พท. ลั่นหากโหวตผ่าน เรือดำน้ำ เตรียมยื่นศาลรธน.ให้ตีตก เหมือนเงินกู้ 2 ล้านล้าน ยุคยิ่งลักษณ์

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 ส.ค. ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 แถลงว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำสองลำของกองทัพเรือ ส่อขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญหลายมาตรา

ตนยืนยันว่ายังต่อสู้ต่อไป เพื่อให้มีการยับยั้งไม่ให้ซื้อเรือดำน้ำ แม้จะมีความพยายามผ่านงบประมาณและมีความพยายามล็อบบี้ แต่ตนไม่สนใจ ขอเดินหน้ายังยั้ง

ดังนั้นในวันที่ 31 ส.ค. เวลา 09.00 น.จะต้องติดตามดูการประชุมของ กมธ.งบชุดใหญ่ว่าจะมีการดึงเกมเรื่องนี้อออกไปอีกหรือไม่ อีกทั้งในรายงานของอนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ พบว่ามีสาระสำคัญที่ไม่กล้านำไปชี้แจง โดยเฉพาะหน้า 17 ที่ระบุว่าสัญญาการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และบันทึกการเจรจาไม่มีข้อผูกมัดในการเลื่อนการจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าว หมายความว่าสามารถเลื่อนได้ แต่มีความพยายามบอกว่าเลื่อนไม่ได้ เพราะว่าจะโดนค่าปรับ แต่ผลสรุปของอนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ มีความชัดเจนว่าไม่เกิดความเสียหาย

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า อีกทั้งทางสภาฯได้นัดประชุมเพื่อพิจารณางบฯ วาระ 2-3 แล้วในวันที่ 21-22 ก.ย.โดยทางสำนักงบประมาณได้แปรญัตติรอไว้แล้ว แต่แปรไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าจะมีการปรับลดงบประมาณอีกจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องเรือดำน้ำถ้ายังไม่สรุปเสียทีก็ต้องรอกันไปอยู่แบบนี้ ไหนจะต้องทำข้อสังเกตของกมธ.งบฯ เพื่อจัดพิมพ์ร่างพ.ร.บ.งบฯจำนวน 1,550 เล่ม รวมถึงจะต้องจัดส่งร่างให้ถึงมือส.ส.ล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

ตนเกรงว่าสุดท้ายถ้าพิจารณากันไม่ทันภายใน 105 วัน และจะต้องประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.งบฯร่างเดิมของรัฐบาลไปเลย ซึ่งหากดูไทม์ไลน์แล้วกลัวว่าจะไม่ทัน

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนจะนำรัฐธรรมนูญมาต่อสู้ถ้ารัฐบาลดึงดันผ่านเรือดำน้ำให้ได้ คือ หมวด 5 มาตรา 55 ที่บอกว่ารัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง ตนขอถามว่าขณะนี้รัฐบาลดูแลสาธารณสุขและโรคโควิด-19ได้แล้วหรือ ทำไมไม่เอาเงินที่ไปซื้อเรือดำน้ำมาให้ประชาชนตรวจโควิด-19 และมาตรา 62 บอกว่ารัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่าเคร่งครัด

ตนขอถามว่าจะจัดระบบภาษีให้ความเป็นธรรมต่อสังคมอย่างไร เพราะเงินซื้อเรือดำน้ำมาจากภาษีประชาชน ทำไมไม่นำเงินมาช่วยประชาชนก่อน รวมถึงหมวด 6 มาตรา 75 รัฐต้องจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ ประชาชนต้องอยู่เย็นเป็นสุขฯ ก็ขอถามว่าการซื้อเรือดำน้ำ ทำให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขหรือไม่

นายยุทธพงศ์ กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อีกครั้งถ้าเรื่องนี้เป็นจีทูจีต้องมีหนังสือรับมอบอำนาจฉบับเต็มจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนไปลงนาม ที่มีการมอบอำนาจให้พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. ในฐานะเสนาธิการทหารเรือไปลงนามแทน ให้พล.อ.ประวิตรนำมาแสดง แต่ตนคิดว่าไม่มีหนังสือดังกล่าว และถ้าเป็นจีทูจริงจะเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ที่ระบุว่าสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม การค้าการลงทุน และความมั่นคงของรัฐ เข้าข่ายเป็นสนธิสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาภายใน 60 วัน

ซึ่งตนตรวจสอบแล้วยังไม่เคยมีเรื่องดังกล่าวเข้าสภาฯเพื่อให้ความเห็นชอบ ทั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐสภาที่มาจากาการเลือกตั้ง จึงส่อขัดมาตรา 178 เพราะตนสงสัยว่าไม่มีการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐจริงๆ และไม่เคยเห็นรัฐบาลจีนส่งใบเสนอขายเรือดำน้ำมาให้รัฐบาลไทย ซึ่งต้องไปดูสัญญาจ่ายเรือดำน้ำลำแรกมีการจ่ายเงินให้ไปบริษัท China Shipbuilding & Offshore International (choc) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ที่มีการโอนเงิน แต่ไม่มีการโอนเงินไปให้กระทรวงการคลังหรือกระทรวงกลาโหมของจีน ทำไมจึงต้องโอนไปบริษัทดังกล่าวแทน และบริษัทดังกล่าวก็ไม่มีใบมอบอำนาจจากรัฐบาลจีน จึงมีความผิดปกติ และที่ผ่านมากองทัพเรือชี้แจงไม่ละเอียดเรื่องการลงนามจีทูจี
ถ้าพยายามดึงดันให้ผ่านกมธ.งบฯ ผมจะเสนอพรรคเพื่อไทยยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยเปรียบเทียบกับพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความตกไป แล้วให้เอาเงินไปทำสาธารณูปโภค ทำถนน ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ควรเอาเงินไปป้องกันโควิด-19”นายยุทธพงศ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน