สัมภาษณ์พิเศษ : ยุทธพร อิสรชัย การเมืองหลัง‘ป้อม’นั่งหน.พปชร.

ยุทธพร อิสรชัย : การยอมรับเทียบเชิญ ขึ้นนั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นที่จับตา

ไม่เพียง “ศึกใน” ที่รออยู่ หากกระทบชิ่งไปถึงการปรับครม. ที่จะส่งแรงกระเพื่อมไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

สถานการณ์ภายในของพลังประชารัฐ และสถานการณ์ของรัฐบาลจากนี้จะเป็นอย่างไร

นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เสนอมุมมองไว้ดังนี้
พล.อ.ประวิตร เข้ามานั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ส่งผล อย่างไรบ้าง?

ในพรรคพลังประชารัฐวันนี้ต้องพิจารณา 2 ส่วน คือ การเมืองระดับโครงสร้าง และการเมืองระดับเฉพาะหน้า

การเมืองระดับโครงสร้าง มีปัญหาเชิงโครงสร้างพรรคอยู่ไม่น้อย เพราะเกิดจากการรวมกลุ่มการเมือง หรือเรียกว่าก๊วนทางการเมือง เมื่อมาอยู่ด้วยกันจึงเกิดเรื่องการต่อรอง เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองลักษณะนี้

การที่แต่ละกลุ่มเข้ามาในเวลาเดียวกัน แม้มีบทบาทหรืออิทธิพลไม่เท่ากัน เนื่องจากบารมีผู้นำกลุ่ม หรือคะแนนเสียงแต่ละกลุ่มก็ตาม แต่ทุกกลุ่มก็มาช่วงตอนตั้งพรรคพร้อมๆ กัน ความสัมพันธ์อยู่ในระนาบที่ใกล้เคียงกัน การต่อรองจึงมีให้เห็นตามปกติตั้งแต่ช่วงตั้งพรรค

การโหวตเลือกนายกฯ การลงมติเรื่องต่างๆ เป็นสิ่งที่พล.อ.ประวิตร ต้องลงมาในสถานการณ์ที่หลายกลุ่มมีบทบาทการต่อรองเท่าๆกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้มีบารมีทางการเมืองมากำกับ

ก่อนหน้านี้ อาจมีการพูดคุยว่า พล.อ.ประวิตร คือผู้กำหนดยุทธศาสตร์ตัวจริง กลุ่ม 3 ป คือแกนนำตัวจริงของพลังประชารัฐ แต่ 3 ป ไม่ได้ลงมาคลุกคลีกับพรรค หรือแม้แต่ในสนามเลือกตั้ง บทบาทใกล้ชิดต่างๆไม่เหมือนที่ พล.อ.ประวิตร ลงมาเอง

ส่วนระดับเฉพาะหน้า วันนี้การเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดปรากฏการณ์ผึ้งแตกรัง เมื่อสมดุลทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนไป ทำให้การต่อรองช่วงปรับครม. มีโอกาสเกิดการต่อรองในพรรคร่วมมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย หัวหน้าพรรคบอกว่าวันนี้ไม่ต้องการอะไรเพิ่ม แต่อย่ามาแตะต้องโควตาเดิม แต่เชื่อว่าพอถึงจุดหนึ่งไม่มีอะไรการันตีได้ว่าการต่อรองจะไม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับพรรคพลังท้องถิ่นไทยที่จากเดิมเป็นพรรคขนาดเล็ก แต่พอได้ส.ส.ผึ้งแตกรังไปวันนี้เขามี เกือบ 10 ที่นั่งแล้ว และยังรวมกับเครือข่ายพรรคจิ๋ว หรืออาจเรียกว่าเครือข่ายกลุ่มกิจสังคมใหม่ อาจทำให้เกิดการต่อรองเก้าอี้ดนตรี เช่นกัน

ดังนั้น เมื่อเกิดการต่อรองเก้าอี้จากพรรคเล็ก และพรรคขนาดกลาง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐได้รับผลกระทบเรื่องของโควตารัฐมนตรี และยังไม่รวมถึงโควตาคนนอกที่ต้องเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ

ดังนั้น ก่อนจะปรับครม.จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างของพรรคให้เรียบร้อยก่อน ไม่เช่นนั้นโอกาสที่พรรคมีปัญหาระยะยาวมีความเป็นไปได้ หรืออาจนำไปสู่พรรคแตกได้ เพราะความแข็งแกร่งของฐานยังมี ไม่มาก

เป็นอีกปัจจัยที่ต้องอาศัยบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในพรรค ในพรรคเองยังไม่มีการสร้างบุคลากรที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำ พล.อ.ประวิตร จึงต้องเข้ามา

เงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่งคือแกนนำชุดเดิม หรือกลุ่ม 4 กุมาร เป็นเทคโนแครต เชี่ยวชาญเสนอนโยบายต่างๆ ค่อนข้างสูง แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ การจะมีส.ส.เป็นฐานเหมือนแกนนำคนอื่นๆ จึงเป็นไปได้น้อย

กลุ่มนี้มีเพียงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่มีประสบการณ์สัมผัสกับนักการเมืองจากการเลือกตั้งมา 10 กว่าปี แต่อีก 3–4 คนที่เหลือ ส่วนใหญ่เข้ามาการเมืองในยุคคสช.ทั้งนั้น เหลี่ยมคมทางการเมืองอาจไม่เท่าทันนักการเมืองมากนัก

นอกจากนี้ เดตล็อกทางกฎหมาย ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 กับกฎหมายพรรคการเมืองไม่อนุญาตให้ส.ส.ย้ายพรรค เว้นเพียง 3 กรณี คือ การยุบพรรค ขับออกจากพรรค และการจดแจ้งเลิกกิจการ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ในพรรคกล้าเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ทำให้เห็นปรากฏการณ์เฉพาะหน้าที่ พล.อ.ประวิตร ต้องเข้ามาในพรรค

หากมองการเมืองเชิงโครงสร้าง การเข้ามาของพล.อ.ประวิตร เกี่ยวข้องกับการกระชับอำนาจของกลุ่ม 3 ป. เพราะวันนี้สถานการณ์เรื่องการเลือกตั้งผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว และรัฐบาลกำลังจะครบ 1 ปี ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆก็เบาบางลง

บรรยากาศตรงนี้จำเป็นต้องกระชับอำนาจ ปรับเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ที่เดิม 3 ป. อาจมีอำนาจโดยตรงในฐานะคสช. แต่วันนี้ทำแบบเดิมไม่ได้ จึงต้องมีส่วนผสมลักษณะที่มีการประนีประนอม หรือการเฉลี่ยกับนักการเมือง ซึ่งหมายความว่าต้องกำกับนักการเมืองให้ได้ด้วย จึงเป็นอีกปัจจัยที่ต้องส่งพล.อ.ประวิตรลงมานั่งกำกับ

ขณะเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็ทำหน้าที่ดูแลระบบราชการ ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ดูสถานการณ์ความมั่นคงในภาพรวม คือการกระชับอำนาจของกลุ่ม 3 ป.

ดังนั้น วันนี้ถ้าจะมีการปรับครม.หลายคนอาจมองว่าปรับเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการต่อรองภายในพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล แต่ผมคิดว่าเหตุผลนั้นเป็นแค่ลำดับรอง แต่เหตุผลหลักที่ปรับครม. ครั้งนี้ คือเพื่อปรับยุทธศาสตร์ให้สอดรับการแก้ปัญหาหลังโควิด-19 โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ

ส่วนที่หลายคนบอกว่า พล.อ.ประวิตร เข้ามานั่งหัวหน้าพรรคจะ เป็นสายล่อฟ้า ผมมองว่าขึ้นอยู่กับการปรับครม. ถ้าพล.อ.ประวิตร อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม โอกาสจะมีข้อวิจารณ์อาจไม่มากนัก แต่ถ้ากลับมาสู่รมว.กลาโหม หรือกระทรวงต่างๆ อาจมีข้อวิจารณ์มากขึ้น

แค่นั่งหัวหน้าพรรคขัดตาทัพ 6 เดือน อย่างที่มีกระแสข่าว หรือไม่?

คิดว่าเวลาอาจจะยาวกว่านั้น แต่เข้ามานั่งขัดตาทัพแน่นอน เนื่องจากในพรรคพลังประชารัฐไม่ได้มีกระบวนการสร้างผู้นำทางการเมือง ซึ่งคือจุดอ่อนของพลังประชารัฐ เพราะกลายเป็นที่รวมของบรรดานักการเมืองที่รวมกลุ่ม แต่ไม่มีกลไกสร้างผู้นำทางการเมือง

เราไม่เคยเห็นพรรคพลังประชารัฐวางตัวแกนนำเป็นของตัวเอง แต่จะเป็นลักษณะแกนนำแต่ละกลุ่ม

พล.อ.ประวิตร จะช่วยลดความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐได้จริงหรือไม่?

การสงบอย่างยั่งยืนถาวรในพรรคพลังประชารัฐเป็นเรื่องยาก เพราะโดยโครงสร้างพรรคเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มทางการเมือง และระยะเวลาที่มาเกาะเกี่ยวกันไม่เกิน 2 ปี และด้วยความที่ทุกคนเข้ามาด้วยเหตุผลทางการเมืองที่แตกต่างกัน

บางคนเข้ามาด้วยเหตุผลทางการเมือง บางคนมีคดีความ และการปรับเปลี่ยนตามบริบททางการเมือง ไม่มีอะไรที่เป็นจุดร่วมกันเชิงอุดมการณ์ แต่เป็นเหตุผลความจำเป็นเฉพาะกลุ่ม

ดังนั้น การจะเห็นพรรคพลังประชารัฐเรียบนิ่ง มั่นคง ยั่งยืน คงอีกนาน และจะมีวันนั้นหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ เพราะท้ายที่สุดแล้วพรรคพลังประชารัฐจะเป็นพรรคที่จบลงในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็เป็นไปได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง

ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้พรรคพลังประชารัฐอยู่รอดจึงไม่ใช่ปัจจัยเชิงอุดมการณ์ แต่เป็นปัจจัยจากสถานการณ์การเมือง

เมื่อ พล.อ.ประวิตร เข้ามาแล้ว กลุ่มไหนจะมีบทบาทมากขึ้น กลุ่มไหนบทบาทจะลดลง?

วันนี้ในพรรคพลังประชารัฐการประนีประนอมเป็นสิ่งสำคัญมาก หากทำให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจ

มากกว่าอีกกลุ่มความเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเกิดจากการรวมกลุ่มต่างๆ ความสัมพันธ์อยู่ในระนาบเดียวกันหรือใกล้เคียง การต่อรองย่อมเกิดขึ้น

ความต้องการได้รับการตอบสนองก็มีพอๆกัน แต่วันนี้ในพรรคยังไม่ได้รับการตอบสนองที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ ตกอยู่ในโควตากลุ่มผู้เชี่ยวชาญก็มาก การจะทำให้เกิดความสมดุล จึงเป็นงานหนักของพล.อ.ประวิตร เหมือนกัน ยังไม่รวมปัจจัยนอกพรรคที่จะเกิดการต่อรองเช่นกัน

การปรับเปลี่ยนภายในพรรค จะส่งผล ต่อโควตารัฐมนตรีหรือไม่?

ส่งผลแน่นอน เพราะการปรับกก.บห.พรรคครั้งนี้ ปัจจัยใหญ่คือปรับเพื่อต้องการให้สถานการณ์ในพรรคสงบนิ่งก่อนนำไปสู่การปรับครม.

จะเห็นกลยุทธ์ของนายกฯ ที่พยายามแยกรัฐบาลคือตัวนายกฯกับพรรคพลังประชารัฐจากกัน แต่สภาพความเป็นจริงไม่ได้เป็น แบบนั้น เพราะที่นายกฯอยู่ได้ก็เพราะฐานเสียงที่สนับสนุนจากพรรคร่วม และกลุ่มต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐ

ดังนั้น เมื่อปรับครม.ก็ต้องฟังเสียงทั้งภายนอก และภายในพรรค การปรับเปลี่ยนกก.บห.ที่มีรองหัวหน้าพรรคถึง 9 คน สะท้อนว่าทุกกลุ่มได้รับการเปิดพื้นที่ให้เข้ามาพูดคุยกับพล.อ.ประวิตร ด้วยกันทั้งนั้น แต่จะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรอง ทรัพยากร ของแต่ละกลุ่ม

ที่นายกฯยังยื้อ เพราะยังหาคนมานั่งทีมเศรษฐกิจไม่ได้?

วันนี้จุดตัดที่สำคัญปรับครม.อยู่ที่ทีมเศรษฐกิจ เมื่อไรที่ลงตัว หาคนมานั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจได้ การปรับครม.เกิดขึ้นแน่นอน แต่หากยังไม่ลงตัวการปรับครม.คงต้องรอไปก่อน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาคนมานั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ สะท้อนว่าใครจะเข้ามาตอนนี้ต้องเป็นหน่วยกล้าตายพอสมควร เพราะวิกฤตวันนี้เป็นวิกฤตทั้งโลก เป็น เรื่องยากกว่าวิกฤตปี 2540 จะหวังพึ่งแค่การท่องเที่ยว ส่งออก ต้องรอระยะเวลานานพอสมควร

และถ้าไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า ท้ายที่สุดผมเชื่อว่านายสมคิดจะยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่ มีอยู่ และอย่าลืมว่าการที่นายสมคิดจะอยู่ หรือไม่อยู่ก็จะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นกับ ต่างประเทศด้วย เช่น ญี่ปุ่นก็จะมีความสัมพันธ์อันดีกับนายสมคิด จะส่งผลในภาพใหญ่ทั้งหมด

หลายคนอาจมองว่าการต่อรองในพรรคพลังประชารัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการปรับครม. แต่ผมคิดว่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการปรับครม.

ในส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ภูมิใจไทยไม่น่ามีปัญหา แต่ประชาธิปัตย์อาจยุ่ง

พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเหมือนไม้เบื่อไม้เมากันพอสมควร เนื่องจากสถานะก่อนเข้ามาร่วมรัฐบาลอยู่ในฐานะที่เท่าๆกัน มีส.ส.พอๆ กัน สถานะการต่อรองไม่ต่างกันมาก

แต่มาจุดหนึ่งที่พรรคภูมิใจไทยได้ส.ส.ผึ้งแตกรังมาเพิ่ม 9 ที่นั่ง เกือบเป็นพรรคขนาดใหญ่ อำนาจต่อรองก็จะเพิ่มมากขึ้น จะเห็นการดิสเครดิตกันของสองพรรคนี้มาโดยตลอด เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้ตัวเอง แต่วันนี้อำนาจการต่อรองส่วนใหญ่อยู่ที่พรรคภูมิใจไทยมากกว่า เพราะส.ส.เยอะกว่า
แต่เอกลักษณ์ของพรรคภูมิใจไทยคือทุกคนอยู่ในแถว ฟังหัวหน้าพรรค แกนนำพรรค จึงดูเรียบนิ่งกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีวัฒนธรรมองค์กรเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์กันภายในพรรค ทำให้ฐานที่มั่นคงแข็งแรงในการตัดสินใจของแกนนำ พรรคภูมิใจไทยจึงมีมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ถึงพรรคภูมิใจไทยจะสงบนิ่งแต่ผมเชื่อว่าสุดท้ายก็จะมีการต่อรอง โดยเฉพาะเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ที่พรรคภูมิใจไทยต้องการมากที่สุด
ในส่วนพรรคเล็กวันนี้ต้องปรับยุทธศาสตร์เพื่อความอยู่รอดเหมือนกัน เพราะวันนี้เสียงรัฐบาลห่างฝ่ายค้าน 30-40 เสียง ดังนั้นเสียงของพรรคเล็กจึงไม่ได้สำคัญเหมือนช่วงแรกที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ พรรคเล็กเหล่านี้จึงต้องรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อให้มีอำนาจต่อรอง

มองว่าอายุรัฐบาลชุดนี้จะยาวนานแค่ไหน?

อย่างน้อยจะมีอายุ 2 ปี ตอนนี้ผ่านไป 1 ปีแล้ว เพราะมีปัจจัยตัวช่วยหลายประการ ทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเราเรียกว่าภาวะประชาธิปไตยที่ถูกควบคุมกำกับ การที่ผู้ร่างกติกาซึ่งเกิดขึ้นในสมัยคสช. และได้เป็นรัฐบาลต่อ โอกาสได้เปรียบจึงเป็นไปได้สูง

เมื่อครบ 2 ปี คงต้องประเมินคะแนนนิยมของรัฐบาล หากเป็นไปในทางบวกก็มีโอกาสจะเห็นการยุบสภาเพื่อเลือกตั้ง และทำให้เกิดชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แต่ถ้าคะแนนนิยมไม่ดีก็อาจอยู่ต่อ แต่การอยู่ต่อหลังจาก 2 ปีนั้นมีความเสี่ยงหลายประการ และเผชิญงานหนักหลังโควิด-19

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน