6 ปีรัฐประหาร

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

6 ปีรัฐประหาร – การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลข้างเคียงให้เจ้าหน้าที่รัฐมีเครื่องมือสำหรับป้องกันการชุมนุมด้วย ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคม หลังจากผ่านวาระครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่มีผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปทยอยตกเป็นเหยื่อสังหารและบาดเจ็บ ล่วงมาถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในอีกรูปแบบหนึ่ง

เป็นวาระครบรอบรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

เหตุรัฐประหาร 22 พ.ค. ไม่มีผู้บาดเจ็บล้มตายเหมือนการสลายผู้ชุมนุมนปช.เมื่อปี 2553 แต่เป็นความรุนแรงต่อประชาธิปไตยที่ฉกชิงสิทธิเสรีภาพของประชาชน

หลังการต่อสู้เมื่อปี 2553 เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ต่อต้านฝ่ายถือครองอำนาจ

การแสวงหาความชอบธรรมจากการยึดอำนาจวันที่ 22 พ.ค. ยังคงมีมาถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลเพื่อทำให้ประเทศสงบเรียบร้อยและเดินหน้าไปได้

ความสงบเรียบร้อยดังกล่าวมาพร้อมกับการยอมจำนนและจำทนของคนจำนวนมาก และความอิ่มเอมใจของคนอีกจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนอำนาจนิยม ทำให้พัฒนาการประชาธิปไตย ถูกบีบให้เดินตามทางที่มีผู้กำหนด

สิ่งที่เห็นเด่นชัดที่สุดเรื่องหนึ่งคือการมีวุฒิสมาชิก 250 คน ล้วนมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อีกทั้งมีอำนาจเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ

ส่วนเรื่องน่าวิตกที่สุดเรื่องหนึ่งคือการใช้กฎหมายเป็นตัวควบคุมและจัดการกับบุคคลและคณะบุคคลที่เห็นตรงข้ามกับฝ่ายที่มีอำนาจ

ซ้ำเติมลงไปยังภาวะยอมจำนนและจำทนของประชาชน

ไม่เฉพาะภาวะจำทนเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นหลังเหตุรัฐประหารอันน่าคับข้องใจ เป็นคดีที่นักเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารหลายคนถูกทำร้ายร่างกายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เจ้าหน้าที่ไม่อาจค้นหาตัวผู้กระทำมาดำเนินคดี

เช่นเดียวกับคดีที่ประชาชนและผู้ชุมนุมตกเป็นเหยื่อสังหารในเหตุการณ์เดือนเมษาฯ และพฤษภาฯ 2553 ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ อีก

โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์รัฐประหารที่กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม

พร้อมกับความคับข้องใจที่พอกพูนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน