ศาลสั่งถอนประกัน”จตุพร”คดีก่อ การร้าย ส่งเข้าเรือนจำรอบ 3 ทนายเตรียมยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ส่วน”วีระ-ณัฐวุฒิ-เหวง-นิสิต”รอด กรธ.ถือฤกษ์ 8.59 น. ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐบาล “บิ๊กตู่”ชี้ยังมีเวลา 30 วัน ตรวจทานก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขออย่าเร่งรัด ครม.ปรับเพดานเงินเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผญบ. เพิ่มตำแหน่งละ 5,000 บาท เปิดโควตาผู้ช่วยรัฐมนตรี 10 ที่นั่ง แต่งตั้ง”วิจารย์ สิมาฉายา” เป็นปลัดทส. “มานัส ทารัตน์ใจ” อธิบดีกรมศาสนา โปรดเกล้าฯ 33 สนช.ใหม่แล้ว

นปช.ฟังคำสั่งศาล-ถอนประกัน

เวลา 10.00 น. วันที่ 11 ต.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว นายวีระ หรือนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรมช.พาณิชย์ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช. และนายนิสิต สินธุไพร อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย 5 แกนนำ นปช. จำเลยร่วมในคดีหมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายรวมเมื่อปี 2553 ซึ่งคดีอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ในศาลอาญา เนื่องจากไปออกรายการและพูดยุยง ปลุกปั่น ผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ในการปล่อยชั่วคราว จำเลยทั้ง 5 คนพร้อมทีมทนายเดินทางมาศาล โดยมีกลุ่ม นปช. มาร่วมให้กำลังใจจำนวนมาก

นายจตุพรให้สัมภาษณ์ก่อนฟังคำพิพากษาว่า วันนี้ตนได้เตรียมของใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าเป้มาด้วย ไม่ใช่การแก้เคล็ดหรือลางบอกเหตุแต่ตนเคยเข้าไปอยู่ในเรือนจำมาถึง 2 ครั้ง จึงต้องเตรียมความพร้อม แม้จะเอารองเท้าผ้าใบมาแต่ไม่เอาถุงเท้ามาเด็ดขาด

“จตุพร”เข้าคุกรอบ 3

จากนั้นศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลสั่งปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อควบคุมหรือป้องกันไม่ให้กระทำอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน พิจารณาวีซีดีของอัยการโจทก์แล้วเห็นว่าบทสนทนาบางตอนจำเลยที่ 2 กล่าวพาดพิงบุคคลอื่นด้วยถ้อยคำค่อนข้างรุนแรง หรืออาจกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนที่ได้รับทราบข้อความดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่ถูกพาดพิงและกระทบสิทธิเกียรติยศ เป็นการกระทำผิดเงื่อนไข ส่วนจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 8 ศาลเห็นว่าเป็นการติชมโดยสุจริต

ศาลจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว นายจตุพร จำเลยที่ 2 และยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนประกันในส่วนของจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 8 ส่วนที่จำเลย 1-4 และ 8 ขอให้ยกเลิกเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวในคำร้องคัดค้านที่จำเลยยื่นมาด้วยนั้น ศาลเห็นว่าการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวเพื่อป้องกันภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว ซึ่งศาลจะใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขขึ้นมาเพื่อให้จำเลยที่ 1-4 และ 8 ต้องปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณี จึงยังไม่มีเหตุยกเลิกเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวดังกล่าว

หลังศาลมีคำสั่งถอนประกันนายจตุพร แกนนำและแนวร่วมนปช. รวมถึงนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมทางการเมือง แสดงความเห็นใจและรุมเข้าให้กำลังใจนายจตุพร แนวร่วมบางส่วนได้ร้องไห้เสียใจ ขณะที่นายจตุพร มีสีหน้าเรียบเฉยและยังยิ้มได้ ต่อมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวนายจตุพรขึ้นรถตู้ไปควบคุมต่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

ทนายเตรียมยื่นประกัน

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจำเลย กล่าวว่า หลังจากนี้ 1-2 สัปดาห์จะยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวนายจตุพรใหม่ จะขอให้ศาลไต่สวนเพราะต้องการจะโต้แย้งหลักฐานที่เป็นแผ่นวีซีดีของอัยการโจทก์ที่บางแผ่นเปิดไม่ได้ และอาจมีการแถลงให้สัญญาหรือเพิ่มเงื่อนไขเพื่อให้ศาลปล่อยประกันนายจตุพร ครั้งนี้ศาลให้เหตุผลการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีไว้เพื่อไม่เป็นการจำกัดสิทธิจำเลยจนเกินไปในระหว่างพิจารณาคดี และคดีนี้ยังอยู่ในชั้นสืบพยานโจทก์ยังเหลือระยะเวลาพิจารณาคดีอีกนาน เชื่อว่าหากเว้นระยะเวลาสักพักและยื่นขอปล่อยชั่วคราวศาลจะพิจารณาเพื่อปล่อยชั่วคราวอีกครั้ง ส่วนการยื่นอุทธรณ์คัดค้าน คำสั่งศาลชั้นต้นคงไม่ใช้แนวทางนี้เนื่องจากเกรงจะไม่มีผล เบื้องต้นจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงไว้ จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะอุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว

ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลัง

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผู้บัญชาการ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวว่า ทางเรือนจำฯ ได้รับตัวนายจตุพรมาคุมขังยังเรือนจำแล้ว และได้ตรวจสุขภาพร่างกาย พิมพ์ลายนิ้วมือ และทำประวัติผู้ต้องขัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รายงานเบื้องต้นให้ทราบว่าจากการตรวจสุขภาพร่างกายและจิตใจ พบว่ามีความปกติดี แต่นายจตุพรมีโรคประจำตัวคือเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งหลังจากแพทย์ตรวจสุขภาพร่างกายเสร็จแล้ว ได้ส่งตัวนายจตุพรไปคุมขังยังแดนแรกรับ ส่วนการดูแลนั้นเป็นไปตามระเบียบปกติของทางเรือนจำ ไม่มีมาตรการพิเศษ ทั้งนี้ ทางเรือนจำยังไม่ได้รับการร้องขออะไรจากนายจตุพร สำหรับการเยี่ยมผู้ต้องขังทำได้ตามปกติ คือวันจันทร์ถึงศุกร์ เยี่ยมได้ในเวลาราชการ ส่วนวันเสาร์จะเปิดให้เยี่ยมถึงเวลา 12.00 น.

กรธ.ถือฤกษ์ส่งร่างรธน.นายกฯ

เวลา 08.30 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. พร้อมกรธ. เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติและแก้ไขตามคำถามพ่วงให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไปในเวลา 08.59 น. พร้อมกับตัวร่างรัฐธรรมนูญอีก 120 เล่ม

นายมีชัย ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า รู้สึกตื่นเต้น ที่ผ่านมาเราทำงานด้วยความยากลำบากแทบตาย และหลังจากส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้ นายกฯ แล้ว ถือว่างานในส่วนที่กรธ.รับผิดชอบได้เสร็จสิ้นแล้ว ถามว่าหลังจากนี้ยังมีอะไรน่ากังวลหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือจะทำงานในช่วงต่อไปไม่ทัน

ต่อมาเวลา 08.59 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายมีชัยส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้กับนายกฯ โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนัก นายกฯ และสมาชิกกรธ. ร่วมเป็นสักขีพยาน จากนั้นได้หารือร่วมกันเกือบ 1 ชั่วโมง ก่อนจะถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก

ด้านพล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นายมีชัยส่งร่างรัฐธรรมนูญถึงมือตนเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องรอตรวจทานก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งจะใช้เวลา 30 วันตามขั้นตอน ขณะนี้ยังมีเวลา ขออย่าเร่งรัด

ภายหลังการส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัยให้สัมภาษณ์อีกครั้งที่รัฐสภาว่า นายกฯแสดงความเห็นใจ เพราะกรธ.ทำงานเหนื่อยยาก ขอให้อดทนเพราะทุกคนต่างโดนเล่นงานกันบ้างไม่มากก็น้อย

มีชัยชี้จากนี้วุ่นร่างกม.ลูก

นายมีชัยกล่าวว่า นายกฯเล่าให้ฟังว่ารัฐบาลกำลังเดินหน้าทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับโรดแม็ปและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องเร่งทำกฎหมายที่ฝ่ายรัฐบาลต้องรับผิดชอบ อาจมีนับ 100 ฉบับ และกฎหมายบางฉบับกำหนดเวลาค่อนข้างสั้นต้องทำแบบตะลุมบอน ทำให้ทุกฝ่ายมีงานต้องทำเยอะ ซึ่งรัฐบาล ต้องออกกฎหมายมารองรับอีกมากเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ออกกฎหมายเพิ่มเติมในเรื่องต่างๆ ทั้งที่เป็นสิทธิประโยชน์หน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ประชาชนและโครงสร้างต่างๆ และกฎหมายทั้งหมดจะผ่านไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นผู้พิจารณา

เมื่อถามว่าหลังจากนี้งานหนักที่สุดจะตกอยู่ที่ใคร นายมีชัยกล่าวว่า ทุกฝ่าย เพราะหน่วยราชการต้องถูกรัฐบาลเร่งรัดเพื่อทำร่างกฎหมายเริ่มต้น รัฐบาลมีภาระดูแลให้กฎหมายผ่านไปได้โดยสอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ที่จะทำขึ้น ขณะที่กรธ.ต้องทำกฎหมายลูกให้เสร็จ จากนี้ทุกคนจะวุ่นไปหมด

ส่วนการทำกฎหมายลูก 4 ฉบับให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งนั้น นายมีชัยกล่าวว่า มีอนุกรรมการฝ่ายยกร่างอยู่แล้ว ซึ่งต้องทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด ตนยังไม่คิดจะตั้งบุคคลเพื่อให้ทำหน้าที่กรธ.เพิ่มเติมเพราะเท่าที่มีอยู่ก็ทำได้ ตัวคนที่ขาดไม่ใช่กรธ.แต่เป็นคนที่ทำหน้าที่ร่างกฎหมาย

ร่างกม.ลูกยึดกรอบเลือกตั้ง 60

เมื่อถามว่าฝ่ายการเมืองจับตาการร่างกฎหมายลูกและอาจถูกครหาว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อองค์รวม นายมีชัยกล่าวว่า เวลาทำก็ทำ เพื่อองค์รวม แต่กฎหมายเลือกตั้งยังมีเวลา เนื่องจากกรธ.จะยกร่างให้แล้วเสร็จในช่วงท้ายของกรอบเวลาทำงาน ขณะที่กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องทำให้เสร็จโดยเร็วเขาจะได้ไปเตรียมตัวก่อน

นายมีชัยกล่าวว่า นายกฯ ห่วงว่าจะทำกันตลอดรอดฝั่ง สำเร็จเมื่อไร เพราะสิ่งที่ต้องทำมีเยอะ ซึ่งนายกฯบอกว่าตอนนี้จะเลือกอะไรที่เร็วและลงมือได้ก่อน ส่วนอันอื่นที่ใช้เวลานานให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำ เมื่อถามว่ามีการหารือกับนายกฯหรือไม่เพราะการทำกฎหมายลูกเวลาค่อนข้างจวนเจียนและอาจต้องขยับวันเลือกตั้งออกไป นายมีชัยกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยเพราะจะรู้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไรต่อเมื่อร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับแรกออกมาก่อน คือ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต.และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง

“ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร เพียงแต่พูดคร่าวๆ ว่าภายในปี 2560 ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถพูดได้ว่าการเลือกตั้งจะหลุดจากปี 2560 หรือไม่ การทำงานของ กรธ.พยายามทำให้อยู่ในกรอบเวลาปี 2560 แต่ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อถึงเวลาแล้วฝ่ายอื่นๆ พร้อมหรือไม่ เพราะหลังจากร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับออกก็จะเริ่มนับหนึ่งทันที” นายมีชัยกล่าว

เมื่อถามว่ามีการพูดถึงคำสั่งคสช.หรือประกาศหัวหน้า คสช. ด้วยหรือไม่ ว่าต่อไปจะพิจารณาอย่างไรเพื่อไม่ให้ขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ นายมีชัยกล่าวว่า ไม่ได้พูดเพราะรัฐบาลทำอยู่แล้วเท่าที่ทราบเขามีคณะศึกษาเรื่องนี้อยู่ ส่วนมาตรา 44 ยังใช้ได้เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าใช้ได้ แต่บางอันถ้าขัดกับรัฐธรรมนูญก็ต้องไปยกเลิกเปลี่ยนแปลง ตรงนี้รัฐบาลก็ต้องทำเรื่องไปยังหัวหน้าคสช. ซึ่งต้องพิจารณาว่าจะมีกฎหมายใหม่มาแทนหรือจะยกเลิกไปเลย เขาต้องไปศึกษา

ครม.ขึ้นเงินเดือนกำนัน-ผญบ.

เวลา 13.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม. ว่า ครม.อนุมัติหลักการขึ้นเงินเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และให้กลับไปทบทวนอีกครั้งเพราะต้องดู รายละเอียดว่าจะขึ้นเป็นเงินเดือนหรือเป็นเปอร์เซ็นต์ เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันกับส่วนงานอื่นๆ ด้วย

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ครม.เห็นชอบเพิ่มอัตราเงินตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายรักษาความสงบ ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอว่า การเพิ่มดังกล่าวเป็นการเพิ่มเพดานค่าตอบแทน 25 ขั้นในทุกระดับ ขั้นละ 200 บาท เดิมกำนันจะได้รับเงินเดือน 10,000 บาท เพิ่มเป็น 15,000 บาท ผู้ใหญ่บ้านเดือนละ 8,000 บาท เพิ่มเป็น 13,000 บาท ขณะที่แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายรักษาความสงบเดือนละ 5,000 บาท เพิ่มเป็น 10,000 บาท การเพิ่มค่าตอบแทนครั้งนี้ทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละกว่า 800 ล้านบาท

“การเพิ่มค่าตอบแทนไม่ได้หมายความว่ากำนันจะได้รับเงิน 15,000 บาททันที แต่จะขึ้นให้ทีละ 1 ขั้นต่อปี ตกปีละ 200 บาท ทำให้ได้รับเงิน 10,200 บาทในปีหน้า แต่หากเป็นคนทำงานมีประสิทธิภาพโดดเด่นกว่าคนอื่นจะได้รับ 2 ขั้น คือ 400 บาท โดยผู้ได้รับ 2 ขั้นต้องไม่ติดกันเกิน 2 ปี ทำแบบนี้ไปจนกว่าจะถึงเพดานสูงสุดของตำแหน่งนั้นๆ ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้หลายคนมองว่าเป็นการสร้างฐานคะแนนเสียงของรัฐบาลหรือเรื่องการเมืองและเข้าใจว่าหลายคนพยายามมองแบบนั้นอยู่ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลนี้พยายามเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการในระดับชั้นผู้น้อยและผู้ที่มีรายได้ไม่มาก ทั้งพนักงาน ลูกจ้าง รัฐวิสาหกิจตามลำดับ เพื่อให้สอดคล้องให้ผู้ที่ปฏิบัติงานที่มีรายได้น้อย ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

เพิ่มเก้าอี้ผู้ช่วยรมต.

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบหลักการร่างระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (ฉบับที่…) พ.ศ. ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเสนอ โดยให้เพิ่มจำนวนผู้ช่วยรัฐมนตรีจากเดิม 30 คน เพิ่ม 10 คน รวม 40 คน เพื่อเข้ามาเร่งรัดและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เกี่ยวกับแผนการปฏิรูปประเทศและการกำหนดยุทธศาสตร์ที่มีมากขึ้น และให้ถือว่าเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ อยู่ภายใต้กำกับของนายกฯ ที่ต้องดูแลงาน 6 กลุ่ม และรายงานตรงต่อนายกฯ ได้ทันที

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า การแก้ไขระเบียบฯครั้งนี้ นายกฯให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับสาธารณชน โดยเฉพาะค่าตอบแทนและการเพิ่มภารกิจที่มีมากขึ้น ทางรัฐบาลมีการปรับลดค่าตอบแทนในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557 จากเดิมเคยได้รับเดือนละ 63,800 บาท เหลือเป็น 50,000 บาท ซึ่งการเพิ่มอีก 10 คน ไม่ถือเป็นภาระต่องบประมาณ เพราะงบเพิ่มขึ้นเล็กน้อยขณะที่ได้คนทำงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีตามระเบียบ มีวาระ 1 ปี ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 50,000 บาท และให้ถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ด้วย

สั่งทุกหน่วยแจงข่าวทางลบ

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ในที่ประชุมครม. นายกฯ สั่งการให้ทุกกระทรวงติดตามข้อมูลข่าวสารและชี้แจงข้อมูลที่บิดเบือน ซึ่งกระทบต่อรัฐบาลให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งนายกฯเคยชี้แจงเรื่องดังกล่าวหลายครั้งแต่ยังไม่เป็นไปตามความต้องการ จึงเน้นย้ำให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารทั้งในโซเชี่ยลมีเดีย หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หากพบว่ามีข้อมูลที่พาดพิงถึงภารกิจของหน่วยงานใด ไม่ตรงกับความเป็นจริง หน่วยงานนั้นๆ จะต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจอย่างถูกต้องรวดเร็ว อย่าปล่อยให้นานเพราะประชาชนจะสับสน

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ในฐานะรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จะติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดเช่นกัน และจะเปิดช่องทางให้หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมีโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจ ทั้งในรูปแบบรายงานข่าว สารคดีเชิงข่าวและการสัมภาษณ์ แต่จะไม่เชียร์รัฐบาลจนเกินไป

“บิ๊กตู่”เตรียมบินอินเดีย

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกฯแถลงว่า ที่ประชุมครม.รับทราบกรณีพล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปประเทศอินเดีย เพื่อเข้าร่วมประชุมความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือบิมสเทค ในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ซึ่งจะมีการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์อย่างไม่เป็นทางการของผู้นำประเทศสมาชิกบิมสเทค ทั้ง 7 ประเทศ ในความร่วมมือสาขาต่างๆ 13 สาขา ได้แก่ การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ การค้า การคมนาคม และความเชื่อมโยง สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การจัดการภัยพิบัติ เทคโนโลยี การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การประมง เศรษฐกิจสีฟ้า สาธารณสุข และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน

บิ๊กต๊อกโต้ถกชดใช้”ข้าว”ล่ม

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) ให้สัมภาษณ์ก่อน ประชุมครม. ถึงการยกเลิกประชุมพิจารณาข้อมูลตรวจสอบการรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้เอกชนและผู้ตรวจสอบข้าว หลังต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวอีก 80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากตัวแทนกระทรวงการคลังไม่ได้เข้าร่วมด้วยว่า ไม่มีอะไร ใครบอกว่ากระทรวงการคลังเบี้ยว เขาไม่ได้เบี้ยว และหลังประชุมนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงคลังโทร.มาขอโทษ ตนก็บอกว่าไม่เป็นไรผิดพลาดกันได้ จากนี้จะเรียกประชุมให้เร็วขึ้น อย่าไปคิดถึงขนาดว่าประชุมล่ม ไม่มี และเมื่อปลัดโทร.มาก็จบ ไม่ต้องรายงานนายกฯแล้วแต่ถ้าไม่โทร.ก็ต้องรายงานว่าเกิดเรื่องอะไร ขอย้ำว่าไม่ได้เบี้ยว ไม่ได้ล่ม

ผู้สื่อข่าวถามว่าการพิจารณาจะทันกรอบ 6 เดือนตามที่วางไว้หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่าถ้าเวลาขีดโดยกฎหมายก็ต้องทำให้เร็ว ถ้าจำเป็นก็ต้องทำทั้งวันทั้งคืน แต่ต้องให้ครบองค์ประชุมพิจารณาร่วมกัน และจากการหารือเบื้องต้นเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ทุกคนมีข้อมูลอยู่แล้วเพราะคดีอาญาได้ฟ้องศาลแล้ว ขณะที่คดีแพ่งในส่วนของ 20 เปอร์เซ็นต์ได้เรียกไปแล้ว ขอย้ำว่าไม่เบี้ยวไม่ล่มทุกอย่างผิดพลาดกันได้ ส่วนจะนัดประชุมอีกเมื่อใด เลขาฯศอตช.จะเป็นคนแจ้งอีกครั้ง

ศรีสุวรรณจี้สอบบิ๊กป้อม

เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบด้านจริยธรรมของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กรณีนำคณะเดินทางร่วมประชุมรมว.กลาโหมอาเซียน-สหรัฐ ที่มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ในความผิดตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2551 และการไม่เป็นแบบอย่างที่ดี ขัดต่อค่านิยมหลัก 12 ประการของหัวหน้าคสช. โดยมีนายดนัย จันทิม ผอ.สำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน เป็นผู้รับเรื่อง

โปรดเกล้าฯสนช.แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสนช. เพิ่มเติม จำนวน 33 คน ซึ่งเป็นไปตามข่าวก่อนหน้านี้ โดยเป็นทหาร 26 ราย พลเรือน 5 ราย ตำรวจ 2 ราย

ครม.ตั้ง” วิจารย์ สิมาฉายา”ปลัดทส.

วันที่ 11 ต.ค. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอแต่งตั้ง นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นปลัดกระทรวงทส. กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง นายชาย นครชัย ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นรองปลัดกระทรวง นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัดกระทรวง นายมานัส ทารัตน์ใจ ผู้ตรวจ เป็น อธิบดีกรมการศาสนา น.ส.วิมลลักษณ์ ชูชาติ รองปลัด เป็น ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

รายงานข่าวจากกระทรวงทส. แจ้งว่า การแต่งตั้งนายวิจารย์ เป็นปลัดทส. แทนนายเกษมสันต์ จิณณวาโส อดีตปลัดทส. ที่ถูกโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี ถือว่าอยู่เหนือความคาดหมาย เดิมคาดการณ์ว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. จะแต่งตั้งนายจตุพร บุรุษพัฒน์ รองปลัดทส. ที่อาวุโสสูงสุด หรือนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งมีความใกล้ชิด แต่ทั้งนายจตุพร และนายชลธิศ ต่างมีปัญหาในการทำงานช่วงที่ผ่านมา เช่น นายจตุพร สมัยเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ถูกคณะกรรมการสอบสวน ขณะที่นายชลธิศ มีปัญหาเรื่องการแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้นที่ไม่คืบหน้า รวมทั้งการพาข้าราชการกรมป่าไม้กว่า 30 คนไปเที่ยวต่างประเทศ และปัญหาภายในกรมป่าไม้ ที่สุดพล.อ.สุรศักดิ์ จึงแต่งตั้งนายวิจารย์ ที่มีบุคลิกกลางๆ และเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่ายขึ้นมาทำหน้าที่ปลัดทส.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน