สุชัชวีร์ ควง ศิริภา ขอคะแนนชาวฝั่งธน ลุยใช้เครื่องวัดฝุ่น PM 2.5 พบเกินค่ามาตรฐาน ชูนโยบาย Wrap ตึกก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น 2,000 จุด ทั่วกรุงฯ

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ที่ตลาดสำเหร่ เขตธนบุรี นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ลงพื้นที่ขอคะแนนเสียงสนับสนุนให้กับ น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เบอร์ 11 เขตธนบุรี คลองสาน ราษฎร์บูรณะ พรรคประชาธิปัตย์

โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการพบปะประชาชนที่มาจ่ายตลาดยามเช้า นำเสนอยโนบายของพรรค และรับฟังการสะท้อนปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อรวบรวมและผลักดันให้มีการแก้ไข โดยมีการสะท้อนถึงปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ปัญหาค่าครองชีพปากท้อง ปัญหาสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานกระทบต่อวิถีชีวิตคนในชุมชน เนื่องจากคนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยเป็นผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ นายสุชัชวีร์ ได้นำเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ได้มาตรฐานไปตรวจวัดในจุดที่ประชาชนร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบอย่างมาก ที่บริเวณถนนเจริญนคร 23 ด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัย มีโรงเรียนอนุบาล และเป็นพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง กระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ โดยพบค่าฝุ่น PM 2.5 ถึง 65 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าเกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดค่า PM 2.5 ไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นคุณภาพสูงอย่างน้อย 2,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ และขอความร่วมมือป้าย LED แจ้งปริมาณฝุ่น พร้อมส่งสัญญาณเตือนเมื่อเกินค่ามาตรฐาน ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหา นอกจากนี้จะกำหนดเงื่อนไขในกฎหมายอากาศสะอาด ให้ตึกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างต้อง Wrap ตึก และสามารถเคลมเป็นภาษีได้ ถ้าไม่ Wrap ต้องมีมาตรการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างหรือโดนภาษีหนัก และในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในที่มีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลมากมาย ควรเป็นเขต LEZ (Low Emission Zone) เช่น ถ้ารถสิบล้อเข้าเขตนี้ต้องเสียภาษีเพิ่ม รถควันดำห้ามเข้า

ด้านน.ส.ศิริภา กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าให้มีกฎหมายเข้ามาควบคุมมลพิษอย่างจริงจัง ภายใต้ พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อกำหนดมาตรฐานมลพิษทางอากาศอย่างเป็นธรรมต่อสุขภาพประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน 16 เขต ที่มีสถานศึกษามากกว่า 300 โรงเรียน สถานพยาบาลมากกว่า 40 แห่ง และได้รับผลกระทบจากฝุ่นอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม พื้นที่ซอยเจริญนคร 23 นอกจากเรื่องผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังเป็น 1 ใน 10 พื้นที่อันตรายของ กทม. เนื่องจากเป็นซอยเปลี่ยว กลางคืนมืดอันตราย จนชาวบ้านในพื้นที่ต้องรวมกลุ่มกันแก้ปัญหา ติดตั้งไฟฟ้ากันเอง

น.ส.ศิริภา กล่าวต่อว่า ตนจึงรับฟังปัญหาเพื่อมาผลักดันเป็นนโยบาย เพิ่มกล้องวงจรปิดมาช่วยสอดส่องดูแล และใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ ระบบแจ้งเตือนไปยังสถานีตำรวจเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ควบคู่กับการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลพัฒนาพื้นที่ให้มีความปลอดภัย เฝ้าระวังปัญหายาเสพติด เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน