกษตรกรเกิน 80% ของประเทศนี้เราจะเห็นตัวเลขที่เลวร้ายกว่า โดยรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวลงลงกว่า 35% รายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางลดลง 60% และรายได้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มลดลง 10% มีการออกนโยบายให้เงินจูงใจเกษตรกรย้ายจากปลูกข้าวไปปลูกอ้อย ซึ่งสุดท้ายราคาอ้อยก็ตกต่ำลงกว่า 25%

ที่สำคัญกว่านั้นคือช่วงเวลาในการช่วยเหลือ เฉพาะในช่วงปีก่อนจะมีการเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ใช้เม็ดเงินในการอุดหนุนสินค้าเกษตรสูงกว่าที่ใช้มา 4 ปีก่อนหน้านี้!

รางรถไฟไทยยาว 4,000 กว่ากิโล มานานแล้ว

สมคิดพูด : “เราสร้างรถ ทำถนนให้รถเนี่ยสามสิบสี่สิบปี รถไฟไม่เคยมี มีอยู่แค่ 250 กว่ากิโลเมตร สิบปี แต่รัฐบาลนี้ใช่หรือไม่ เมกะโปรเจกต์มันออกมา ออกมาอย่างน้อยๆ รางคู่ 7 เส้นทางแล้วอย่างน้อย จาก 251 เป็นประมาณ 4,000 กิโลเมตร ภายในเวลา 5 ปี”

ข้อเท็จจริง : นับตั้งแต่ก่อตั้งกรมรถไฟหลวง (รฟล.) จนถึงปี 2557 ประเทศไทยมีระยะทางรถไฟ คิดเป็นความยาว 4,508 กิโลเมตร มีพื้นที่บริการ 47 จังหวัด ทั้งนี้ แบ่งเป็นรางเดี่ยว 93% รางคู่ 4% และรางคู่ที่เป็นทางรถไฟสินค้า 1 ราง 3% ปัจจุบันยังมีความยาวเท่าเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ความจริงท่านรองนายกฯ อาจจำมาผิดว่าหมายถึงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ของประเทศไทยที่มีแผนการสร้างเพิ่มขึ้นในรัฐบาล คสช. จริง ในระยะเร่งด่วนจะสร้างเพิ่มประมาณ 1,200 กิโลเมตร เป็นแผนที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2553 ระยะที่สองอีกประมาณ 1,800 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริม แต่การดำเนินงานเป็นไปอย่างล่าช้า ยังไม่มีโครงการใดที่เสร็จ มีการล้ม TOR กันหลายต่อหลายครั้ง

EEC : การพัฒนาที่ผิดทิศผิดทาง

สมคิดพูด : “อีอีซี ผมเรียนท่านตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า ถ้าท่านไม่มีอีอีซี ท่านจะเอาอะไรไปขาย ไปสู้กับเวียดนาม …… เรามีอะไร ค่าแรงแพงกว่าเขาครึ่งนึง ฉะนั้นอีอีซีมันถึงเกิดขึ้นมา”

ข้อเท็จจริง : อาจจะจริงที่ตอนนี้เราอาจแข่งขันดึงดูดการลงทุนสู้เวียดนามไม่ได้ เพราะต้นทุนของประเทศเราสูงกว่าโดยเฉพาะเรื่องค่าแรง แต่เราควรเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเวียดนามหรือไม่

โจทย์ที่เราใช้ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ หรือลดภาษีและให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้วนั้นเป็นเพราะเราต้องการเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินลงทุน ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และสร้างงาน

ซึ่งประเทศไทยดำเนินการมาได้ประสบผลสำเร็จพอสมควร แต่ก็ทำให้เกิดต้นทุนมหาศาลกับประเทศ ทั้งโดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิแรงงาน

การพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ของประเทศไทยที่เราควรจะเป็นนั้น จึงต้องเป็นการยกระดับเทคโนโลยีในประเทศให้สูงขึ้น พัฒนาทักษะแรงงานให้ดีขึ้น และเป็นการพัฒนาที่มีความยึดโยงกับพื้นฐานและความต้องการภายในประเทศ

โครงการ EEC ของรัฐบาลนี้ที่เน้นการลดแลกแจกแถมนักลงทุน จึงเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ 3.0 ที่เราเคยทำมาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มากกว่าเป็น 4.0 ที่แบบที่รัฐบาลชอบโฆษณา

รถไฟสามสนามบินมีต้นทุนที่เราต้องจ่าย

สมคิดพูด : “อย่างโครงการรถไฟสามสนามบินเนี่ย ที่อีอีซีเนี่ย รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเลย”

ข้อเท็จจริง : โครงการรถไฟฟ้า 3 สนามบินที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับสัมปทาน 50 ปี รัฐบาลต้องจ่ายเงินให้เอกชน 1.17 แสนล้านบาท และเสียที่ดินมักกะสัน และศรีราชาให้เอกชนใช้ประโยชน์อีก 50 ปี ไม่ใช่เอกชนทำให้ฟรีแบบที่รองนายกบิดเบือน

EEC ไม่ก่อมลพิษ? ประชาชนมีส่วนร่วม??

สมคิดพูด : “เมื่อมันมีอีอีซีแล้ว อุตสาหกรรมใหม่เราต้องเกิดขึ้นที่นั่น แต่หลักการก็คือว่า เมื่อเกิดอุตสาหกรรมขึ้นที่นั่น ก็อย่าไปสร้างทำให้มลภาวะเป็นพิษ ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วย”

ข้อเท็จจริง : กระบวนการทำโครงการ EEC ไม่มีการประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ที่เป็นการประเมินว่าพื้นที่ยังสามารถรองรับมลพิษได้เพิ่มขึ้นอีกเท่าใด และประชาชนในพื้นที่จะต้องการหรือไม่ มีการเร่งรัดกระบวนการการทำ EIA และเราได้รับเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

นอกจากนี้ โครงการ EEC ยังขาดระบบที่จะตรวจสอบติดตามการก่อมลภาวะ ไม่ว่าจะเป็น

1. ระบบทำเนียบการปลดปล่อยมลพิษ (PRTR) ที่จะทำให้เรารู้ได้ว่าเขตพื้นที่ไหนสามารถรองรับการปลดปล่อยมลพิษได้เท่าใด และจะตั้งโรงงานได้อีกแค่ไหน

2. การประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบที่จะสามารถเสนอทางเลือก และประเมินผลกระทบทั้งในแง่บวก และแง่ลบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ สำหรับทางเลือกต่างๆ ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

3. กองทุน EIA และกองทุนประกันสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการทำ EIA ที่ไม่เป็นกลางและแก้ปัญหาการติดตามความรับผิดชอบจากเอกชนในการชดเชยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

หนี้ต่อ GDP ไม่สูง ไม่สำคัญเท่าเรามีปัญญาจ่ายคืนหรือไม่

สมคิดพูด : “ตัวหนี้ต่อจีดีพีเท่าไหร่ ทั้งนี้เนี่ย ล่าสุดนี่อยู่แค่สี่สิบสองเปอร์เซนต์ ไม่ได้สูงกว่าในอดีตเลย”

ข้อเท็จจริง : ที่หนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่สูงกว่าสัดส่วนในอดีต เป็นเพราะรัฐบาลเปลี่ยนวิธีวัด GDP ในปี พ.ศ. 2559 จากการวัดแบบคำนวณแบบราคาคงที่เป็นการคำนวณราคาแบบลูกโซ่และยังรวมกิจกรรมเพิ่มเข้าไปใน GDP ทำให้ตัวเลข GDP เพิ่มขึ้นจาก 13 ล้านล้านบาทในปี 2558 เป็น 15 ล้านล้านบาทในปี 2560 โดยที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

ในด้านตัวเลขหนี้สาธารณะในส่วนหนี้ของรัฐบาลซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกู้เงินในการใช้จ่ายงบประมาณมากเท่าไหร่ โดยถ้าเราถ้าเราดูใช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าหนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้นกว่า 37% จากประมาณ 4 ล้านล้านบาท เป็น 5.5 ล้านล้านบาท ในขณะที่ GDP ใน 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตประมาณ 15% (เฉลี่ยปีละ 3%) ดังนั้นจะเห็นว่าหนี้ของรัฐบาลจริงๆ แล้วโตเร็วกว่า GDP

ที่ดิฉันอยากให้เรามองไปไกลกว่านั้นก็คือถ้าเราดูที่หนี้สาธารณะต่อ GDP จะเป็นภาพลวงตาว่ารัฐบาลสามารถก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ โดยมองไม่เห็นภาระงบประมาณในการใช้คืนหนี้ที่มากขึ้นทุกปี เพราะทุก GDP ที่เติบโตขึ้นไม่ได้แปลว่ารายได้รัฐบาลจะโตขึ้นมากเท่ากับการเจริญเติบโตของ GDP

การก่อหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หมายถึงการที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณเพื่อใช้คืนหนี้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งปี 2562 รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยและใช้คืนเงินต้นรวมกันมากกว่า 2.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 5 ปีที่แล้วประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น การก่อหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบที่เป็นอยู่นั้นในระยะยาวจึงอาจเกิดเป์นปัญหาทางการคลังในอนาคตได้

เลิกดูตัวเลขยอดลงทุน แต่หันมาโฟกัสว่าประชาชนจะได้อะไรดีกว่า

สมคิดพูด : “ท่านบอกว่าลงทุนไม่ดี ตัวเลขมันออกมา ปีแรกที่เข้ามาเนี่ย มีเงินเข้ามาขอ apply นะครับ ประมาณ 200,000 ล้าน วันนี้ล่าสุดประมาณ 880,000 ล้าน มูลค่าสี่ห้าปีที่ผ่านมา มันเกือบ 3.3 ล้านล้านบาทนะครับ”

ข้อเท็จจริง : ตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุน ไม่ได้สะท้อนว่าจะได้เม็ดเงินลงทุนตามนั้น และไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดการลงทุนจริงเมื่อไหร่ ที่น่าตั้งคำถามมากกว่าก็คือเงินที่รัฐบาลใช้ในการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนนั้นเกิดประโยชน์กับประเทศมากน้อยแค่ไหนและการส่งเสริมการลงทุนเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนอยากมาลงทุนในประเทศมากเพียงใด

สิ่งเหล่านี้เราต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าการลงส่งเสริมการลงทุนนั้นดีต่อประเทศจริงหรือเป็นเพียงมายาคติที่เราถูกสอนให้ท่องต่อๆ กันมา

ตลาดหุ้นไทยแข็งแรง จ่ายปันผลดี เพราะไม่ลงทุน

สมคิดพูด : “ตลาดหุ้นของคุณ ใหญ่เป็นที่สองของอาเซียน แต่เป็นตลาดหุ้นที่แข็งแรงมากๆ จ่ายปันผลดี การเมืองนิ่ง การเป็น Safe Haven ของนักลงทุนต่างประเทศ”

ข้อเท็จจริง : 1. ตลาดหุ้นไทยแข็งแกร่งจริง เมื่อพิจารณาจากกำไรของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า 5 ปีที่ผ่านมา กำไรเพิ่มขึ้น 33% โตเร็วกว่า GDP ในขณะที่ค่าแรง รายได้เกษตรกรแทบไม่ขึ้น ที่เอกชนจ่ายปันผลเยอะเพราะเอกชนไม่ลงทุน โดยเฉพาะลงทุนในประเทศ เมื่อบริษัทมีผลกำไรในแต่ละปี ก็จะเลือกว่าจะจ่ายคืนเป็นเงินปันผล หรือจะนำไปลงทุนเมื่อมีโอกาส

ช่วงปี 2553-2559 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยมีการจ่ายปันผล 45 บาท ทุกรายได้สุทธิ 100 บาท แต่การลงทุนภาคเอกชนโตเพียง 5% ในขณะที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียมีการจ่ายปันผลสูงถึง 48% แต่การลงทุนภาคเอกชนโตสูงถึง 12% ฟิลิปปินส์จ่ายปันผล 37% ของรายได้สุทธิ แต่การเติบโตการลงทุนภาคเอกชนสูง 12% ในช่วงเวลาเดียวกัน [1]

2. การเป็น Safe Haven คือการเป็นแหล่งพักเงินของนักลงทุนต่างชาติ ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อนักลงทุนเอาเงินมาพักจากการเก็งกำไร ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินความจำเป็น

ธุรกิจไทยรายใหญ่ ไม่ได้โตจากการแข่งขัน

สมคิดพูด : คนรวยเนี่ยมันรวยอยู่แล้ว ไอ้ที่มีชื่อเหล่านี้เนี่ยนะ ธุรกิจเขาเกินกว่าเมืองไทยไปนานแล้ว เซ็นทรัลรวยขนาดนี้เพราะอะไร เขาไปทำไปซื้อแม้กระทั่งที่อิตาลี อีกหลายประเทศทีเดียว เขารู้จักใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ทางการเงิน ไปสู่จุดนั้น ซีพีไปถึงไหนแล้ว กลุ่มไทยเบฟไปถึงไหนแล้ว

ข้อเท็จจริง : ธุรกิจที่ ดร.สมคิดกล่าวถึงนั้นล้วนแต่เป็นบริษัทที่สะสมความมั่งคั่งจากการได้สัมปทานของรัฐ การใช้อำนาจเหนือตลาด หรือเติบโตจากการแข่งขันในประเทศ

อย่างเซ็นทรัลซึ่งทำธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นตลาดที่ไม่ต้องแข่งกับใครมากนักโดยเฉพาะตลาดค้าปลีกในประเทศ ธุรกิจซีพี และไทยเบฟ มีธุรกิจที่ทำเงินหลักเป็นธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในประเทศ กล่าวคือ ร้านสะดวกซื้อ ปุ๋ย และเมล็ดพันธ์

รวมถึงได้รับสัมปทานจากรัฐ เช่น โครงข่ายบริการมือถือ สำหรับซีพี และธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับไทยเบฟ (ไทยเบฟครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 81% ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดในประเทศ – จากการที่กฎระเบียบของรัฐเอื้อให้เกิดการผูกขาด)

ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีอำนาจเหนือตลาด มีอำนาจควบคุมทั้งห่วงโซ่มูลค่าและแสวงหาค่าเช่าจากระบบเศรษฐกิจไทย การที่ธุรกิจเหล่านี้ออกไปลงทุนในต่างประเทศจึงเสมือนหนึ่งว่าเป็นการสูบเงินจากกระเป๋าคนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ

เมื่อโครงการประชารัฐชื่นมื่นกับเอกชน แล้วผลประโยชน์ของเราจะเหลืออะไร?

สมคิดพูด : เรามีหน้าที่ประเภทว่าจะเอาเขามาทำงานให้คนจนได้ยังไง นโยบายพลังประชารัฐเนี่ย แต่เดิมที่ผมใช้คำว่าประชารัฐเพราะว่า ประเทศไทยนั้นเนี่ยมันต้องสามกลุ่ม ประชาชน เอกชน ภาครัฐ ฉะนั้น เราก็เอาเขามาช่วย พ่อไม่มาช่วย เอาลูกมาช่วย ท่านก็ว่าเขา แล้วท่านไม่ต้องทำอะไรเลยนะ

ข้อเท็จจริง : บริษัทที่ท่านบอกว่ามาช่วยคนจนล้วนแต่ได้ดีลดีๆ จากรัฐบาล เช่น ม.44 ยืดหนี้สัมปทานมือถือ หรือโครงการรถไฟฟ้า 3 สนามบิน

โครงการอย่างประชารัฐที่เป็นการดึงภาคเอกชนเข้ามาเป็นภาคีร่วมงานกับภาครัฐ หรือในทางทฤษฎีเรียกว่า Corporatism นั้น โดยตัวมันเองไม่ใช่สิ่งผิด แต่การร่วมเป็นภาคีกันระหว่างภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ๆ กับรัฐบาลนั้น จำเป็นต้องมีการติดตามตรวจสอบมากเป็นพิเศษ เพราะธุรกิจใหญ่จำนวนมากว่าได้รับผลประโยชน์ หรือได้รับการเอื้อประโยชน์จากภาครัฐหรือไม่

ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้มีอำนาจรัฐและบริษัทเอกชนอาจทำให้ภาครัฐออกมาตรการบางอย่างเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางราย โดยเฉพาะเอกชนที่มีความใกล้ชิดหรือร่วมเป็นภาคีกับรัฐบาลได้ประโยชน์ บนต้นทุนของประชาชน เช่น การได้รับสัมปทาน จากรัฐ หรือการที่ภาครัฐออกกฎระเบียบบางอย่างที่ไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขันสำหรับธุรกิจ

ตัวอย่างของการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์เอกชนบางรายได้แก่การใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ม.44 เพื่อยืดหนี้ค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือโดยไม่คิดดอกเบี้ย กรณียกเว้นการประมูลในการต่อสัญญาสัมปทานที่ดินศูนย์ประชุมสิริกิติ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน