วันนี้ (27 มิ.ย.) รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อ.ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก บอกลเล่าเรื่องราวของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำ นปช. ที่ขณะนี้ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก ในคดีชุมนุมปิดล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550 และนำตัวไปคุมยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน

โดยพวงทอง เล่าว่า : แม้ว่าดิฉันจะมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน แต่การรักษาระยะห่างกับนักการเมืองและผู้มีอำนาจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับดิฉัน ถ้าจะเจอกันก็ต้องเจอในที่สาธารณะและต้องไม่คิดถึงการมีตำแหน่งแห่งที่ใด ๆ แต่ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือ “เต้น”

เป็นนักการเมืองคนแรกและคนเดียวที่ดิฉันเป็นฝ่ายขอพบก่อน ความต้องการจะพบเขาเกิดขึ้นหลังจากได้อ่านหนังสือ สุภาพบุรุษไพร่ ของ ฟ้ารุ่ง ศรีขาว Fah Pui โดยเฉพาะย่อหน้าที่ว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ณัฐวุฒิจะทำอะไร”

“ผมเสียใจมาก ๆ เจ็บปวดมาก ๆ ที่มีคนตายที่วัดปทุมฯ 6 ศพ เพราะผมไปตอบรับข้อเสนอของนักวิชาการสันติวิธี อาจารย์โคทม อารียากับพวก ที่เรียกร้องผ่านสื่อให้เอาวัดปทุมวนารามเป็นเขตอภัยทาน แล้วให้เอาเด็กและผู้หญิง คนแก่เข้าไปอยู่ก่อน 19 พฤษภาไม่กี่วัน

ผมตอบรับให้คนเข้าไป รวมถึงวันที่ 19 ผมก็เป็นคนบอกให้คนเข้าไปเพื่อว่ารัฐบาลจะจัดรถมารับ แต่ปรากฏว่ามีคนตาย 6 ศพบริเวณวัด ถ้าผมรู้ว่าจะเป็นแบบนั้น ผมจะไม่มอบตัวเด็ดขาด ผมจะอยู่จนกว่าคนได้กลับบ้านหมด

ผมจะรอส่งพี่น้องกลับบ้านเหมือนปี 52 ที่ไปส่งคนที่ลานพระบรมรูปทรงม้าจนคนกลับบ้านหมด ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะอยู่จนให้เขาออกไปหมด ผมนึกว่าในวัดมันปลอดภัย ผมไม่นึกว่าจะมีทหารที่ไหนมายิงในวัด พฤติกรรมการฆ่ามันอำมหิตมาก” (น.176)

หลังจากณัฐวุฒิได้อิสรภาพ เขาไปเยือนวัดปทุมฯ เป็นครั้งแรก เขาได้กล่าวว่า…“ผู้ที่ถูกยิงทั้งหมดไม่มีอาวุธ เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากเวทีการชุมนุมยุติไปแล้ว 5-6 ชั่วโมง…ผมมีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่ามันเหมือนกับผมประกาศให้พี่น้องมาอยู่ที่นี่ แล้วพี่น้องเขาก็มา เพราะเชื่อที่ผมประกาศว่าปลอดภัย แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าคืนนั้นทั้งคืน พี่น้องหลายพันชีวิตในนี้ต้องเผชิญทั้งภาพเหตุการณ์และประสบการณ์ชีวิตที่โหดร้าย”

ข้อความเหล่านี้ชี้ให้เห็นความรู้สึกรับผิดชอบต่อพี่น้องเสื้อแดงของเขา จึงทำให้ดิฉันหวังว่าเขาน่าจะเป็นคนที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค. 53 ได้

ในช่วงนั้นดิฉันและเพื่อน ๆ ในกลุ่มศูนย์ข้อมูลประชาชนฯ (ศปช.) กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อทำรายงาน “ความจริงเพื่อความยุติธรรม : การสลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53” ทำให้พวกเราได้รับรู้ความเดือดร้อนของหลายครอบครัว บางครอบครัวพ่อที่มีอาชีพเข็นรถขายของย่านคลองเตย

พิการจากกระสุนที่เข้ากลางหลัง มีลูกสองคนกำลังเรียน เมื่อพิการ ภรรยาไม่สามารถออกไปทำงานได้ ต้องอยู่บ้านดูแลสามี ต้องหยิบยืมเงินญาติประทังชีวิต บางครอบครัวเด็กมีแต่พ่อ แต่พ่อก็มาเสียชีวิต ฯลฯ ความทุกข์ของพวกเขามากเกินกว่าจะเขียนได้หมดตรงนี้

ผ่านไปปีกว่า พวกเขาไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ รัฐบาลอภิสิทธิ์ย่อมไม่สนใจอยู่แล้ว ส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่สิงหาคม 54 ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะทำเรื่องนี้ ดิฉันจึงคิดว่าลองณัฐวุฒินี่แหละ ถ้าคนนี้ไม่ทำอะไร ก็ไม่ต้องไปหวังใครแล้ว

เรามีนัดกันที่งานมหกรรมหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ในกลางเดือนตุลาคม 2554 เขาไปเซ็นต์หนังสือที่บู๊ทของมติชน แฟนคลับมารอกันแน่นขนัด ในที่สุดเขาก็แยกตัวออกมาได้ วันนั้นได้เจอหนิง จิตรา คชเดชด้วย Jittra Cotchadet พอดี

จึงชวนไปคุยด้วยกัน ดิฉันเล่าเรื่องความทุกข์ของครอบครัวเหยื่อให้เขาฟัง และบอกว่าการออกกฎหมายจ่ายค่าเยียวยาให้กับญาติเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดที่รัฐบาลนี้จะทำได้ ง่ายกว่าออกกฎหมายนิรโทษกรรมแน่ๆ ถ้าไม่ทำก็อย่าเป็นรัฐบาลเลย

ณัฐวุฒิรับปากว่าจะหาทางผลักดันให้ได้ และมอบเงินส่วนตัวมาก้อนหนึ่งให้กับ ศปช. เพื่อนำไปช่วยครอบครัวที่เดือดร้อนก่อน ดิฉันกลับบ้านโดยไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก มันอาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ได้

แต่เพียงสองวันให้หลัง เขาก็ติดต่อกลับมา บอกว่าอยากให้ดิฉันช่วยร่างเกณฑ์การเยียวยาให้หน่อย เขาจะเอาไปเสนอนายกฯยิ่งลักษณ์ ดิฉันรับปากว่าจะทำให้ แต่พอช้า หายไปหลายวัน เขาก็โทรมาตามอีก

ในการร่างเกณฑ์เยียวยา ดิฉันได้เชิญอาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ Panat Tasneeyanond อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ทนายเสาวรส โพธิ์งาม Ros Pongam และนีรนุช เนียมประดิษฐ์ (น้อง) เพื่อนร่วมทีม ศปช. มาช่วยกันจัดทำ

ต้นมกราคม 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีมติให้จ่ายเงินเยียวยา รายละเอียดต่างจากร่างที่ทีมงานเสนอไปบ้าง แต่ยอดเงินไม่ต่างกันมากนัก ณัฐวุฒิบอกว่าคนในพรรคเพื่อไทยอีกคนหนึ่งที่ช่วยดูแลแก้ไขและผลักดันร่างนี้คือ คุณวัฒนา เมืองสุข

ณัฐวุฒิ ไม่เคยนำเรื่องนี้มาคุยโอ่ในที่สาธารณะว่าเขาเป็นคนผลักดันอยู่เบื้องหลัง ทำให้ดิฉันนับถือเขามากขึ้น

เราได้เจอและคุยกันอีกหลายครั้ง บางครั้งเขาก็โทรมาขอข้อมูลวิชาการ บางครั้งดิฉันขอสัมภาษณ์เขาสำหรับงานวิจัย เรื่องสำคัญที่ควรบันทึกไว้ก็คือ เราคุยกันหลายครั้งเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองตั้งแต่ปี 2549

ณัฐวุฒิยืนยันว่าต้องไม่รวมแกนนำการเมืองไม่ว่าฝ่ายใดๆ แต่ขอให้ประชาชน โดยเฉพาะคนเสื้อแดงจำนวนมากที่โดนคดีได้อิสรภาพ (หลังสลายการชุมนุมปี 53 คนหลายร้อยคนถูกดำเนินคดี-จำคุกข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 6 เดือน-2 ปี คนอีกเกือบร้อยถูกดำเนินคดีข้อหาเผาสถานที่ราชการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด)

จนกระทั่งรัฐบาลเพื่อไทยมุบมิบผลักดันร่างนิรโทษกรรมเหมาเข่ง พอดิฉันได้ข่าวนี้ก็โมโหมาก โทรคุยกับณัฐวุฒิ เขาบอกว่าก็เพิ่งรู้เหมือนกัน และยืนยันว่าเขาจะไม่ยกมือรับรองร่างกฎหมายนี้แม้จะทำให้พรรคไม่พอใจก็ตาม

และเขาก็ทำเช่นนั้นสมกับเป็น “สุภาพบุรุษไพร่” จริงๆ

“เราเป็นเพื่อนกัน” และเราจะไปเยี่ยมเพื่อนค่ะ

 

(ชมคลิป : ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แจงชัดๆ วาทะ “เผาเลย ผมรับผิดชอบเอง”)


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน