ศาลฎีกา นัดอ่านคำพิพากษา ‘ปารีณา’ ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ 7 เม.ย.65 พร้อมมีมติเสียงข้างมาก สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่กมธ.ด้วย

วันที่ 9 พ.ย.64 ที่ศาลฎีกา สนามหลวง องค์คณะศาลฎีกาออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรกและตรวจพยานหลักฐานคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นร้อง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงกรณีรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.ราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม

โดยศาลกำหนดไต่สวน ป.ป.ช. โจทก์ ทั้งสิ้น 12 ปาก กำหนดไต่สวนพยานโจทก์วันที่ 8, 22, 28 ก.พ.65 ขณะที่พยานของน.ส.ปารีณา ผู้ถูกร้องมีทั้งหมด 10 ปาก กำหนดไต่สวนวันที่ 1-3 มี.ค.65 และ 8-10 มี.ค.65 โดยวันนัดพยาน ให้พยานมาศาลตามนัดทุกนัด มิเช่นนั้นจะถือว่ ไม่ติดใจในการให้ถ้อยคำ พร้อมนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 7 เม.ย.65 เวลา 10.30 น.

ทั้งนี้ ในการนัดพิจารณาคดีวันนี้ (9 พ.ย.) ป.ป.ช.ยังได้ยื่นคัดค้านการดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ของ น.ส.ปารีณา เนื่องจากเห็นว่ ศาลสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.แล้ว ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นหน้าที่ของสภา การทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของส.ส. ดังนั้น เมื่อ น.ส.ปารีณา รับคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมาธิการได้

ส่วนกรณี น.ส.ปารีณาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการยื่นคำร้องของ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ผ่านมติของคณะกรรมการป.ป.ช.นั้น ศาลเห็นว่า มิใช่บทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้ยกคำร้อง

ขณะที่ นายทิวา การกระสัง ทนายความของ น.ส.ปารีณา กล่าวว่า กรณีศาลระบุว่าน.ส.ปารีณา ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการได้นั้น ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีศาลชี้ขาดว่า ผู้ที่อยู่ระหว่างสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ไปเป็นกรรมาธิการไม่ได้ แต่กระบวนการแต่งตั้ง น.ส.ปารีณา เป็นกระบวนการโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีการเสนอชื่อผ่านสภาและได้รับความเห็นชอบ โดยน.ส.ปารีณา ไม่ได้เข้าไปเป็นเอง

ดังนั้น จึงไม่ส่งผลทำให้งบประมาณรายจ่ายปี 2565 ต้องเป็นโมฆะและไม่ผูกพันใดๆ เป็นเพียงแค่การสร้างบรรทัดฐานใหม่เท่านั้น แต่หากมีข้อสงสัยในประเด็นนี้ ควรมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเพื่อความชัดเจน เพราะคำวินิจฉัยของศาลฎีกาไม่ได้ผูกพันทุกองค์กรรวมถึงรัฐสภา

ขณะที่ น.ส.ปารีณา ยืนยันว่า เคารพการตัดสินใจของศาล ส่วนจะส่งผลต่อการหาเสียงเลือกตั้งที่ขณะนี้มีกระแสเรื่องการหาเสียงนั้น ยืนยันว่า ไม่กังวล เพราะระหว่างที่ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน