‘บิ๊กป้อม’นำทัพ-ฝ่ายค้านก็เริ่มป่วน

‘บิ๊กป้อม’นำทัพ-ฝ่ายค้านก็เริ่มป่วน : รายงานการเมือง – เลือกตั้ง 24 มีนาคมผ่านมา 5 เดือนเต็ม

สถานการณ์โดยรวมการเมืองยังเกิดปัญหาแทบทุกจุด ทั้งปัญหาที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าต้องเกิด และปัญหาที่งอกขึ้นมาใหม่รายวันระหว่างทาง ไม่ว่ากับฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ

รัฐบาลเรือเหล็กผสม 19 พรรคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เครื่องยนต์ยังติดๆ ดับๆ เดินหน้าได้ไม่เต็มสูบ ซึ่งหากมองลึกลงไปก็จะพบปัญหาที่เกิดกับรัฐบาล ล้วนเกิดจากคนในรัฐบาลก่อขึ้นมาเองเสียเป็นส่วนใหญ่

โดยมีฝ่ายค้านทำหน้าที่ต่อยอด นำข้อผิดพลาดรัฐบาลมาขยายผล ไม่ต้องออกแรงมากก็สามารถเขย่าเรือเหล็กปริ่มน้ำจนโคลงไปเคลงมา จนหลายคนในรัฐบาลเริ่มออกอาการไม่แน่ใจ “แป๊ะคนเดิม” จะนำพารัฐนาวาไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ยังเป็นปัญหาคาราคาซัง มาถึงจุดที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ผู้แทนราษฎรและนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา เปิดไฟเขียว

บรรจุญัตติ 7 พรรคฝ่ายค้านในการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตาม รัฐธรรมนูญ แล้วเรียบร้อย

ส่วนวันเวลาอภิปราย เบื้องต้นกำหนดคร่าวๆ ในราวต้นเดือนกันยายน เนื่องจากช่วงปลายเดือนสิงหาคมมีการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ อาจทำให้รัฐบาลไม่มีความพร้อมมาตอบญัตติของฝ่ายค้าน

โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเกี่ยวข้องรับผิดชอบโดยตรงในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้กล่าวนำถวายสัตย์ จำเป็นต้องมาตอบคำถามชี้แจงเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ถึงแม้ในทางปฏิบัติสามารถมอบหมายให้รัฐมนตรี หรือผู้รู้คนอื่นๆ ตอบแทนได้

แต่ฝ่ายค้านเห็นว่าถ้าพล.อ.ประยุทธ์ เสียสละเวลามาตอบสภาเองดีที่สุด เรื่องจะได้เคลียร์จบกันไป รัฐบาลเดินหน้าทำงานบริหารประเทศโดยไม่ต้องรู้สึกผิดในใจ ไม่ต้องคอยสับขาหลบหนีปัญหา ประชาชนก็จะเกิดความเชื่อมั่น

เพราะเอาเข้าจริงๆ ฝ่ายค้านบอกแล้วว่า ไม่ต้องการนำกรณีถวายสัตย์มาล้มนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล

แต่ที่ต้องยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 เนื่องจากยื่นกระทู้ถามสดไปแล้วถึง 3 ครั้งในรอบ 3 สัปดาห์ แต่ไม่เป็นผล

นายกฯไม่มาตอบ ทั้งที่ปากบอกว่าไม่กลัวสภา

ที่เหมือนเป็นแสงส่องทางออกให้รัฐบาล

คือการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเตรียมนำเรื่อง การถวายสัตย์เข้าหาข้อสรุปในที่ประชุมวันอังคาร 27 ส.ค. ว่าจะมีความเห็นอย่างไร ยุติเรื่อง หรือส่งให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

คำตอบของผู้ตรวจการแผ่นดิน เชื่อว่านายกฯ และรัฐบาลจะหยิบนำมาใช้ชี้แจงฝ่ายค้านในสภา ส่วนชี้แจงแล้วจะจบ หรือยิ่งเพิ่มความคลางแคลงใจให้สังคม ลุกลามไปถึงองค์กรอิสระด้วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องเฝ้าติดตามต่อไป

รวมถึงกรณีการแถลงนโยบายรัฐบาล การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงกรณีคุณสมบัติของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ล้วนแต่เป็นประเด็นใหญ่ที่มีผู้ยื่นให้องค์กรศาลและองค์กรอิสระตรวจสอบ อยู่ระหว่างรอผลวินิจฉัยชี้ขาดอีกเช่นกัน

ในจังหวะที่รัฐบาลสะดุดขาตัวเองหลายเรื่อง ส่งผลให้สถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนนำ รวมถึงบรรดาพรรคร่วมต่างๆ ระส่ำระสายไปด้วย

ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการที่ส.ส.รัฐบาลแพ้โหวต ฝ่ายค้านในสภาสองครั้งสองครา ถึงเป็นเรื่องร่างข้อบังคับ การประชุมสภา แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นสัญญาณอันตราย ของรัฐบาล หากคิดไปถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบ ประมาณฯ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอนาคต

เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม สกัดไม่ให้ปัญหาในพรรคตีกลับจนกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่รับตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในทางการเมืองถือว่าคือหัวหน้าพรรคตัวจริงเสียงจริง

ในการเข้าร่วมประชุมส.ส.พรรคครั้งแรกเมื่อ วันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร เปิดเผยถึงจุดประสงค์ในการเข้ารับตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค เพราะต้องการทำให้พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมอื่นๆ ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว มีความเข้มแข็ง เป็นตัวเชื่อมประชาชนเข้ากับพรรค และรัฐบาล

พร้อมประกาศรัฐบาลชุดนี้จะอยู่ครบ 4 ปี ในการ เลือกตั้งอีก 4 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าอย่างน้อยพรรคพลังประชารัฐต้องได้ส.ส.มากกว่า 116 คนที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ที่หวังไว้จริงๆ คือได้เกินครึ่งสภา

“ถือเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่ได้รับ เกียรติจากพล.อ.ประวิตร ที่มาเป็นสมาชิกพรรคเต็มตัวและ ให้ความกรุณามาเป็นประธานยุทธ ศาสตร์พรรค เมื่อพล.อ.ประวิตร มาช่วยชี้แนะและเดินทางไปกับเรา เราอุ่นใจมากขึ้นเป็นพันเท่า” นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลัง ประชารัฐ กล่าว

การมาของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เบื้องต้นน่าจะสร้างขวัญกำลังใจให้แกนนำและสมาชิกพรรคได้ไม่น้อย แต่โดยโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐที่อุดมไปด้วยนักการเมืองหลากหลายสายพันธุ์ ก็ต้องรอดูว่าสุดท้ายแล้วผู้มากบารมีอย่างพล.อ.ประวิตร จะเอาอยู่หรือไม่

‘บิ๊กป้อม’นำทัพ ฝ่ายค้านก็เริ่มป่วน

กรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.ที่ข้ามถิ่นไปก่อเรื่องก่อราวกับตำรวจภูเก็ต และกรณี 5 รัฐมนตรียื้อควบเก้าอี้ไม่ยอมลาออกจากส.ส. เป็นบททดสอบด่านแรกว่าจะบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร

ขณะที่สถานการณ์พรรคฝ่ายค้าน ล่าสุดถึงแม้นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา อย่างเป็นทางการ แต่ ก็ยังมีความวุ่นวายปรากฏให้เห็น

ไม่ว่าจะกรณีส.ส.ในพรรคเพื่อไทยยื่นสอบสวน กันเอง กรณี 3 ส.ส.สุรินทร์ไปรุมล้อมร่วมต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างลงตรวจพื้นที่แก้ปัญหาภัยแล้ง พูดจาเอาอกเอาใจเชียร์ให้อยู่เป็นนายกฯ 4 ปี อย่ายุบสภา และแสดงความไม่เห็นด้วยกับที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายรัฐบาล

หรือกรณีส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 จาก 6 คนมีข่าวเตรียมแหกค่ายย้ายขั้วไปอยู่กับรัฐบาล จนกระทั่งนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แกนนำพรรคต้องนำทีมออกมาแถลงปฏิเสธ ยืนยันข่าวที่ออกมา ไม่เป็นความจริง ไม่มีใครแตกแถว เวลาจะเป็น เครื่องพิสูจน์ว่าเราทั้ง 6 คน จะรักษาคำพูดหรือไม่

จะอย่างไรก็ตามทั้ง 2 กรณีสะท้อนได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือกระทั่งภายในพรรคเพื่อไทย ที่เคยประกาศอุดมการณ์ อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ต่อต้านฝ่ายเผด็จการสืบทอดอำนาจแบบสุดลิ่มทิ่มประตู

แต่เมื่อถูกยั่วยวนจากฝ่ายรัฐบาลเรื่องงบ ประมาณเงินๆ ทองๆ อุดมการณ์จากเข้มแข็งก็กลายเป็นอ่อนยวบ ภายใน 7 พรรคฝ่ายค้านเริ่มปรากฏช่องโหว่ ให้ฝ่ายรัฐบาลเจาะทะลุทะลวงเข้ามาได้เหมือนกัน

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พล.อ.ประวิตร จะมั่นใจว่ารัฐบาลจะอยู่ไปจนครบเทอม 4 ปี และทำไมพล.อ.ประยุทธ์ ถึงกล้าประกาศ “ผมไม่ลาออกแน่นอน ไม่มีลาออก เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมเหมือนกระท้อน ยิ่งทุบ ยิ่งตี ยิ่งอร่อย ยิ่งหวาน ผมชอบ”

เป็นความมั่นใจของฝ่ายรัฐบาลที่เชื่อว่าจุดอ่อนฝ่ายค้านก็มีอยู่เช่นกัน

…อ่าน…

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน