“ปู”ขึ้นศาลคดีจำนำข้าวนัดสุดท้ายวันนี้ “บิ๊กตู่”เตือนกองเชียร์อย่าก่อความวุ่นวายหน้าศาล แนะให้เชียร์อยู่ที่บ้าน ทหารประกบติดอดีตส.ส.เพื่อไทย สกัดระดมมวลชน “วิษณุ” ปัดไม่รู้ปฏิทินเลือกตั้ง 19 ส.ค.61 สนช.ตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณากฎหมายลูกพรรคการเมือง สะพัดเพิ่มโทษขั้นตอนไพรมารี่โหวต ตั้งแต่จำคุก-ปรับ-ยุบพรรค “นิพิฏฐ์”ชี้หายนะการเมือง “มีชัย”เผยแค่ตัดสิทธิเลือกตั้ง ศาลฎีกากลับคำตัดสิน สั่งจำคุก “จตุพร”1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีหมิ่น”มาร์ค” ศาลอาญายกฟ้อง 6 แกนนำพันธมิตรฯ ชุมนุมต้านรัฐบาลสมัครปี”51

“บิ๊กตู่”บ่นแบกรับปัญหาอื้อ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 ก.ค. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวเปิดงาน “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพบผู้ใช้” ว่า เรามีศักยภาพในหลายด้าน รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อกระจายรายได้ให้ทั่วถึง ลดความไม่เป็นธรรมและขอร้องทุกหน่วยงานว่าจะต้องมีการปฏิบัติจริงในการพัฒนาประเทศให้เป็น 4.0 ไม่ใช่ขึ้นป้ายให้เห็นเท่านั้น จะต้องพัฒนาความคิดของคนโดยเฉพาะเด็ก ซึ่งตนติดตามตลอดว่าทุกหน่วยงานจะใช้วิธีอย่างไรให้คนเข้าใจและปฏิบัติได้

การขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ศาสตร์ พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าไปสอนเด็กเพียงว่ามีเงิน 3 แสนบาท เราจะใช้อย่างไรให้เงินครบทั้งหมดภายใน 3 วัน ถ้าครูสอนแบบนี้ตนว่าต้องเอาไปฆ่าทิ้ง แล้วมันมีจริงๆ ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องการศึกษาของบ้านเรา แล้วยังมีปัญหาการเมืองเข้ามาอีก มีอีกหลายเรื่องที่เป็นปัญหา แต่ขี้เกียจพูด เป็นปัญหาที่ตนต้องแบกรับ

เหน็บรบ.เก่าสร้างภาระข้าว-ยาง

นายกฯ กล่าวว่า ทุกคนต้องคิดใหม่ทั้งหมด ถ้ามัวแต่ติดตัวเองก็ไปไม่ได้ ต้องรู้ว่าวันนี้ทำงานเพื่อใคร ปัญหาติดที่ตรงไหน และไม่ใช่จะทำแต่เรื่องใหม่ เพราะเรื่องเก่าบางเรื่องก็ยังเป็นปัญหาไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากยางพารา และข้าว มีปัญหาทับซ้อนจนประชาชนไม่เข้าใจ สับสนอลหม่านไปหมด ไม่รู้ว่าปัญหาเศรษฐกิจคืออะไร เศรษฐกิจไม่ดีมาจากพื้นฐานหรือเป็นเพราะการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน ตนไม่บังอาจไปกล่าวถึงผู้มีพระคุณทั้งหลายที่ทำงานให้กับประเทศที่ผ่านมา ภาระทั้งหมดตกอยู่กับรัฐบาลนี้ ซึ่งต้องแก้ให้ได้ วันนี้กำลังให้แก้ปัญหาเรื่องราคาข้าว ราคายางพารา ถามว่าทุกคนร่วมมือ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ไอ้บางคนก็มายุแยงตะแคงรั่วอีก มันเลยวุ่นไปหมด ภาพที่ออกมาดูแก้ไม่ได้สักอัน แต่เชื่อว่าจะแก้ได้ บางส่วนแก้แล้ว

“ถ้าทุกคนร่วมมือความเข้มแข็งก็เกิด แต่บางคนยังฟังข้างนอกอยู่ ที่บอกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวกลับมาจะทำให้ ขอถามว่าจะทำอย่างไร จะไปเพิ่มตรงปลายอย่างเดิมเหรอ มันให้ไม่ได้ ผิดทั้งพันธสัญญาต่างๆเยอะไปหมด อย่าไปเน้นว่าจะให้ประชาชนแล้วเป็นแบบเดิมอีก ท้ายที่สุดก็มีปัญหา เรื่องข้าวเราพยายามจะระบายออกไปให้ได้มาก แต่ถ้าทุกคนซื่อสัตย์ต่อกันมันก็จบ คิดถึงแต่ประโยชน์ แต่ไม่เคยรู้จักทำอะไรให้ประเทศชาติ ผมก็เหน็ดเหนื่อยที่จะตามไล่จับกับเรื่องพวกนี้ ยืนยันว่าผมและรัฐบาลนี้ไม่ได้มุ่งหวังหาประโยชน์อะไรทั้งสิ้น แต่ใครจะไปหลอกล่อกล่าวหาว่ารัฐบาลส่งคนนั้นคนนี้ไปหามาให้ทีพูดกันเยอะไปหมด” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เซ็งคนไทยรบกันเอง-ซัดเอ็นจีโอ








Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าสร้างคนและบริหารจัดการได้ประเทศไทยจะเป็นมหาอำนาจได้ แต่วันนี้ระหว่างที่เขารบกันไทยก็รบกันเองไปก่อน หลายประเทศเดือดร้อนจากภัยเยอะแยะ เราไม่มีอะไรแต่มาทะเลาะกันเอง การเมืองใส่กันไปมาทุกวันแล้วมันจะแข็งแรงได้อย่างไร ถ้าเราไม่รวมพลังกันไว้ไอ้สิ่งเหล่าร้ายๆ รอบบ้านจะเข้ามาหมด ใครอยากมาอยู่ประเทศไทย ดังนั้น เราต้องเพิ่มมาตรการความมั่นคงให้แข็งแรง แต่ที่บอกว่าไม่ต้องมีทหารและตำรวจ ล้มให้หมด วิธีการคิดแบบนี้ไม่ชาญฉลาด

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เอ็นจีโอต้องร่วมมือกับรัฐบาลเปิดเวทีมา ไม่ใช่เข้ามาจับผิด เข้ามาดูปัญหาว่าอยู่ตรงไหน โดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลยเพราะกลัวจะละเมิด และประเทศไทยก็ติดกับดักอยู่แบบนี้ ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับคนเหล่านี้ บางโครงการคนสนับสนุน 80-90 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ก็รอให้ข้าราชการไปต่อยตีกับเขา และก็ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนไปบังคับเขา ตนถามว่าประชาธิปไตยเราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่หรือไม่ แล้วเสียงส่วนน้อยวันนี้ก็ดูแลอยู่หลายเรื่อง ดังนั้น ต้องอธิบายคนให้เข้าใจว่าบางอย่างต้องทำเพื่อส่วนรวม ไม่อย่างนั้นปัญหาจะหมักหมม ราชการก็โดนทุกวันเพราะเข้าใจไม่ตรงกัน

แนะแฟนคลับ”ปู”เชียร์ที่บ้าน

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีจำนำข้าว ในวันที่ 21 ก.ค. เป็นครั้งที่ 16 นัดสุดท้าย อาจมีมวลชนมาให้กำลังใจจำนวนมาก ว่า ไม่ต้องกำชับเจ้าหน้าที่ เพราะตนมอบหมาย เจ้าหน้าที่ไปแล้ว สื่อมวลชนนั่นแหละที่ต้องกำชับ และเตือนประชาชนว่าอย่าก่อความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ศาล ขอให้เคารพศาล ที่ผ่านมาตนสั่งทุกเรื่องวันนี้สื่อต้องเตือนประชาชนเองบ้างว่าอย่าทำ หรือสื่อมีหน้าที่อย่างเดียวว่ารัฐบาลจะทำอะไร ประชาชนจะเอาอะไรแล้วก็ให้ตีกันสองข้างอย่างนั้นหรือ หน้าที่ของสื่ออยู่ตรงกลางแล้วเขียน

“รอให้ศาลตัดสินตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเรื่องนี้ผมพูดมาเสมอ ผมไม่เห็นสื่อเคยเขียนเลย เขียนกันแต่ว่าฝ่ายนี้จะมาประท้วงมาเดินขบวน ฝ่ายนี้จะมาสนับสนุน แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร จะใช้กฎหมายหรือไม่ มันก็ตีกันอยู่อย่างนี้ สื่อก็ต้องสอนประชาชนด้วยว่าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมา ดูอยู่ที่บ้านก็ได้ มาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น สื่อเองก็รู้ว่าเขาต้องการอะไร ก็ไปจุดชนวนกันอยู่ได้ ไปจุดชนวนกันแบบนี้ตลอดก็ไม่ไหว ทั้งหมดให้เป็นเรื่องของศาล” นายกฯ กล่าว

“บิ๊กเจี๊ยบ”มั่นใจคุมมวลชนอยู่

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวถึงมาตรการรักษาความสงบในการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวของน.ส. ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 21 ก.ค.ว่า ตนไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ แต่เชื่อมั่นในวุฒิภาวะของแต่ละคนที่มาให้กำลังใจ ทราบว่าน่าจะมาไม่มาก ประเมินยอดได้ 300-500 คน ซึ่งมากกว่าครั้งก่อนเพียงเล็กน้อย ส่วนมาตรการรักษาความปลอยภัยก็เป็นความรับผิดชอบของ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ดูแลเรื่องจราจรด้วย ขณะที่ทหารในส่วนกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ดูแลในภาพรวมเช่นกัน ดังนั้น การดำเนินการก็เหมือนทุกครั้ง จึงไม่มีอะไรน่าห่วงใย ผู้สื่อข่าวถามว่ากลัวมือที่สามจะสร้างสถานการณ์หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า ตำรวจดำเนินการตามหน้าที่อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากน.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกพิพากษาคดีจริงแล้วหลบหนีออกนอกประเทศ คสช.จะดำเนินการอย่างไร พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า “ต้องว่ากันอีกที คงไม่ ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบกฎหมาย อย่าคิดอะไรที่ไกลเกิน บางทีอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ขอให้ผ่านวันที่ 21 ก.ค.นี้ไปก่อน เรามีเวลากว่า 2 เดือน” ส่วนจะส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปประกบหรือไม่นั้น ผบ.ทบ.กล่าวว่า ไม่มี

ทนาย-เพื่อไทยบอกเป็นสิทธิม็อบ

นายนพดล หลาวทอง ทีมทนายน.ส. ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า บุคคลที่สนใจเรื่องนี้จะไปให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือเป็นเสรีภาพของบุคคล เนื่องจากไม่ใช่การพิจารณาคดีลับ การไปให้กำลังใจซึ่งกระทำอยู่ภายนอกศาลนั้นสามารถทำได้ ต้องอยู่ในขอบเขต และทำด้วยความเหมาะสม ซึ่งเป็นบรรยากาศอย่าไปมองเจตนาว่ากดดันศาล เนื่องจากการพิจารณาของศาลไม่ได้ดูจากจำนวนคนที่มาเชียร์ว่ามากหรือน้อยแค่ไหน แต่พิจารณาจากเนื้อหา น้ำหนักของข้อมูล

ด้านนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เชื่อว่าจะมีประชาชนเดินทางไปให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 21 ก.ค.กันมาก เพราะเป็นนายกฯ ที่มาจากประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีประชาชนหรือมวลชนเดินทางไปให้กำลังใจ ส่วนที่ พล.อ. ประยุทธ์ รวมทั้งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะห้ามมวลชนเดินทางมาที่ศาลนั้น แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้มีอำนาจ ที่ไม่เคยเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญเลย อยากถามพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร ว่าการที่มวลชนจะเดินทางไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้นผิดกฎหมายข้อไหนไม่ทราบ

ทหารประกบอดีตส.ส.-ลูกน้อง

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ก่อนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์จะขึ้นศาลในวันที่ 21 ก.ค. มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาติดตามทั้งตัวอดีตส.ส. และลูกน้องของ อดีตส.ส.ภาคอีสาน พรรคเพื่อไทย รวมถึงได้ติดตามและห้ามรถยนต์ของชาวบ้านที่เช่าเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาให้กำลังใจน.ส. ยิ่งลักษณ์ด้วย

อย่างไรก็ตาม คิดว่ากรณีนี้ไม่ได้สร้างปัญหาอะไร เมื่อประเมินแล้วเห็นว่าจำนวนคนที่จะไปให้กำลังใจไม่ได้เยอะมาก แต่ก็ไม่ได้น้อย เราบอกชาวบ้านเสมอว่าใครไปได้ก็ไป แต่ถ้าใครไปไม่ได้ก็ให้อยู่บ้าน ยืนยันว่าไม่มีอดีตส.ส.เพื่อไทยจัดมวลชนหรือขนคนเพื่อเดินทางไปให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างแน่นอน ถ้าพูดกันตามตรงหากเราทำ สามารถจัดคนได้มากกว่านี้แน่นอน แต่เราไม่ทำ เวลานี้ที่ทำให้เป็นปัญหาก็มีแต่ข่าวจากฝ่ายความมั่นคงเท่านั้น

“วิษณุ”ชี้ถ้ายื่นตีความ-พิพากษาหยุด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกระบวนการพิจารณาคดีรับจำนำข้าว มาตรา 5 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ ว่า ถือเป็นสิทธิ์ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณาว่าสมควรต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลเห็นสมควรต้องยื่นตีความ การสืบพยานต้องดำเนินต่อไป แต่ยังพิพากษาไม่ได้เพราะต้องรอคำวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากผลวินิจฉัยระบุว่ามาตรา 5 ขัดรัฐธรรมนูญ หลักฐานใหม่ที่อัยการยื่นเพิ่มเติมต้องเอาออกจากสำนวนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หากศาลบอกว่าขัดก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เมื่อถามว่าจะทำให้กระบวนการพิจารณาล่าช้าออกไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า กระบวนการต้องเป็นเช่นนั้น เมื่อเราให้โอกาสเขาก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ ไม่โทษกันว่าช้า เป็นเรื่องกระบวนการ แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่าศาลจะรับคำร้องและส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ปัดไม่รู้ปฏิทินเลือกตั้ง

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดตารางวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 19 ส.ค.2561 ว่า ไม่ทราบ และไม่รู้ว่าประกาศจริงหรือไม่จริง เห็นจากข่าวหนังสือพิมฑ์บางฉบับระบุว่าเป็นการหารือกันภายในที่ยังไม่มีมติอะไรออกมา และไม่แน่ใจว่าการที่ กกต.กำหนดอย่างนั้นอาศัยหลักใด คิดว่าเป็นการกำหนดคร่าวๆ เพื่อเป็นการเตรียมตัวของเขา แต่ตอนนี้ยังไปกำหนดอะไรไม่ได้ เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ยกร่างและยังไม่ถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทุกอย่างจะกำหนดได้ต่อเมื่อร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ประกาศออกมาให้มีผลบังคับใช้

หากกฎหมายเสร็จออกมามีผลใช้บังคับจะรู้ว่าต้องจัดการเลือกตั้งภายในเวลา 5 เดือนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่ง กกต.มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้งอีกครั้ง การออกมาพูดก่อนเหมือนเร่งรัดและเห็นกรอบการทำงานของ กกต.เอง แต่ไม่มีผลไปเร่งรัดคนอื่น

แจงกม.ฟันนักการเมือง

นายวิษณุกล่าวกรณีที่พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้รัฐบาลและ สนช.ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ…. ถูกต้องตามข้อกฎหมายหรือไม่ ว่า ไปออกความเห็นอะไรไม่ได้ เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันแล้วว่าการออกกฎหมายดังกล่าวได้ตรวจสอบทั้งหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว แต่ตนยังไม่ได้ดูตัวกฎหมายดังกล่าวอย่างละเอียด

ส่วนประเด็นที่สังคมถกเถียงกันมากคือกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังหรือไม่ ซึ่งหลักที่ยึดถือมาโดยตลอดเป็นเช่นเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ ซึ่งกฎหมายอาญาจะไม่มีผลย้อนหลังหรือเพิ่มโทษ แต่กฎหมายแพ่งและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสามารถมีผลย้อนหลังได้ในบางกรณี ยืนยันร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผลย้อนหลัง 2 ประเด็น คือ 1.คดีที่มีคำพิพากษาไปแล้ว 2.ไม่มีผลย้อนหลังเพื่อเพิ่มโทษ แต่คดีที่เริ่มกระบวนการไปแล้วแต่ยังไม่แล้วเสร็จสามารถพิจารณาต่อไปได้

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยวิจารณ์ว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวมุ่งไปที่ตัวอดีตนายกฯ ทั้งนายทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายวิษณุกล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ใช่อย่างนั้น ในอดีตเคยมีกรณีที่ขอประกันตัวแล้วจำเลยหลบหนีเป็นจำนวนมาก ทำให้คดีหยุดชะงัก ที่ผ่านมามีบทเรียนจากหลายคดีมาแล้ว จึงได้นำมาสู่การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว กรณีของอดีตนายกฯ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ว่ามีพฤติการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น แต่เรื่องเหล่านี้ได้มีการคิดกันมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคิด เพราะเมื่อครั้งที่เป็นรองนายกฯ ครั้งแรก ในสมัยที่นายทักษิณ เป็นนายกฯ ก็มีการเสนอ

พท.จี้นายกฯส่งศาลรธน.

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ขอให้พิจารณาและส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบท บัญญัติของรัฐธรรมนูญ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากช่องทางที่จะส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญนั้น กำหนดให้สนช. และนายกฯ ต้องเป็นผู้ส่งความเห็นขอให้มีการวินิจฉัยตามมาตรา 148(2) ประกอบมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีช่องทางอื่นส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มี 2 ประเด็นที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคือ 1.ร่างกฎหมายนี้ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคแรกหรือไม่ 2.ข้อความในร่างมาตรา 24/1 ที่บัญญัติไม่ให้นำบทบัญญัติเรื่องอายุความในคดีอาญามาใช้บังคับ ร่างมาตรา 26 วรรคแรกและมาตรา 27 วรรคสอง กรณีที่ให้อำนาจศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ และตามร่างมาตรา 67 ที่ให้กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับย้อนหลังกับคดีที่ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนที่ร่างกฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับ อันเป็นโทษกับบุคคล ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคแรก มาตรา 27 วรรคแรกและวรรคสามหรือไม่

ตั้งกมธ.ร่วมถกกม.พรรคการเมือง

เวลา 12.40 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสนช. โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ….. ตามมาตรา 267 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ภายหลังที่กรธ. ทำความเห็นโต้แย้งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีเนื้อหาขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 2560 จำนวน 5 ประเด็น อาทิ มาตรา 50 ขั้นตอนให้สมาชิกพรรคร่วมสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่มีมาตรการจัดการทุจริตในชั้นประชุมสาขาพรรค มาตรา 51(4) การให้หัวหน้าพรรคต้องลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 เท่านั้น มาตรา 138 การระบุให้พรรคที่จัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดในจังหวัดใดไว้แล้ว สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดนั้นได้ทุกเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งแรก ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบพรรคเล็ก

ทั้งนี้ ที่ประชุมสนช.มีมติให้ตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย จำนวน 11 คน พิจารณาทบทวนข้อโต้แย้งดังกล่าว ได้แก่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายกล้านรงค์ จันทิก นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ พล.อ.วิชิต ศรีประเสริฐ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง นายอุดม รัฐอมฤต นายภัทระ คำพิทักษ์ นายนรชิต สิงหเสนี นายประพันธ์ นัยโกวิท และนาย ศุภชัย สมเจริญ โดยกำหนดกรอบเวลาพิจารณา 15 วัน นับจากวันได้รับการแต่งตั้ง และนัดประชุมครั้งแรกวันที่ 25 ก.ค.นี้

ตั้งโจทย์ปมไพรมารี่โหวต

เวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ในฐานะประธานกลุ่มปฏิรูปการเมืองยุคใหม่ ยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เพื่อเสนอแนะ 4 ประเด็น ในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง หลังจากประชุมพรรคเล็ก 19 พรรค มีมติประกอบด้วย 1.ในการทำไพรมารี่โหวตควรให้พรรคดำเนินการเองทุกขั้นตอนจะสะดวกขึ้น 2.กกต.ต้องอำนวยความสะดวกให้กับพรรคและโอนเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองในการทำกิจกรรมด้วย 3.ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคทำกิจกรรมการเมือง โดยเขียนยกเลิกในบทเฉพาะกาล และ 4.ขอให้ คสช.และนายกฯ ยืนยันการเลือกตั้งตามโรดแม็ป ปี 2561

นายสุรชัยกล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่าไพรมารี่โหวตเป็นเรื่องภายในพรรค ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง ใครจะเป็นผู้รักษากฎหมายว่า ถือเป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิดออกแบบ ขณะนี้มีอยู่ 2 แนวคิด 1.ให้เป็นกิจการภายในของพรรคบริหารจัดการกันเอง หรือ 2.ควรให้ กกต.เข้าไปช่วยดูแลรับผิดชอบ หากเป็นกรณีหลังเท่ากับไพรมารี่โหวตเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกรอบอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่หากไม่นับว่าไพรมารี่โหวตเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง กกต.ไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้อง ขอเวลาศึกษาก่อน และยังไม่เริ่มประชุมเลย

สะพัดเพิ่มโทษถึงขั้นยุบพรรค

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า มีกระแสข่าวว่ามีการหารือนอกรอบระหว่างตัวแทน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองของสนช. กับตัวแทนของกรธ. มีข้อสรุปเบื้องต้นในการปรับเนื้อหาใหม่ ให้การจัดทำไพรมารี่โหวตเป็นกิจการภายในของพรรค ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง แต่มีการเพิ่มบทลงโทษการกระทำผิดในกรณีดำเนินการไม่ครบตามขั้นตอน หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี หากมีการสัญญาว่าจะให้ คุกคาม ใส่ร้ายด้วยข้อความเป็นเท็จ จูงใจให้คนเข้าใจผิดในคะแนนนิยม มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

นอกจากนี้หากทำผิดในกรณีเรียกรับผลประโยชน์มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และยุบพรรค โดยเตรียมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ทำให้หลายพรรคออกมาทักท้วงเพราะเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นยุบพรรค

“นิพิฏฐ์”ชี้หายนะการเมือง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การนำโทษอาญาและโทษทางการเมืองมาใส่ไว้ในขั้นตอนไพรมารี่โหวต เทียบเคียงกับการเลือกตั้งนั้น ถือเป็นหายนะทางการเมือง เพราะระบบไพรมารี่โหวตเป็นเรื่องใหม่ที่ใช้เป็นครั้งแรก ควรให้พรรคดำเนินการและมีพัฒนาการตามธรรมชาติ แต่ถ้าเริ่มทำแล้วมีบทลงโทษอาญา ยุบพรรค จะเป็นการสนับสนุนพรรคที่ไม่สุจริต ซึ่งจะตั้งตัวปลอมมาบริหาร ส่วนตัวจริงเป็นมาสเตอร์มายด์ชักใยอยู่เบื้องหลัง ไม่ได้ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นการทำลายพรรคอย่างรุนแรง ทำให้แตกแยกตั้งแต่ในระดับพื้นที่ โดยในพรรคจะหารือกัน และเห็นว่าจำเป็นต้องเสนอความเห็นแย้งไปยัง กมธ.ร่วมให้ทบทวนเรื่องนี้ พรรคไม่ได้คัดค้านระบบไพรมารี่โหวต เราทดลองทำมาก่อนแล้วแต่มีปัญหา หากจะให้ดำเนินการก็ควรค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่มากำหนดบทลงโทษรุนแรงตั้งแต่ต้น

“ถ้ากฎหมายออกมากดหัวกันอย่างนี้ผมจะไม่รับตำแหน่งรองหัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรคอีก เพราะเสี่ยงในโทษอาญา อีกทั้งยังกลั่นแกล้งกันได้ด้วย เชื่อว่าพรรคที่ไม่สุจริตจะส่งตัวปลอมไปเป็นผู้บริหารแทน ทำให้พรรคการเมืองไม่ใช่ของจริงในระบบการเมืองอีกต่อไป ส่วนคนสุจริตจะหมดกำลังใจ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับการพัฒนาพรรค การกำหนดโทษการทำผิดของบุคคลเป็นเหตุให้ยุบพรรคก็ขัดรัฐธรรมนูญด้วย ผมจะเสนอให้หัวหน้าพรรคทำความเห็นทักท้วงไปยัง กมธ.ร่วมต่อไป” นายนิพิฏฐ์กล่าว

“นิกร”ชูธงยื่นศาลวินิจฉัย

ด้านนายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า การกำหนดบทลงโทษกรณีกระทำผิดในขั้นตอนไพรมารี่โหวตมีทั้งโทษอาญาและตัดสิทธิการเมืองนั้นพอรับได้ แต่ถึงขั้นที่กำหนดให้ความผิดเฉพาะตัวบุคคลเป็นเหตุให้ยุบพรรคด้วยนั้นน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ

เชื่อว่าเมื่อนำเข้าที่ประชุม กมธ.ร่วมแล้วประเด็นดังกล่าวจะตกไป เพราะ กรธ.ไม่น่าจะยอมให้ผ่าน เนื่องจากขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้การยุบพรรคทำได้โดยง่าย จึงบัญญัติเหตุแห่งการยุบพรรคไว้เฉพาะกรณีกระทำผิดต่อรัฐ กระทำผิดเพื่อให้ได้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น แต่หากเรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของ กมธ.ร่วม และมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ตนจะใช้สิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

“มีชัย”เผยแค่ตัดสิทธิเลือกตั้ง

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า ขั้นตอนการทำไพรมารี่โหวตพรรคต้องตรวจสอบ เพราะหากเสนอไปเท็จ รายงานเท็จ หัวหน้าพรรคต้องรับผิดชอบ จะมีโทษไม่แรง ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง มีผลทำให้เล่นการเมืองไม่ได้สักพักหนึ่ง แต่ไม่ถึงขั้นยุบพรรคการเมือง เพราะเป็นเรื่องภายใน หากมีผู้กลั่นแกล้งในระบบไพรมารี่โหวตนั้น ใครเอาความเท็จไปแจ้งก็มีโทษ เราจะกำหนดโทษทุกระดับดักไว้ ซึ่งการกลั่นแกล้งนั้นจะกำหนดโทษไม่แรง คือ ตัดสิทธิเลือกตั้งเหมือนกัน คือจะใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเกณฑ์ หากโทษแรงมากคนจะไม่ฟ้อง คนที่ทำจะมีบอกหน้าที่ว่าห้ามทำอะไร เช่น ห้ามไปซื้อ ห้ามเอาเงินไปจ่าย คนจ่ายก็โดน หากพรรครู้แต่พรรคไม่ควบคุม หัวหน้าพรรคก็โดน

ต้องยอมรับว่าเรื่องไพรมารี่เป็นเรื่องภายในพรรค หากให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินการจะเท่ากับให้ กกต.เข้าไปวุ่นวายภายในพรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องของการเลือกตั้ง โดย กกต.จะทำหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อ ให้สัมพันธ์กับกรอบเวลาที่วางไว้ แม้จะเขียนว่าไพรมารี่ให้ทำก่อนประกาศเลือกตั้งได้ แต่บางกรณีไม่รู้ล่วงหน้า เช่น ยุบสภา บางคนก็บอกว่าให้ดูแนวโน้ม รู้ล่วงหน้าได้ ก็ไม่จริงเสมอไป ทั้งนี้ เมื่อกำหนดให้ทำก่อนก็ต้องมีระยะเวลาทำ ไม่ใช่ทำไว้ 3 ปีล่วงหน้า เพราะถึงตอนนั้นพรรคเองคงไม่รู้ว่าควรจะส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้น ต้องพิจารณาระยะเวลาใกล้เลือกตั้ง ขณะที่การตรวจสอบปัญหาของการทำไพรมารี่โหวตก่อนส่งชื่อให้ กกต.นั้นเป็นประเด็นที่ กกต.ต้องไปวางแผน

กรธ.รับฟังเสียงทักท้วง

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนกรณีที่ กรธ.เสนอความเห็นโต้แย้งไป เช่น จำนวนสมาชิกพรรคที่จะทำไพรมารี่โหวต หรือการเห็นชอบโดยกรรมการบริหารพรรคเพื่อส่งชื่อให้ กกต.นั้น เป็นรายละเอียดที่ กมธ.ร่วมต้องพิจารณา ซึ่งขณะนี้มีทางออกในหลักการแล้ว แต่บอกตอนนี้อาจจะถูกโกรธได้ สำหรับเนื้อหาที่แก้ไขมีหลักการเบื้องต้นแล้ว เพื่อเป็นข้อเสนอ แต่ไม่ใช่ข้อยุติ หากพูดก่อนจะกลายเป็นประเด็นผูกมัดของที่ประชุม กมธ.ร่วม

“ผมเชื่อว่าการพิจารณาแก้ไขใน กมธ.ร่วมจะไม่ทำให้การพิจารณายืดเยื้อและไม่เกิน 10 วัน เพราะที่ผ่านมาได้ประสานและคุยกันก่อนแล้ว ผ่านพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. ในฐานะเจ้าของเรื่อง เราจำเป็นต้องคุยด้วยเพื่อรู้ว่าเขาคิดอะไร เราไม่ขัดขวางเขา แต่สิ่งที่คุยเพื่อทำเนื้อหาสมบูรณ์” นายมีชัยกล่าว

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวว่า กมธ.ร่วมจะรับฟังคำทักท้วงของพรรคการเมือง เพื่อพิจารณาประกอบการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นไปได้ที่จะทบทวนกรณียุบพรรค โดยรัฐธรรมนูญมีเจตนาให้ยุบพรรคยากขึ้น เพราะถือเป็นโทษประหารทางการเมือง ส่วนการเพิ่มโทษอาญาและโทษทางการเมืองไว้ในการทำผิดชั้นไพรมารี่โหวตเทียบเท่ากับการทุจริตเลือกตั้งนั้นเห็นว่าเหมาะสมแล้ว เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค รวมทั้งผู้ที่กระทำผิด และไม่คิดว่าเป็นการเขียนกฎหมายที่เกินไปกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด

ศาลฎีกาพิพากษาคดี”จตุพร”

เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 20 ก.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 914 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1962/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332

คดีนี้นายอภิสิทธิ์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2552 ระบุว่า วันที่ 10 พ.ค.2552 นาย จตุพรได้ปราศรัยด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อหน้าประชาชนจำนวนกว่าหมื่นคน กรณีการปราบปรามม็อบเสื้อแดง ใส่ความทำนองว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เป็นรัฐบาลภายใต้ทรราชฟันน้ำนม รวมทั้งกล่าวหาว่าโจทก์เป็นคนสั่งทหารไปยิงประชาชน ซึ่งล้วนเป็นเท็จ การ กระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความ เสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างมาก ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนที่ได้ฟังการปราศรัยของจำเลย เหตุเกิดที่วัดไผ่เขียว แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กทม. ซึ่งนายจตุพร จำเลยให้การปฏิเสธ

สั่งจำคุก 1 ปีหมิ่น”มาร์ค”

โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2555 ให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากเห็นว่าทางนำสืบรับได้ว่าเป็นกรณีที่ได้มีการปราศรัย แถลงข่าว วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นการตอบโต้ทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย จึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต่อมานายอภิสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2557 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องเช่นกัน จากนั้นนายอภิสิทธิ์ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายยื่นฎีกาคดีอีก และศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาฎีกาในวันนี้ ปรากฏว่า ศาลฎีกา พิพากษากลับให้จำคุกนายจตุพร 1 ปี ไม่รอลงอาญาและให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน 7 วัน หลังศาลมีคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวนาย จตุพรออกจากศาลอาญาไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวว่า ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับตัวนายจตุพร มาอยู่ในการควบคุมของทางเรือนจำแล้ว เมื่อเวลา 11.00 น. จากการตรวจร่างกายพบว่า มีอาการป่วยด้วยโรคหมอนรองกระดูกอักเสบ นอกนั้นมีสุขภาพแข็งแรงดี โดยจะควบคุมตัวไว้ยังแดน 1 ซึ่งเป็นแดนแรกรับ เมื่อครบ 2 สัปดาห์จะแยกไปอยู่ยังแดนอื่นอีกครั้ง คาดว่านายจตุพรน่าจะปรับตัวได้ เพราะเคยเข้ามาอยู่ในเรือนจำดังกล่าวแล้ว ส่วนการดูแลความปลอดภัยต่างๆ นั้น ทางเรือนจำจะดูแลตามปกติที่ระเบียบกำหนดไว้ ไม่มีอะไรพิเศษ

นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ที่นายจตุพร เคยป่วยด้วยโรคกรวยไตอักเสบและติดเชื้อขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำก่อนหน้านี้ โรคดังกล่าวไม่ใช่โรคประจำตัว แต่เป็นอาการที่สามารถรักษาให้หายได้

“ธิดา”ยอมรับเหนือคาดหมาย

นางธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษานปช. ให้สัมภาษณ์ว่า นับเป็นข่าวร้าย และเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย เนื่องจากคดีหมิ่นนายอภิสิทธิ์ ยังมีอีกรอบหลังปี 2550 คดีนั้นมี ผู้สูญเสียชีวิตในปี 2553 ที่นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ คิดว่าน่าไปโดนคดีนั้น และยังมีหลายคดี เช่น คดีหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ฯ สำหรับ ผู้ที่จะทำหน้าที่ประธาน นปช.แทนนายจตุพรนั้น คิดว่ายังไม่ต้องมีประธานก็ได้ เพราะเราทำงานโดยมีการปรึกษาหารือกันอยู่แล้ว ส่วนคนที่จะทำหน้าที่ในการชี้แจงแถลงยังเป็นนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ได้ ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายคดีของแกนนำนปช.ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของศาล ซึ่งเท่ากับว่าแกนนำนปช.รอการถูกเชือดอยู่ทุกคน

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีลักษณะ 2 ด้าน คือคนชนะเอาไปหมดทุกอย่าง ซึ่งจะเป็นเหรียญสองด้าน ถ้าทำให้คนเกิดความสงสัยและไม่สบายใจ การปรองดองก็คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะการปรองดองต้องเกิดจากหัวใจแท้ๆ แต่อีกฝ่ายต้องกล้ำกลืน ขณะที่อีกไม่ได้อยากปรองดองอย่างแท้จริง เรื่องการปรองดอง

ศาลอาญาตัดสินคดีพธม.

ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีดำ อ.3973/2558 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 78 ปี นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 66 ปี นายพิภพ ธงไชย อายุ 68 ปี นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 63 ปี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 68 ปี นายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 41 ปี นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อายุ 64 ปี นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือนายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี อายุ 57 ปี และนายเทิดภูมิ ใจดี อายุ 72 ปี เป็นจำเลยที่ 1-9

ในความผิดฐานร่วมกันกระทำการเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการโดยผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดให้เลิกแล้วแต่ไม่เลิก จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ปิดถนน-หน่วยราชการปี”51

อัยการโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2558 สรุปว่า วันที่ 25 พ.ค.2551 จำเลยทั้ง 9 คนซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิป ไตย (พธม.) หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ได้นำกลุ่ม พธม. จำนวนมากเคลื่อนขบวนไปตามถนนราชดำเนินมุ่งหน้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล และปิดการจราจรในถนนราชดำเนิน นอก ตั้งแต่สี่แยกมัฆวานรังสรรค์จนถึงสี่แยก จปร. เป็นที่ชุมนุมประท้วงไปจนถึงวันที่ 5 ต.ค.2551 มีการตั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยเรียกว่า “นักรบศรีวิชัย” และยังจัดเตรียมเครื่องมือ เช่น ไม้เบสบอล หนังสติ๊ก ท่อนเหล็ก เพื่อใช้เป็นอาวุธ ส่อในทางที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง ถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศ

ส่วนบนเวทีปราศรัย จำเลยทั้ง 9 คนหมุนเวียนกันปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช มีการปลุกระดมมวลชนที่มาร่วมชุมนุมไปตลอด 24 ชั่วโมง ภายหลังได้ร่วมกันชักชวนผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนปิดถนนสาธารณะและเคลื่อนกำลังในลักษณะดาวกระจาย ไปกดดันสถานที่ราชการหลายแห่ง เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โรงเรียน สถานศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่ชุมนุมต้องหยุดการเรียนการสอนหลายครั้ง เนื่องจากเกรงจะไม่มีความปลอดภัย นอกจากนี้ยังเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย

จำเลยที่ 1-6 รอดเหตุฟ้องซ้ำ

โดยวันนี้จำเลยทั้งหมดมาฟังคำพิพากษาและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวนายสนธิมาจากเรือนจำคลองเปรม ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่าการที่อัยการโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 นั้นเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีพันธมิตรบุกรุกทำเนียบรัฐบาล หมายเลขดำ อ.4925/2555 ซึ่งศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1-6 คนละ 2 ปี อัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงให้ยกฟ้องในส่วนของจำเลย 1-6 ส่วนจำเลยที่ 7-9 นั้นกระทำความผิดฐานมั่วสุม 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 วรรคสาม แต่เห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี

ด้านพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 เพราะคดีที่แล้วศาลได้ตัดสินจำเลยไปแล้วในคดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาล จำคุกคนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา จึง ไม่สามารถฟ้องในคดีเดียวกันได้อีก ส่วนจำเลยที่ 7-9 ยังไม่ถูกตัดสิน ซึ่งศาลให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี

ส่วนนายสมศักดิ์ โกศัยสุข กล่าวว่า ศาลให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน ส่วนจำเลยที่ 7-9 ศาลให้รอการกำหนดโทษไว้ก่อน

มติป.ป.ช.ตั้งอนุไต่สวน3บิ๊กพศ.

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ได้พิจารณากรณีการตรวจสอบการทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณปฏิสังขรณ์วัด 12 คดี ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.ตร.) ส่งสำนวนคดีมาให้ป.ป.ช.ดำเนินการนั้น เมื่อคณะกรรมการป.ป.ช.ให้ตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว และได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงได้ข้อมูลเพิ่มเติมและรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ทราบมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ได้มอบหมายให้คณะทำงานไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยขณะนี้คณะทำงานได้ไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการป.ป.ช.มอบหมายเสร็จแล้ว โดยได้สรุปและเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการ

นายสรรเสริญกล่าวว่า เมื่อที่ประชุมพิจารณาแล้วพบว่ามีมูลความผิดชัดเจนเพียงพอ จึงมีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวน กรณีสำนวนการทุจริตเบิกจ่ายเงินงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นอดีตผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 3 ราย คือ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีต ผอ.พศ. นายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ. และน.ส.ประนอม คงพิกุล รอง ผอ.พศ. พบว่ามีส่วนร่วมกระทำผิดในการเบิกจ่ายงบฯ ดังกล่าว มูลค่าความเสียหาย 20 ล้านบาท โดยให้นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดี

นายสรรเสริญกล่าวว่า ป.ป.ช.เตรียมแจ้งคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนส่งไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คนรับทราบ หรือให้คัดค้านรายชื่ออนุกรรมการต่อไป ส่วนสำนวนคดีที่ ปปป.ตร.ส่งมาอีก 11 สำนวนคดีนั้นให้แสวงหาข้อมูลต่อไปและทยอยสรุปให้ที่ประชุมกรรมการป.ป.ช.พิจารณาเพื่อพิจารณาแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในสำนวนที่ ปปป.ตร.ส่งมามีพระภิกษุหรือบุคลากรในวัดเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า ในสำนวน ปปป.ตร.มีแค่เจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด ส่วนพระไม่ได้ถูกกล่าวหา แต่หากวัดมีส่วนรู้เห็นอาจต้องขอให้พระและบุคลากรในวัดมาเป็นพยาน

เมื่อถามว่าในสำนวน 11 คดีนั้นผู้ถูกกล่าวหาชื่อเดียวกับที่ถูกตั้งอนุกรรมการไต่สวนชุดนี้หรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างปี 2557-59 ดังนั้น จะไม่ใช่ตัวละครเดียวกันทั้งหมด ต้องดูว่าแต่ละช่วงปีนั้นผู้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงของ พศ.นั้นเป็นใครบ้าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน