ปชป. ลั่นต้องสู้ อย่าให้อเมริกา ใช้ ‘จีเอสพี’ ต่อรองผลประโยชน์ แนะเจรจาอย่างมีศักดิ์ศรี

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานคณะกรรมการการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริการะงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กับสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งถูกมองว่าอาจเกี่ยวข้องกับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิดในภาคเกษตร

โดยระบุว่า ตนติดตามข่าวที่ทางสหรัฐฯ ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลไทย เพื่อขอให้ทบทวนการห้ามใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในภาคการเกษตร และท่าทีเกี่ยวกับการตัดสิทธิจีเอสพีที่ให้ไทย โดยอ้างอิงถึงการยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งต้องถือเป็นประเด็นที่อ่อนมาก แต่เรื่องนี้ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะเกี่ยวกับกติการะหว่างประเทศ ภายใต้องค์การการค้าโลก และความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

“ผมมีข้อสังเกตว่าการที่สหรัฐฯ แถลงท่าทีทั้ง 2 เรื่องนี้ในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ทำให้ทุกคนเข้าใจได้ว่ามาจากสาเหตุเดียวกัน คือการแบน 3 สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร แม้ผมทราบว่า สิทธิจีเอสพีมีการทบทวนทุกปี แต่ปัญหาเรื่องสิทธิแรงงานในไทย สหรัฐฯ ควรชี้แจงเองว่าอะไรเป็นอะไร ส่วนไทยไม่ต้องอธิบายแทนเขา แต่ควรแก้ปัญหาโดยอ้างอิงถึงภาระผูกพันและสิทธิของไทยในการดำเนินการในแต่ละเรื่อง ตามกติกาสากลและข้อตกลงทวิภาคีกับสหรัฐฯ”

นายเกียรติ ระบุอีกว่า การดูแลความเป็นอยู่ของเกษตรกรและการนำเข้าสินค้าที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคในประเทศ ก็เป็นสิทธิโดยชอบของทุกประเทศและประเทศไทยด้วย แต่ต้องแยกแยะเหตุผลของการดำเนินการ 2 เรื่องนี้ เพราะเงื่อนไขและข้อกำหนดของแต่ละเรื่องมีความแตกต่างกัน อีกทั้ง การนำเข้าสินค้าประเภทอาหารหรือวัตถุดิบการเกษตรเพื่อใช้ผลิตอาหารนั้น ก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร (CODEX) ภายใต้ข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก ซึ่งถ้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นำเข้าจากสหรัฐฯ มีสารปนเปื้อนตกค้างเกินมาตรฐานสากล แต่ละประเทศมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้น

อีกทั้ง ไทยต้องตรวจสอบตัวเลขผลกระทบทางการค้าที่อ้างอิงการตัดจีเอสพีให้ชัดเจน แม้จีเอสพีเป็นการให้เป็นพิเศษโดยสหรัฐฯ แต่ไทยต้องต่อสู้ไม่ให้สหรัฐฯ ใช้จีเอสพีเป็นเงื่อนไขต่อรองผลประโยชน์ในเรื่องที่ขัดต่อกติกาสากล และเจตนารมณ์ของการให้จีเอสพี รวมถึงรัฐบาลควรมีคำตอบที่ดีพอต่อเกษตรกรว่าเมื่อแบน 3 สารเคมีนี้แล้วว่าทางออกของเกษตรกรที่ไม่เป็นภาระจนเกินไปคืออะไร ซึ่งคงต้องดูการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตของภาคการเกษตรทั้งหมด และการทบทวนภาษีนำเข้าซึ่งสำหรับภาคเกษตรควรปรับลดเป็นศูนย์ทั้งหมด

นายเกียรติ บอกอีกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลต้องบริหารจัดการในเชิงรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่อนหนังสือไปทั่วของนายเท็ด แมคคินนีย์ ปลัดกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ โดยไม่ดูตำแหน่งของผู้ส่งและผู้รับ ซึ่งถือว่าผิดมารยาททางการทูตอย่างร้ายแรง และควรเปิดเผยประวัติความเป็นมาของนายแมคคินนีย์ที่อาจมองได้ว่าเป็นเหตุจูงใจให้เขียนจดหมายมาถึงนายกรัฐมนตรีของไทย

“ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในประเทศไทย มีมากมายมหาศาลกว่าเรื่องการส่งออกสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ และจีเอสพี ที่สำคัญ การจะนำเรื่องใดมาเจรจาต่อรองทำความเข้าใจกัน ถ้าเราสามารถชี้ให้เห็นว่าเรารู้ทันในการเดินเกมของเขา เขาก็ถอย แต่เราต้องเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ อย่างมีศักดิ์ศรี หากประเทศใดมีการบิดเบือนข้อตกลงหรือกติการะหว่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง นั่นแหละครับคือจุดอ่อนของเขาที่เราเองต้องจี้ให้ถูกจุด และหากสหรัฐฯยังไม่รู้จักลดราวาศอกในเรื่องนี้ ก็เท่ากับว่าสหรัฐกำลังผลักให้มิตรประเทศไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นนั่นเอง น่าทบทวนนะ”นายเกียรติ ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน