ชัชชาติ ถอดบทเรียน โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู ตั้งเป้ากรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดยาบ้า โรงเรียนและชุมชนต้องปลอดภัย พร้อมกวดขันพกอาวุธ

เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรม ที่ จ.หนองบัวลำภู ว่า เหตุการณ์หนองบัวลำภู สุดท้ายมันก็จะผ่านไป แต่ผ่านไปแล้วขอให้ทุกอย่างดีขึ้น ขอให้ผู้ที่เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม และกทม.ต้องเอาจริงเอาจังมากขึ้น

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ขอให้คิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกรณีตัวอย่าง โดยอย่าคิดว่าจะไม่เกิดอีก กทม.ต้องเตรียมพร้อมและต้องกำหนดมาตรการในโรงเรียนให้มากขึ้น ต้องไม่ให้คนอื่นเข้าในพื้นที่ และจัดให้มีระบบแจ้งเตือนป้องกันภัย ทั้งหมดนี้อาจเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือปัญหายาบ้าและอาวุธปืนที่ต้องเคร่งครัดมากขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมีสัญญาณเตือนล่วงหน้ามาแล้ว มีความไม่ปกติของสภาพจิตใจของคน แต่หากคนในชุมชนเข้มแข็ง อาจจะทำให้เราเห็นได้ว่าคนในชุมชนเป็นอย่างไร และต้องแก้ไขอย่างไร

“เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจังที่กทม.ต้องเข้าไปดู ต้องเพิ่มมาตรการในชุมชน เสริมกำลังในชุมชน ให้ชุมชนได้ดูแลผู้ติดยาและทำการบำบัด ซึ่งกทม.มีศูนย์บำบัด และมีศูนย์บริการสาธารณสุขที่จะร่วมดูแล แต่กทม.จะรับไปทำให้เข้มข้นขึ้น โดยต้องตั้งเป้าให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ปลอดยาบ้า ถึงแม้จะยากหรืออยู่นอกการควบคุมของเราในหลายๆ เรื่อง รวมถึงชุมชนและโรงเรียนต้องเป็นเขตปลอดยาบ้า ต้องตั้งเป็นเป้าหมายเพื่อให้มีมาตรการดำเนินการ” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ในชุมชนน่าจะมีข้อมูลอยู่แล้ว ประธานชุมชนรู้อยู่แล้วว่าคนไหนมีความน่ากลัวหรือจะเป็นอันตราย ต้องทำข้อมูลและทำในเชิงรุกให้เข้มแข็งขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกทม.ไม่ได้มีอำนาจทั้งหมด อย่างน้อยโรงเรียนของกทม.ที่เรารับผิดชอบต้องปลอดภัย ซึ่งโรงเรียนมีทั้งรปภ.และเทศกิจ แต่ที่เป็นห่วงคือศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีรปภ. ครูอาสาก็เป็นครูผู้หญิงหรือผู้สูงอายุ

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้หารือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และคุยกันต่อเนื่องผ่านคณะกรรมการ Smart Safety Zone เรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องหนึ่งที่คุยกับทางตำรวจตลอด ที่ผ่านมาอาจไม่ได้เน้น แต่ตอนนี้ต้องร่วมมือกับตำรวจให้จริงจังมากขึ้น

ด้าน พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หากแยกประเภทปัญหาจะพบว่า ปัญหาคืออาวุธปืน ยาเสพติด และพฤติกรรมของคน เรื่องยาเสพติดในช่วงหนึ่งมีนโยบายจับกุมและดำเนินคดี จากนั้นมีนโยบายผู้เสพคือผู้ป่วย ซึ่งต้องทำให้การดูแลเชิงลึกขึ้น แต่หากสถานที่ไม่เพียงพอ คนดูแลไม่พอ และผู้เสพไม่ให้ความร่วมมือ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาแบบผิวเผิน

ส่วนเรื่องของอาวุธปืนในประเทศ เราทำได้ลำบาก เนื่องจากมีจำนวนอาวุธปืนหลักล้านกระบอก แต่นโยบายควบคุมอาวุธปืนก็มีความเข้มแข็งและชัดเจน คนที่จะซื้ออาวุธปืนเป็นใครบ้าง มีการพิจารณาว่าใครจะสามารถมีแล้วเก็บไว้ที่บ้าน หรือจะมีแล้วสามารถพกพาได้








Advertisement

ในส่วนของกทม.เป็นอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้อนุญาตให้พกพาอาวุธปืนได้ ซึ่งในแต่ละปีมีการพิจารณาอนุญาตเพียงหลักร้อยเท่านั้น โดยเป็นผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ อาทิ ผู้พิพากษา อัยการ ราชทัณฑ์ ส่วนตำรวจก็มีข้อยกเว้น หากเป็นการใส่เครื่องแบบเพื่อปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ กทม.ได้ให้นโยบายกวดขันในสถานที่ไม่จำเป็นต้องพกพาอาวุธมากขึ้น อาทิ โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร และจะกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในสถานที่อื่นด้วย ซึ่งต้องดูว่าในส่วนของกทม.มีอำนาจอย่างไรบ้าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน