3 อดีตสปท.ที่เพิ่งไขก๊อกเริ่มขยับทางการเมือง ผนึกพรรคเล็กหวังยกระดับให้เป็นพรรคขนาดกลาง “ธวัชชัย”สมุทรสาครหรือบิ๊กเยิ้ม-สุชาติ จันทรโชติกุล-สมพงษ์ สระกวี”จ่อรวมพรรคมาตุภูมิ-ทวงคืนผืนป่า พร้อมเตรียมขายฝันกับพรรคชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนา แกนนำยังกั๊กตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน “บิ๊กตู่”เป็นนายกฯ อ้างเป็นเรื่องอนาคต มีชัยท้ากกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระ เตรียมขัดเกลาคำนิยมไพรมารี่โหวตให้ง่ายเพื่อจะไม่เป็นปัญหาในการบังคับใช้ “ปู”ขึ้นศาลอีกนัดที่ 14 ฟังการไต่สวนพยานคดีจำนำข้าว ทนายวิญญัติยื่นจี้อัยการสูงสุดคดี 58 แกนนำกปปส.ปิดสถานที่ราชการ ให้เวลา 30 วันขอทราบผล ถ้าไม่ดำเนินการเตรียมร้องป.ป.ช.เชือด

สำนักนายกฯ ทำบุญตั้งครบ 85 ปี

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรี ครบรอบปีที่ 85 โดยมีนายจิระชัย มูลทองโร่ย ปลัดประจำสำนักนายกฯ และข้าราชการเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้ว สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวให้พรแก่นายกฯ คณะรัฐมนตรี ข้าราชการสำนักนายกฯ พร้อมประพรมน้ำพระพุทธมนต์ โดยกล่าวว่า ขอให้ทั่วถึงทุกคน เพราะเป็นสิ่งที่คาดหวังว่าจะนำมาซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ แต่การได้น้ำมนต์ไม่ใช่ว่าจะได้ความศักดิ์สิทธิ์ แต่ต้องทำและสร้างให้เกิดขึ้นเอง น้ำพระพุทธมนต์ตามโบราณปฏิบัติกันมา บางคนอาจตำหนิโดยไม่นึกถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงว่าน้ำมีคุณลักษณะพิเศษมาจากที่ไหนก็ตาม เมื่อมารวมกันอยู่ในที่เดียวกัน จะไม่สามารถแยกได้ว่ามาจากที่ใด เป็นคติเตือนใจเรื่องความสามัคคี ทำอะไรขอให้ร่วมมือกัน ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น นั่นคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

“แต่ความกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวนั้น เป็นของที่เกิดขึ้นยาก ทุกอย่างมีบวกและลบ ส่วนมากคนจะมองในทางลบ จึงขอให้ทุกคนตั้งใจแก้ลบให้เป็นบวก หมายถึงสิ่งใดขัดกับความคิดของตัวเองก็ต้องพิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ทำสิ่งที่ลบให้เป็นบวก ด้วยการเสียสละประโยชน์ส่วนตนและความสุขส่วนตน ความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แม้จะพูดง่ายแต่ก็ทำยาก เพราะเรายังคบกับมิตรชั่วจนสนิท ซึ่งมิตรชั่ว นั่นก็คือกิเลสในใจและความโลภของตนเอง ซึ่งอยู่ในตัวเราทุกคน ฉะนั้นต้องเริ่มจากการแก้ไขตัวเราก่อน แล้วน้ำมนต์ก็จะศักดิ์สิทธิ์” สมเด็จพระวันรัต กล่าว

ตู่ยันทำงานเต็มที่-ถูกบิดเบือน

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวมอบโอวาทให้คณะผู้บริหารข้าราชการ ตอนหนึ่งว่า ในปีที่ 85 ขอให้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นใหม่ของประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล ขอให้ข้าราชการทุกคนช่วยกันทำเพื่อประเทศ ทุกอย่างจะเริ่มไม่ได้ถ้าไม่เริ่มต้นที่ตัวเอง ทุกคนจึงต้องเริ่มก่อน ส่วนในปีที่ 86 หรือปีต่อๆ ไป ทุกคนจะต้องคาดหวังให้เกิดสิ่งที่ดีๆ ขึ้น และขอให้ผู้บังคับบัญชาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา รับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ทำงานผสมกลมกลืนระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ขอให้ยึดกฎหมาย คิดใหม่ทำใหม่ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด และช่วยกันแนะนำคนไทยให้หันหน้าพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล เพื่ออนาคตของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าจะทำทุกอย่างเต็มที่ แม้จะถูกบิดเบือนการทำงาน และมีคนไม่พอใจ ก็จะอดทนและพยายามต่อไป เชื่อว่าทุกคนอยากให้ประเทศปลอดภัยและ ดีขึ้น จึงต้องร่วมมือกัน ซึ่งสมเด็จพระวันรัตให้พรและแนะนำว่าให้นำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นมาคิดด้วย ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาตนรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ มาคิดและหาวิธีการซึ่งอาจจะไม่ดี 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ใช่เลว 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างทำเพื่อส่วนรวม

หวังรัฐบาลหน้ามีธรรมาภิบาล

“การเป็นข้าราชการที่ดีนั้น นอกจากมีศีล สมาธิและปัญญาแล้ว ต้องยึดหลักหิริโอตตัปปะ คือการละอายและเกรงกลัวต่อบาป ต่อไปขอให้กำหนดเป้าหมายในการทำงาน ให้ผลงานออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด คำนึงถึงประชาชน ที่สำคัญการจัดพิธีการ หากสมควรลดลงก็ให้ทำและนำงบประมาณไปสนับสนุนเครื่องมือในการทำงานมากกว่า และขอให้ทุกคนช่วยกันลดความขัดแย้งในหน่วยงาน ผมขออวยพรให้ทุกคนที่ทำงาน อยู่รอดปลอดภัย ไม่มีคดีความติดตัวเหมือนกับที่ผมกำลังจะโดนซึ่งมีมากมายในขณะนี้ แต่ไม่เป็นไร สู้ได้สบายมาก ขอให้ฟ้องกันไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้นอกจากเป็นวันคล้ายวันสถาปนาสำนักนายกฯ ปีที่ 85 แล้วยังเป็น 85 ปีของประชาธิปไตยไทย แม้จะมีอย่างตนเข้ามาบ้าง แต่ก็ยังเป็นประชา ธิปไตย เพราะใช้ระบบการบริหารที่เป็นหลักประชาธิปไตยเป็นส่วนใหญ่ในช่วงพิเศษนี้ ยังมีกระทรวง ทบวง กรม เหมือนเดิมที่ทำงานตลอด และถือว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด ทั้งนี้ ตนอยากให้วันที่ 24 มิ.ย. เป็นการเริ่มต้นประชาธิปไตยที่เป็นธรรมาภิบาลได้หรือไม่ เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็ควรเป็นประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนี้ถ้าไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกก็ต้องสร้างกันตั้งแต่วันนี้ ให้เป็นประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาลจากการเลือกตั้งครั้งต่อไป นี่คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยที่จะนำไปสู่การมีธรรมาภิบาลจริงๆ

กลับมาออกกำลังกลางแจ้งอีก

เวลา 15.30 น. ที่สนามหญ้าหน้าตึกไทย คู่ฟ้า พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วยคณะทำงาน นำข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล ออกกำลังกายประจำสัปดาห์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นำออกกำลัง เริ่มด้วยการเต้นแอโรบิก 20 นาที และหลังการออกกำลังกาย นายกฯ ได้โบกมือทักทาย และพูดคุยสอบถามกับเจ้าหน้าที่ และข้าราชการว่า “ร้อนหรือเปล่า” ก่อนจะร่วมถ่ายรูปเซลฟี่กับผู้ที่มาร่วมออกกำลังกาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การออกกำลังกายที่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้าในวันนี้ของนายกฯ เป็นการกลับมาออกกำลังกายกลางแจ้งอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ 3 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.) นายกฯ ให้ออกกำลังกายในตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากอากาศร้อนอบอ้าว หวั่นว่าจะมีคนเป็นลมแดด หรือฮีตสโตรก

สมชัยโวยอีกกรธ.สองมาตรฐาน

วันเดียวกัน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงการเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระว่า สองมาตรฐานเริ่มปรากฏ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กำลังถูก เซ็ตซีโร่เป็นหน่วยงานที่สอง แต่ให้โอกาสกรรมการชุดปัจจุบันกลับมาสมัครได้ ขณะที่ กกต.ถูกเซ็ตซีโร่ กรรมการชุดปัจจุบันไม่สามารถกลับมาสมัครได้อีก ด้วยเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญระบุให้บุคคลที่เป็นองค์กรอิสระมาแล้วไม่สามารถสมัครองค์กรอิสระใดๆได้อีก แต่เหตุผลที่กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกสม. ยกมาคือ กสม.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มิใช่องค์กรอิสระ จึงกลับมาสมัครได้ ไม่เหมือนกกต.ที่เป็นองค์กรอิสระ จึงไม่สามารถกลับมาสมัครได้อีก

นายสมชัยกล่าวว่า กรธ.ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ อาจลืมเปิดรัฐธรรมนูญดูว่าในหมวดที่ 12 องค์กรอิสระ ส่วนที่ 6 กสม. ซึ่งเป็นการยืนยันว่า กสม.เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การอ้างว่ากสม. มิใช่องค์กรอิสระ อาจเป็นการอ้างที่ฟั่นเฟือน อีกทั้งการดำรงตำแหน่งของ กสม.ชุดปัจจุบัน เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งขณะนั้นมีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ในวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้ กสม.ชุดปัจจุบันมีสถานะเป็นองค์กรอิสระเต็มตัวแล้ว จึงไม่มีเหตุผลมายกเว้นให้สิทธิกลับมาสมัครได้ ถือเป็นการร่างกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

นายสมชัยกล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว จะเข้าที่ประชุมสนช.ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เชื่อว่าหากผ่านสนช. จะเป็นกฎหมายที่มีปัญหาถึงขั้นการนำสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่งอย่างแน่นอน ยังไม่นับองค์กรที่เหลือ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ และป.ป.ช.จะมีอีกกี่มาตรฐาน

“มีชัย”ท้ายื่นศาลรธน.-ตีความ

ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวยืนยันว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กรธ.ได้รับรองให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระแล้ว จึงไม่สามารถกลับเข้ามารับการสรรหาได้เหมือนกับกรรมการองค์กรอิสระอื่นๆ แม้จะอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ก็ตาม แต่ถ้ากสม.สงสัยก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ว่าเป็นองค์กรอิสระหรือไม่ หรือถ้ากกต.สงสัย จะยื่นด้วยก็ได้ ซึ่งตามร่างพ.ร.บ.ว่าด้วย กสม. ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ กรธ.จำเป็นต้องเขียนให้มีการเซ็ตซีโร่กสม. โดยยืนยันว่าไม่ได้คิดพิสดารหรือสองมาตรฐาน เพราะกรธ.เสนออย่างเดียวกันทุกองค์กร แต่กสม.ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะมีเหตุปัจจัยมาจากหลักการปารีสที่ผูกพัน และยึดโยงกับประเทศเราอยู่

นายมีชัย กล่าวถึงการทำไพรมารี่โหวตผู้สมัครเลือกตั้งว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตีความในประเด็นตามมาตรา 35 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยกรธ. กกต. และพรรค การเมืองยังมองต่างกันในเรื่องการกำหนดเขตเลือกตั้ง แต่กรธ.มองว่า ในเมื่อกกต.บอกว่าการทำไพรมารี่โหวตเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง ดังนั้น กกต.ก็ควรเป็นผู้กำหนดเขตการเลือกตั้งให้เหมาะสม เพราะในเมื่อ สนช.ลงผ่านกฎหมายให้มีไพรมารี่โหวตแล้ว กรธ.คงไม่ไปคัดค้าน แต่ต้องมาเกลาข้อความเพื่อไม่ให้การปฏิบัติต่างๆ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

เตรียมขัดเกลาไพรมารี่โหวต

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนที่พรรคการเมืองร้องเรียนว่าไพรมารี่โหวตปฏิบัติยากนั้น กรธ.จะมาเกลาเพื่อให้ปฏิบัติง่ายขึ้น ส่วนที่ กกต.จะให้ใบเหลือง ใบแดงเพื่อกำกับดูแลการทำไพรมารี่โหวตนั้น ตนคิดว่าอาจจะไปขัดต่อหลักการที่ให้พรรคและสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง หาก กกต.จะให้ใบเหลืองใบแดง ก็หมายความว่ากกต.ต้องเป็นผู้จัดไพรมารี่โหวต ไม่ใช่ให้พรรคจัด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากรธ.ไม่ได้วางยา กกต.ชุดใหม่ เพราะไม่ใช่ข้าศึกกัน แต่เป็นหน่วยงานที่ต้องร่วมมือกันทำงานเพื่อให้ประเทศเดินหน้า

เมื่อถามถึงนักการเมืองวิจารณ์ว่ามาตรา 219 ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระออกมาตรฐานจริยธรรมภายใน 1 ปี และต้องรับฟังความคิดเห็น ส.ส. ส.ว. และครม.แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากโรดแม็ปถูกเลื่อนออกไป ทำให้ยังไม่มีส.ส. ส.ว. นายมีชัยกล่าวว่า สนช.ชุดนี้ทำหน้าที่แทนได้เลย เพราะทำหน้าที่ส.ส. ส.ว.อยู่ได้ มิเช่นนั้นทุกวันนี้กฎหมายจะออกมาได้อย่างไร ซึ่งตามรัฐธรรมนูญก็รับรองไว้ เช่น เวลาให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระก็ระบุให้ ส.ว.ให้ความเห็นชอบ ซึ่งวันนี้สนช.ทำหน้าที่ ส.ว. อยู่ จึงไม่มีปัญหา

นายมีชัยกล่าวว่า หลังจากนี้องค์กรอิสระจะต้องนัดประชุมจัดทำร่างมาตรฐานจริยธรรมให้เสร็จตามกำหนด โดยองค์กรอิสระใดจะเป็นผู้ริเริ่มก็ได้ และส่งมาให้ สนช. ส่วนจะปรึกษาหารืออย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา

มาร์คซัดยุทธศาสตร์จำกัดรบ.

วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่างพ.ร.บ. การจัดยุทธศาสตร์ชาติ อาจขัดแย้งรัฐธรรมนูญว่า เป็นความเห็นของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรค แต่เท่าที่สอบถามภายในพรรคเห็นตรงกันว่า การมีส่วนร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่การให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งในกระบวนการร่างกฎหมาย และตอนจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดไว้น้อยมาก

“ผมไม่ค่อยเชื่อในแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะเห็นว่าโลกปัจจุบันทำอย่างนั้นยากมาก แต่เมื่อมีก็ต้องหาทางให้เกิดเจตนารมณ์ร่วมของสังคม ยุทธศาสตร์จึงจะเดินได้อย่างต่อเนื่อง และเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวจะต้องเสนอเหมือนกฎหมายที่ต้องส่งให้ส.ส. และส.ว.พิจารณาด้วย แต่วันนี้มีเพียงสนช. คำถามคือ สนช.จะเป็นตัวแทนของประชาชนได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังแสดงเจตนาชัดที่จะจำกัดการมีส่วนร่วมอีกด้วย โดยกำหนดว่ากรณีเลือกตั้งเร็ว สนช.หมดวาระ ก็ไม่ให้ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณา แต่ให้ส.ว.ชุดแรกพิจารณาแทน ซึ่งส.ว.ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เตือนระวังเป็นอุปสรรคเสียเอง

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะใช้กำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกำกับนโยบายของพรรค ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับผู้ร่างยุทธศาสตร์มอง สำหรับกรณีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าอาจมองได้ว่าอำนาจอธิปไตยไม่เป็นของตัวแทนปวงชนชาวไทย เพราะสร้างระบบขึ้นมาตีกรอบให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่อีกมุมอาจมองได้ว่าไม่ขัด เพราะเป็นรัฐธรรมนูญเหมือนกัน มีการกำหนดให้ทำยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น ภาระจึงตกหนักที่ผู้ร่างยุทธศาสตร์ว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง และไม่เป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลชุดต่อๆ ไป ซึ่งจำเป็นจะต้องแก้ปัญหาของประเทศ และบางครั้งต้องใช้นวัตกรรมในเชิงนโยบาย

นิพิฏฐ์ชี้ปลายปี”61 ยังไม่เลือกตั้ง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายกฯ ระบุให้สถานการณ์อนาคตชี้ชัดว่าควรทำอย่างไรในอนาคตหลังผลโพลสนับสนุนให้ตั้งพรรคการเมืองว่า เป็นสิทธิของนายกฯ หากมีประชาชนสนับสนุนก็ตั้งพรรคได้

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯ ควรประกาศให้ชัดเลยหรือไม่ว่าจะตั้งหรือไม่ตั้งพรรคการเมือง นายนิพิฏฐ์กล่าววว่า “ผมพูดไปนานแล้วว่าให้ประกาศ ถ้าไม่ชัดหลายคนจะมองว่าเป็นการเอาเปรียบทางการเมืองหรือไม่ เพราะบางเรื่องหลายฝ่ายมองว่าที่นายกฯ ทำเป็น การเมืองหรือไม่ เอาเปรียบกันหรือเปล่า บางเรื่องไม่ใช่การบริหารราชการแผ่นดิน แต่มีเนื้อหาไปในทางการเมือง เช่น การตั้งคำถาม 4 ข้อเป็นการใช้เครื่องมือของรัฐเอาเปรียบหรือไม่ ดังนั้นขอให้พูดให้ชัดเจนจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย คนที่สนับสนุนจะได้เฮไปสนับ สนุนท่าน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า เชื่อหรือไม่ว่าการเลือกตั้งตามโรดแม็ปจะเกิดขึ้นปลายปี 2561 นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า “ถ้าให้ผมฟันธง เลิกคิดเลย เพราะเห็นได้จากความขัดแย้งของกรธ.และสนช.ในการตั้งกรรมาธิการร่วม ทำกฎหมายลูก ดูแล้วมันเป็นละครเหมือนลิเกมาแสดงเอาดาบไม้มาเสียบจั๊กแร้กัน ไม่ได้แทงกันจริง ดังนั้นดูแล้วการเลือกตั้งยังอยู่อีกไกล หากจะยืดเวลาเลือกตั้งออกไปมีทางเดียวคือคว่ำกฎหมายลูก เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนตรงนี้ไว้ สุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่นายกฯ”

จุติเด็กดี-ไม่ค้านไพรมารี่โหวต

นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงระบบไพรมารี่โหวตว่า เรื่องนี้เราไม่ห่วง เราเป็นเด็กดี กฎหมายออกมาอย่างไรก็ว่าตามนั้น แม้จะส่งข้อเสนอไปแล้ว แต่ถ้าเขาไปเปลี่ยนก็ต้องทำตาม กติกา นักฟุตบอลเมื่อมีกติกาออกมาแล้ว หากไม่เล่นก็อย่าเล่น เมื่อจะเล่นก็ต้องเล่นตามเขา ใครจะใหญ่กว่ากฎหมายได้อย่างไร

นายจุติยังกล่าวถึงกรณีที่นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ประกาศตัวพร้อมลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ว่า การที่นายสุรินทร์พูดนั้นเป็นเรื่องของนายสุรินทร์ แต่ผู้กำหนดการเลือกตั้งคือรัฐบาล ดังนั้นประชาธิปัตย์ ยังคงนิ่ง เพราะทำกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้ และคิดว่าการเลือกตั้งกทม.น่าจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งใหญ่ทั่วไป

วิษณุสวนนิพิฏฐ์-ยันโรดแม็ป

ที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ยังมี ความเห็นแตกต่างกันว่า เชื่อว่าสุดท้ายเรื่องไพรมารี่โหวตจะจบได้ และเป็นเรื่องที่ต้องจบเพราะมีตารางเวลาล็อกไว้แล้ว แต่จะจบด้วยดีหรือไม่นั้นไม่ทราบ

ส่วนที่นายนิพิฏฐ์ฟันธงว่าการเลือกตั้งปลายปี 2561 จะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากมีช่องโหว่หากกฎหมายลูกถูกคว่ำ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นโรดแม็ปของนายนิพิฏฐ์ ตนอยู่กับรัฐบาลต้องพูดโรดแม็ปของรัฐบาล คิดตามโรดแม็ปของรัฐบาล ใครจะมองอย่างไรเป็นเรื่องของเขา และรัฐบาลไม่ได้คิดว่าจะถูกคว่ำ

เมื่อถามว่าหากกฎหมายลูกไม่เสร็จภายใน 8 เดือนจะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ เพราะเชื่อว่าจะเป็นไปตามกรอบ อย่าไปสมมติสิ่งที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญให้มันเป็นประเด็น เมื่อถามย้ำว่าการที่กฎหมายลูกไม่เสร็จตามกรอบ จะส่งผลกระทบให้โรดแม็ปการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ตอบ เอาไว้เมื่อถึงเวลาค่อยพูดกันว่าจะเกิดอย่างนั้นแล้ว วันนี้ยังไม่เห็นลาง เราไม่ได้คิดวิธีรับมือตรงนั้นไว้ เพราะรัฐบาลไม่ได้คิดในแง่ลบ ไม่มีอะไรให้ต้องวิตกว่าต้องเลื่อนโรดแม็ป

ต่อข้อถามว่ารัฐบาลยังยืนยันหรือไม่ว่ากฎหมายลูกที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งต้องแล้วเสร็จภายใน 4 เดือนหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ นายวิษณุกล่าวว่า จะไม่พูดถึงกรอบนั้นแล้ว ต้องพูดถึงกรอบใหญ่ทั้งหมดต้องให้เสร็จภายใน 8 เดือนหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เดิมเราคิดว่ากรธ. จะทำ 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งก่อน แต่เขาทำไม่ได้ ซึ่งก็มีเหตุผลของเขา

สมพงษ์ลาสปท.ซบพรรคทหาร

ด้านนายสมพงษ์ สระกวี กรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิก สปท.แล้วเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้มีผลในวันที่ 1 ก.ค.นี้ เพื่อเตรียมตัวลงเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่ในนามพรรคเพื่อไทย โดยเตรียมไปอยู่พรรค การเมืองขนาดเล็กที่จดทะเบียนอยู่เดิมร่วมกับพล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร และพ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ที่ยื่นใบลาออกจาก สปท.แล้วเช่นกัน เหตุผลที่จะไปอยู่พรรคเล็กเนื่องจากพวกตนเป็นผู้เสนอให้มีการปฏิรูปพรรค การเมือง จึงอยากเริ่มต้นไปพัฒนาปฏิรูปพรรคการเมืองขนาดเล็ก

“ขณะนี้กำลังชักชวนพรรคเล็กอีก 2 พรรคให้มารวมตัวเป็นพรรคใหม่ เพื่อช่วยเหลือกันหาสมาชิกพรรค ลดภาระความยุ่งยากเรื่องการหาสมาชิกพรรคและการตั้งสาขาพรรคประจำหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ให้ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในระบบไพรมารี่โหวต เพราะลำพังพรรคเล็กๆ เพียงพรรคเดียวคงลำบากที่จะดำเนินการในระบบไพรมารี่โหวตได้ ถ้าไม่มารวมตัวกันเพื่อแบ่งเบาเรื่องเขตการเลือกตั้ง ยืนยันว่าพรรคเล็กที่จะมารวมตัวกันไม่ใช่พรรคตัวแทนทหาร แต่มีทหารบางส่วนมาร่วมด้วยเท่านั้น และหากทหารตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาจริงๆ พรรคเล็กก็พร้อมเป็นพันธมิตรกับพรรคทหาร

สุชาติจ่อขายฝันชาติไทยพัฒนา

ด้าน”บิ๊กเยิ้ม”พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตสมาชิก สปท. กล่าวว่า สาเหตุที่ลาออกจากสมาชิก สปท. เพราะทำตามคำชักชวนของเพื่อน คือพ.อ.สุชาติ ไม่ได้จะไปสมัครร่วมกับพรรคขนาดเล็กเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งตามที่มีกระแสข่าวจากนายสมพงษ์ ตนไม่อยากเล่นการเมืองเพราะไม่มีการปฏิรูป สิ่งที่ตนเคยเสนอปฏิรูปไป 4 ข้อก็ไม่ได้รับการผลักดัน ส่วนเรื่องการร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคทหาร หากมีก็ต้องไปถามนายสมพงษ์กับพ.อ.สุชาติ

ด้านพ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตสมาชิก สปท. กล่าวว่า แนวคิดที่จะรวมพรรคขนาดเล็กเข้าด้วยกันให้เป็นพรรคขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ อย่างน้อยอยากให้ได้เท่ากับพรรคภูมิใจไทย ต้องยอมรับว่าการเมืองไทยจะมีแค่พรรคขนาดใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์เท่านั้นที่เป็นทางเลือก อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก พรรคขนาดเล็กมีโอกาสเกิดยาก ที่สำคัญถ้าพรรคขนาดเล็กร่วมกันเป็นพรรคขนาดกลางได้ จะมีหนทางเข้าร่วมรัฐบาลบริหารประเทศได้

พ.อ.สุชาติกล่าวต่อว่า ส่วนจะรวมพรรคใดบ้างนั้นก็ต้องดูว่าพรรคใดขนาดเล็กบ้าง เช่น พรรคมาตุภูมิของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้นำ คมช. พรรคทวงคืนผืนป่าแห่งประเทศไทยของนายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ และพรรคอื่นที่จะตั้งขึ้นมา ถ้าเป็นโมเดลว่าพล.อ.สนธิดูภาคใต้ นายดำรงค์ พิเดช ดูภาคอีสาน จะเป็นอย่างไร ส่วนจะควบรวมเป็นพรรคอะไรนั้นต้องดูอีกที อาจจะไปขายความคิดให้พรรคเดิมที่มีอยู่แล้ว อย่างพรรคชาติไทยพัฒนาก็เป็นได้ โดยนายสมพงษ์จะเป็นผู้ประสานงาน

แบะรวมพรรค-หนุนบิ๊กตู่นายกฯ

“สมมติว่าผมมีโอกาสเสนอพล.อ. ประยุทธ์ ผมจะบอกพล.อ.ประยุทธ์ว่าอย่าตั้งพรรคเป็นอันขาด เรามีอาชีพทหาร ไม่ใช่นักการเมือง ไม่มีทางประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างและบทเรียนมาแล้ว ส่วนโมเดลรวมพรรคขนาดเล็กร่วมรัฐบาลแล้วจะเสนอพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกหรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต” พ.อ.สุชาติกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิก สปท. 9 คนยื่นใบลาออก เพื่อเตรียมตัวลงสนามการเมืองนั้น ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ยังคงมีสมาชิก สปท.ยื่นใบลาออกอย่างต่อเนื่อง อาทิ นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ นายสันตศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ ทำให้ยอดสรุปรวมจำนวนสมาชิก สปท.ที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ขณะนี้เหลือ 181 คน

ด้านนายกษิต ภิรมย์ สมาชิก สปท. ในฐานะอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ยืนยันจะไม่ลาออกจากสปท. เพราะได้เรียนกับหัวหน้าพรรคเรียบร้อยแล้วว่าจะไม่ลงเลือกตั้ง และต้องการทำงานปฏิรูปพรรคก่อน

ยื่น”พรเพชร”ชะลอใช้กม.ต่างด้าว

ที่รัฐสภา นายมิตร ปานเจริญ ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด พร้อมคณะเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านเจ้าหน้าที่ เพื่อเรียกร้องให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชะลอการบังคับใช้พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ออกไปก่อน เนื่องจากเนื้อหาในกฎหมายกระทบกับผู้ประกอบการผู้ปลูกกล้วยไม้ไทย ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ การต้องขออนุญาตนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนเท่านั้น ในความเป็นจริงผู้ประกอบการรายเล็กปฏิบัติตามได้ยาก เรื่องอัตราค่าธรรมเนียมการได้มาซึ่งแรงงานต่างด้าว 1 คนประมาณ 50,000 บาท และการต่อใบอนุญาตครั้งละ 20,000 บาท

นายมิตรกล่าวว่า ส่วนบทลงโทษปรับ ผู้ฝ่าฝืนยังมีอัตราสูงสุดถึง 800,000 บาท ต่อต่างด้าว 1 คน บัญญัติเหมือนเกษตรกรเป็นผู้ร้าย เป็นห่วงว่าพ.ร.ก.ฉบับนี้จะเป็นช่องทางหารายได้ของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มหา ผลประโยชน์แอบแฝง จากหน่วยงานที่นำเข้าแรงงานต่างด้าว จึงขอให้ช่วยผ่อนผันการจับกุมแรงงานต่างด้าวด้านภาคเกษตรกร ที่ยังมิได้ขึ้นทะเบียนก่อนการประกาศใช้พ.ร.ก.นี้สักระยะ เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้ ขอให้เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคเกษตรกร เกี่ยวกับปัญหาของพ.ร.ก.ฉบับนี้อย่างทั่วถึงด้วย

ศาลนัดไต่สวนปูฟ้องปลัดสปน.

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ซอยสีคาม ถนนนครไชยศรี ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยื่นฟ้อง นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าว เป็นจำเลย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คดีนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 13 พ.ค.2559 ระบุพฤติการณ์ในคำฟ้องสรุปว่า วันที่ 3 เม.ย.2558 นายจิรชัย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ จะต้องตรวจสอบ เดินเผชิญสืบคลังสินค้าที่เก็บข้าวสาร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีอยู่จริงของปริมาณต้นทุนข้าวเปลือกแต่ละชนิดที่ชาวนานำมาเข้าโครงการ รวมทั้งจำนวนข้าวที่ได้จำหน่ายและระบายไปว่ามีปริมาณเท่าใดเพื่อหักทอนทางบัญชีและตรวจดูว่าคงเหลือข้าวสารแต่ละชนิดในคลังสินค้าขององค์การคลังสินค้า หรืออคส. 1,626,395.13 ตัน และอยู่ในความครอบครองขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกรหรืออ.ต.ก. 7,984,553.17 ตันนั้นเป็นความจริงหรือไม่ แต่การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลย เป็นไปมิชอบ ขาดความเที่ยงธรรม ไม่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของคณะกรรมการ ไม่ไต่สวนพยานบุคคล ไม่แสวงหาข้อเท็จจริง ไม่ตรวจสอบสินค้าคงเหลือให้ครบถ้วนและไม่สอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่กลับกำหนดความเสียหายและกล่าวหากับรัฐบาล โจทก์

ยิ่งลักษณ์ร่วมฟังสืบพยานคดีข้าว

วันเดียวกันนี้ นายนพดล หลาวทอง ทนายผู้รับมอบอำนาจ น.ส.ยิ่งลักษณ์นำพยาน คือนายวีระนันท์ ทัดดอกไม้ ผู้แทนบริษัทสำรวจคุณภาพข้าวในโกดังโครงการจำนำข้าว หรือเซอร์เวย์เยอร์ เข้าไต่สวนเรื่องการนำข้าวมาคิดคำนวณค่าเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดคุณภาพหรือเกรดของข้าวที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์

ส่วนในวันที่ 29 มิ.ย. ทนายจะนำพยานที่จะเข้าไต่สวนปากต่อไปคือ นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ เเละในวันที่ 30 มิ.ย. จะเป็นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และอดีตรมว.คลัง เข้าไต่สวน เเละจะเว้นช่วงไปนัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 7 ก.ค. หากไต่สวนมูลฟ้องพยานโจทก์ครบจนได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นเเล้ว ศาลอาญาทุจริตฯจึงจะนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีไว้หรือไม่ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯขณะนั้นซึ่งเป็นศาลชั้นต้น มีคำสั่งยกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องโดยที่ยังไม่ได้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นรับคดีไว้ไต่สวนมูลฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งเหลือเวลาชี้แจงข้อมูลและสืบพยานในคดีรับจำนำข้าวอีกเพียง 3 ครั้งก็จะมีการตัดสินคดีความว่า วันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์รูปพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “พรุ่งนี้พบกันที่หน้าศาลฎีกาแจ้งวัฒนะ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 29 มิ.ย. เวลา 08.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง เพื่อสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดที่ 14 ในคดีรับจำนำข้าว

เนติวิทย์ประท้วงทรัมป์-เชิญตู่พบ

ด้านนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ และประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเคลื่อนไหวการเมืองชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ตนได้รับจดหมายเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพครบรอบ 241 ปีของสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ ที่ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ซึ่งตนพิจารณาแล้วเห็นว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ไปเยี่ยมทำเนียบขาว ซึ่งขัดแย้งกัน เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน จับกุมขังคนคิดต่าง ทำลายสิ่งแวดล้อมทรัพยากรในชาติ ทำลายกระบวนการตรวจสอบ ไม่มีหลักธรรมาภิบาล ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งการบริหารประเทศตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้กัดกร่อนทำลายประชาธิปไตย แต่สหรัฐยังไม่มีท่าทีต่อเรื่องนี้ จึงได้ปฏิเสธ พร้อมขอบคุณนายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัคร ราชทูตสหรัฐ ที่เชิญไปร่วมงาน

บิ๊กตู่ยันเดินหน้าแก้ค้ามนุษย์

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์กรณีสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือทิปรีพอร์ต ประจำปี 2017 ที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ในสถานะเทียร์ 2 เฝ้าระวังเหมือนปี 2016 ว่า รัฐบาลจะเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งสถานการณ์การค้ามนุษย์ไม่ได้แย่ลงไปกว่าเดิม แต่แย่ในช่วง 2 ปีก่อน จากนั้นก็อยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าเดิม แสดงว่าเราได้ทำผลงานให้ปรากฏจนเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะด้านนโยบาย การบังคับใช้กฎหมาย แม้จะมีปัญหาบ้างในบางประเด็น เช่น แนวทางปฏิบัติในเกี่ยวกับคดี ซึ่งตนได้กำชับในที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. เน้นย้ำการดำเนินคดี ทั้งผู้ประกอบการที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ และเจ้าหน้าที่ที่ทำความผิด หากมีผลลัพธ์ที่ดี ก็อาจได้รับการปรับระดับที่ดีขึ้น แต่ยังถือว่าดีที่เราไม่ถูกปรับลดระดับให้แย่ลงกว่าเดิม

“วันนี้ถือว่าทำได้ดีขึ้น แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของรัฐบาลและครม.เท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นการประเมินใดๆ เราจะรับมาพิจารณาเพื่อดำเนินการและแก้ไขปัญหาให้ได้เพื่อประเทศ โดยจำเป็นต้องทำตามพันธะสัญญา รวมถึงการประเมิน จะเห็นว่ารัฐบาลเร่งเรื่องเศรษฐกิจ การอำนวยความสะดวก ไม่ใช่ว่าไม่มีผลงาน รัฐบาลมีเป้าหมายอยากให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ดีขึ้น มีแผนงานทั้งหมดแล้ว เพียงแต่จะทำตามขั้นตอนได้อย่างไร ซึ่งการประเมินจะดูจากนโยบาย การปฏิบัติ การดำเนินคดี การดูแลเหยื่อ รัฐบาลชุดนี้แก้ มันถึงดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีและไม่สนใจเลย ปล่อยให้ทำกันไป แต่รัฐบาลชุดนี้ทำทุกเรื่อง อย่าไปมองสิ่งที่เหลวไหลอย่างแต่ก่อน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่ารัฐบาลยืนยันความมุ่งมั่นต่อต้านการค้ามนุษย์ และถือเป็นวาระแห่งชาติที่เจ้าหน้าที่ทุกระดับได้ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด การป้องกันผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อ คุ้มครองเหยื่อและพยาน และการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในและนอกประเทศ

“นายกฯเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไม่ได้มุ่งเน้นที่ผลของการประเมินใดๆ แต่เพื่อปกป้องคุ้มครองคนไทยและคนต่างชาติในไทย ภายใต้หลักมนุษยธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ นายกฯยังให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังที่สะสมมายาวนาน เชื่อว่าทุกคนทราบดีถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยผลจากความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกฝ่ายจะตกอยู่กับประเทศและประชาชน” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

ด้านพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวว่าในส่วนของตร. มีพล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ที่ปรึกษา (สบ 10) และพล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผบช.สำนักงานกฎหมายและคดี กำกับดูแลการแก้ปัญหาในภาพรวม แต่เมื่อผลประเมินออกมาแบบนี้ ตร.ต้องกลับมาทบทวนสรุปบทเรียนการทำงานในปีที่ผ่านมาว่าขาดตกบกพร่องตรงไหนบ้าง ก็ต้องเติมเต็มในส่วนนั้น อาจเรียกหน่วยที่รับผิดชอบมาคิดออกมาตรการใหม่เพื่อแก้ปัญหาให้ได้ ซึ่งผลที่ออกมาอยู่อันดับเทียร์ 2 เหมือนเดิม ถือว่าดีแล้ว ยังดีกว่าตกไปที่เทียร์ 3 ทั้งนี้วางเป้าหมายว่าต้องขยับอันดับไปสู่เทียร์ 1 ให้ได้

ปชป.บุกทำเนียบยื่นตู่แก้ยางถูก

วันที่ 28 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมอดีตส.ส. เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.เสนอแนวทางแก้ราคายางพาราและสินค้าเกษตร ผ่านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายออมสินกล่าวว่า เรื่องหลักที่มายื่นมีทั้งราคายางพาราตกต่ำที่ต้องการให้รัฐบาลใช้ยางพาราภายในประเทศมากขึ้น ทั้งส่วนน้ำมันปาล์มที่มีจำนวน 4-5 แสนตันค้างอยู่ในประเทศ จึงอยากให้เพิ่มการใช้น้ำมันในประเทศมากขึ้น ตนจะนำเรื่องรายงานให้นายกฯรับทราบต่อไป

นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า จากการปรึกษากับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนเห็นว่าวิกฤตราคายางพาราที่ตกต่ำอยู่ขณะนี้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของเกษตรกรและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ พรรคจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้วิกฤตราคายางพาราตกต่ำ ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลใช้การบริหารตลาดโดยประกาศว่าจะไม่ขายยางพาราในสต๊อกและจะนำมาใช้ในประเทศไทยเท่านั้น 2.ให้รัฐบาลเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐนำยางพาราไปแปรรูปใช้ในประเทศให้มากขึ้น และใช้เรื่องนี้เป็นเกณฑ์ประเมินการปฏิบัติงานของผู้ว่าฯ ที่มีการปลูกยางพารา ประเมินการปฏิบัติงานของผู้บริหารในหน่วยงานที่สามารถใช้ยางพาราได้

3.ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของราคายางพาราราคาไม่ได้เป็นไปตามอุปสงค์-อุปทาน แต่มีการตั้งราคาเพื่อแสวงหากำไรตามใจผู้ซื้อ ดังนั้น การยางแห่งประเทศไทย (ก.ย.ท.) จึงควรจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราโดยเร็ว 4.ขอให้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางกลาง คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อกำหนดแผนการผลิตและการจำหน่ายร่วมกันอย่างชัดเจน

ปปช.เพิ่มมาตรการเอาผิด”อปท.”

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า จากสถิติตั้งแต่ปี 2542-ก.ย.2558 พบว่านักการเมืองท้องถิ่นที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา หรือมีมูลความผิดตามกฎหมายที่ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 409 ราย แบ่งเป็น อบต. 262 ราย เทศบาล 114 ราย อบจ. 27 ราย และกรุงเทพมหานคร 6 ราย แต่ในจำนวนดังกล่าว ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนไม่สามารถสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ เนื่องจากผู้นั้นพ้นตำแหน่งไปแล้วหรือลาออกไปก่อนถึง 171 ราย ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ

เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (11) แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เห็นชอบให้เสนอมาตรการบังคับใช้กฎหมาย กรณีป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่อีกครั้งหนึ่ง ให้สำนักไต่สวนการทุจริต รายงานผลการสอบสวนและคำสั่งลงโทษให้สำนักงานป.ป.ช.ทราบ และให้รวบรวมข้อมูลรายงาน เอกสาร พร้อมทั้งความเห็นของ ป.ป.ช. ที่มีมติชี้มูลความผิด ส่งกระทรวงมหาดไทย และเสนอให้ครม. และให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาข้อมูลรายงาน ของป.ป.ช. โดยมอบหมายนายอำเภอหรือผู้ว่าฯ สอบสวนและวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งหรือสิ้นสุดสมาชิกภาพ และนำผลการสอบสวนไปดำเนินคดีอาญาหรือทางแพ่งต่อไป รวมทั้งเสนอให้กกต.พิจารณาข้อมูลของ ป.ป.ช.ในเรื่องดังกล่าว ประกอบการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

นายสรรเสริญกล่าวว่า ป.ป.ช.จะปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการป.ป.ช. ให้มีบทบัญญัติดำเนินการทางวินัยหรืออยู่ในบังคับมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 234 (1) และมาตรา 235 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 และมีผลทำให้บุคคลดังกล่าวไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก และยังเสนอให้ครม.พิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 พ.ร.บ.อบจ. พ.ศ. 2540 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 โดยเพิ่มบทบัญญัติ “การไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริต” กำหนดเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในทุกตำแหน่งเช่นเดียวกับการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามใน พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

“แป๊ะ”ชี้ปฏิรูปตร.ยึดโรดแม็ปรบ.

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ว่ายังไม่ทราบว่ามีใครบ้างซึ่งเห็นแค่บางรายชื่อเท่านั้นเพราะรายชื่ออยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะต้องพิจารณาอีกครั้ง โดยจะมีการประกาศในสัปดาห์หน้า

รองนายกฯ กล่าวว่า ถึงแม้ระบบอาวุโสจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเอามาใช้หมดร้อยเปอร์เซ็นต์จะมีปัญหา และแม้ในรัฐธรรมนูญจะบังคับให้ใช้ระบบอาวุโสร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไม่อยากทำตามนั้นทั้งหมดก็ต้องไปสร้างกติกาเรื่องนี้ที่ต้องควรออกมาก่อนเรื่องอื่น ซึ่งเรื่องอื่นๆ ทยอยเสร็จทีหลังได้ ทั้งนี้นายกฯ ได้ตั้งประเด็นไว้ 3 เรื่องคือ 1.ปฏิรูปองค์กรจะขึ้นอยู่กับใคร 2.อำนาจการสอบสวน และ3.การบริหารงานบุคคล ซึ่งรวมถึงการดำเนินการทางวินัยกับตำรวจที่เกษียณอายุราชการไปแล้วจะถูกสอบสวนได้หรือไม่

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวถึงการปฏิรูปองค์กรตำรวจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งขณะนี้ผ่านมาแล้ว 3 เดือนว่าเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการปฏิรูปแล้วเสร็จทันเวลา หากไม่ทันก็ขออนุมัติ ครม. ซึ่งจะขับเคลื่อนไปตามโรดแม็ปที่รัฐบาลวางไว้ และแม้ว่าระหว่างการปฏิรูปตำรวจจะเกิดรอยต่อระหว่างรัฐบาล คสช.กับรัฐบาลในอนาคต ก็ยืนยันว่าจะไม่มีช่องว่างในการแทรกแซงการทำงานด้านปฏิรูปตำรวจ เพราะการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมีการตั้งกรรมการตามมาตรา 260 อยู่แล้ว ซึ่งตนเป็นหนึ่งในกรรมการและได้เสนอผู้เหมาะสมเข้าเป็นกรรมการด้วย แต่ไม่ขอเปิดเผย

เมื่อถามกรณีนายวิทยา แก้วภราดัย อดีตแกนนำ กปปส.ออกมาเปิดเผยข้อมูลซื้อขายตำแหน่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า ได้รับหนังสือขอขยายเวลาการตรวจสอบข้อเท็จจริงจาก 15 วัน ออกไปอีก 30 วัน จากพล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ แล้วเพื่อให้สืบสวนสอบสวนหมดข้อสงสัยมีความชัดเจนมากที่สุดโดยได้เร่งรัดให้ดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบ

พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ส่วนตัวยังไม่ได้มีการพูดคุยกับ พล.ต.ท.เทศา ศิริวาโท ผบช.ภ.8 ช่วยราชการ ศปก.ตร. หลังมีคำสั่งย้ายพ้นหน้าที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และยังไม่มีความจำเป็นในการตรวจสอบการซื้อขายตำแหน่งในพื้นที่อื่น ยังคงตรวจสอบในพื้นที่ บช.ภ.8 เท่านั้น โดยให้พล.ต.อ.ปัญญา ไปดำเนินการตรวจสอบทุกประเด็นอย่างเต็มที่ตนไม่ก้าวก่ายหรือแทรกแซงอะไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน