‘เอนก’ ยันสอบจรรยาบรรณ 8 อาจารย์ ยื่นประกันเพนกวิน แค่ให้มหาวิทยาลัย ชี้แจง ลั่นไม่ผิด ไม่ต้องกลัว อ.อนุสรณ์ ยันทำในสิ่งที่ถูกต้อง

กรณีที่ นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ตามบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว.ให้ชี้แจงและสอบจรรยาบรรณคณาจารย์ทั้ง 8 คนที่ยื่นประกันลูกศิษย์ในคดีม.112 ตามที่ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นร้องเรียนนั้น

ความคืบหน้าวันที่ 1 พ.ค.64 นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนปกติ เมื่อมีคนร้องเข้ามา ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการอว. ก็ทำหนังสือไปสอบถามทางมหาวิทยาลัย เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบมูล ไม่ได้สั่งให้ไปสอบวินัย หรือแทรกแซงอาจารย์ในเรื่องใดทั้งสิ้น โดยขณะนี้ อธิบดีมธ. และมม. ยังไม่ได้มีหนังสืออะไรตอบกลับมา ซึ่งทางอว.เองก็ไม่ได้มีกรอบเวลาใดทั้งสิ้น เข้าใจว่า เรื่องนี้ต้องใช้เวลา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายมอง การดำเนินการดังกล่าว เป็นการแทรกแซงและเป็นเครื่องมือรัฐบาลในการดำเนินการกับผู้ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับม็อบ นายเอนก กล่าวว่า ตนไม่ได้คิดเช่นนั้น กรณีนี้เป็นการตรวจสอบตามขั้นตอนปกติ ซึ่งหากใครไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ก็ไม่ต้องไปกลัว ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน เมื่อมีคนร้องเข้ามาตนก็สอบถามมหาวิทยาลัยไปตามขั้นตอนเท่านั้น

ขณะที่ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ส่วนตัวชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ด้วยความที่เป็นหนึ่งในผู้ถูกร้องเรียนให้สอบจรรยาบรรณ ขอชี้แจงล่วงหน้าดังนี้ การใช้ตำแหน่งอาจารย์ในการประกันตัวนักศึกษาเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ ไม่ได้เป็นการทำผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยว่าด้วยจรรยาบรรณอาจารย์ โดยเฉพาะการยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นที่พึ่งนักศึกษายามพวกเขาประสบปัญหา เพราะเป็นการช่วยเหลือพวกเขาในการใช้สิทธิผู้ต้องหาที่ได้รับการรับรองทั้งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศ

และยิ่งพวกเขาถูกปฏิเสธสิทธิดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างขัดกับหลักกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นข้อที่ว่าพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่าผิด หรือเงื่อนไขในการควบคุมตัวพวกเขาระหว่างการพิจารณาคดี ก็ยิ่งจำเป็นที่ผู้เป็นอาจารย์จะต้องให้ความช่วยเหลือพวกเขา ไม่เฉพาะแต่การใช้ตำแหน่งในการประกันตัว หากแต่ยังรวมถึงการรณรงค์เคลื่อนไหวในด้านอื่นด้วย

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยยังไม่ได้ปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาอย่างหนักแน่นมั่นคงพอ มหาวิทยาลัยพร่ำบอกนักศึกษาว่ามีคุณูปการต่อประชาธิปไตยโดยอาศัยบุญเก่าหรือเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ ทว่าในการเผชิญปัญหาความขัดแย้งการเมืองร่วมสมัย คนมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจำนวนมากกลับเข้าร่วมหรือสนับสนุนฝ่ายทำลายประชาธิปไตย

ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ในรูปกลุ่มเคลื่อนไหว คณะรัฐประหาร หรือรัฐบาลที่กลายร่างมา โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาเป็นกรณีล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นเพราะความที่เขาเคยอยู่ในมหาวิทยาลัย ความที่เขาเป็นผู้บังคับบัญชา หรือว่าเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย แต่ก็ทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นสถาบันที่พูดอย่างทำอย่างอย่างน่าอดสู

ฉะนั้น นอกจากจะไม่เต้นตาม “บัญชา” ของรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่เล่นไปตามบทบาทที่ช่วยให้เขาได้ดิบได้ดี มหาวิทยาลัยจะต้องปกป้องสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาให้หนักแน่นมั่นคงมากกว่านี้

โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่พวกเขา คือ “เพนกวิน” และ “รุ้ง” อดอาหารประท้วงการไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวมากว่าหนึ่งเดือน และ “เพนกวิน” นั้นสภาพร่างกายอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ก่อนที่พวกเขาจะเป็นอะไรไป ซึ่งจะสร้างรอยด่างพร้อยให้มหาวิทยาลัยจนไม่สามารถอาศัยบุญเก่าในการเล่าเรื่องให้นักศึกษาฟังได้อีก ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯ ก็ปล่อยให้เขากลายเป็นโมฆะบุรุษทางการเมืองไป และให้ถูกจดจำว่าได้ก่อกรรมทำเข็ญอะไรไว้กับประชาธิปไตยของประเทศนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน