เรืองไกร จี้กกต.สอบ ‘พิธา’ งุบงิบขายหุ้นไอทีวี ชี้ไม่ทำให้พ้นผิด ท้าเปิดข้อมูล ทนายอั๋น บุรีรัมย์ บุกถึงตัวเรืองไกร ถามคนบุรีรัมย์ไหม พร้อมยื่นค้านคำร้อง

เมื่อเวลา 09.55 น. วันที่ 6 มิ.ย.2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนา สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ มายื่นข้อมูลเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 7 กรณีการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล

นายเรืองไกร กล่าวว่า จากการติดตามพบว่า มีการพูดกันว่าไอทีวี เลิกประกอบกิจการเป็นเด็ดขาดแล้วหรือไม่ เรื่องนี้ไอทีวีมีสัญญาเข้าร่วมงานกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) 30 ปี ตั้งแต่ก.ค.2538 ต่อมาถูกบอกเลิกในปี 2550 ไอทีวีจึงยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ ในชั้นแรกไอทีวีแพ้

จากนั้นจึงร้องเป็นครั้งที่ 2 และอนุญาโตฯ วินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของ สปน.นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ สปน.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้บอกเลิกคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ เพราะเห็นว่าอนุญาโตฯ รับคำฟ้องซ้อนกับเรื่องแรกที่มีคำวินิจฉัยไปแล้ว จึงขอให้เพิกถอน ซึ่งศาลปกครองมีคำพิพากษาว่า อนุญาโตฯ ชี้ขาดครั้งที่ 2 ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลปกครองไม่มีอำนาจไปเพิกถอนตามคำร้องของ สปน.

ทั้งนี้ เมื่อศาลยกคำพิพากษาดังกล่าว ต่อมา สปน.ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และอยู่ระหว่างการพิจารณา ตนจึงนำข้อมูลมาให้ กกต.ประกอบการพิจารณา

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า ในงาน Pride Month ที่มีการถามนายพิธา ว่ามีการขายหุ้นหรือไม่ แต่นายพิธาไม่ได้ตอบ จึงเป็นเหตุว่าต้องมีการเพิ่มคำร้อง ให้ กกต.ตรวจสอบประเด็นนี้ว่า นายพิธาได้ขายหุ้นหรือไม่ ซึ่งนายพิธามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวีมา 16 ปี หลักฐานปรากฏชัด เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ ถือมาเกินวันสมัครรับเลือกตั้งแน่นอน เพราะรายชื่อผู้ถือหุ้นปรากฏวันที่ 16 เม.ย.66 แต่วันรับสมัครส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ คือวันที่ 3-7 เม.ย.

ดังนั้น ขอให้ตรวจสอบการโอนหุ้นที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งตนไม่ทราบวัตถุประสงค์ เพราะคงไม่ทำให้การสมัครส.ส. หรือการยอมรับเป็นบัญชีนายกฯ นั้นเสียไป ที่ไม่เสียไปเพราะเมื่อหากยื่นไปแล้วมีลักษณะต้องห้าม ถ้าศาลตัดสินว่านายพิธาถือหุ้นสื่อ นายพิธาจะหมดสิทธิเป็นส.ส.และบัญชีนายกฯ ด้วย ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งมาตรา 14 ที่ระบุว่าถ้ามีลักษณะต้องห้าม หรือไม่มีหนังสือยินยอม ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อ

จึงเป็นหน้าที่ กกต.จะต้องสอบถามถึงการขายหุ้นของนายพิธา หากมีการซื้อขายก็ต้องส่งสำเนาการโอนหุ้น ซึ่งตามพ.ร.บ.บริษัทจำกัดมหาชน 2535 หมวด 5 เรื่องผู้ถือหุ้นระบุชัดเจนว่า การโอนหุ้นต้องแจ้งใน 7-14 วัน หากไม่แจ้งจะถือว่าไม่มีการโอนหุ้น จึงสันนิษฐานว่าน่าจะโอนแล้ว และน่าจะโอนหลังจากที่ตนร้องตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา และเข้าให้ถ้อยคำต่อ กกต.เมื่อวันที่ 29 พ.ค. น่าจะมีการขายในช่วงนี้ ขณะที่บริษัท จะต้องจดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการโอนโดยตราสาร ใบหุ้นสลักหลัง หรือขอให้ออกใบหุ้นใหม่ เขียนเอาไว้หมด








Advertisement

“ขอเรียกร้องไปยังนายพิธา ให้เปิดเผยข้อมูล หากยังไม่ได้โอนก็ตอบมาว่ายังไม่ได้โอน ถ้าโอน ขอให้แสดงหลักฐานว่าโอนแล้ว และจดแจ้งต่อบริษัทไอทีวีแล้ว แต่ถ้าคิดว่าโอนแล้วจะทำให้กลับมาเป็นบัญชีนายกฯ โดยชอบ ผมคิดว่าก็คงไม่ใช่ เพราะเป็นไปตามข้อกฎหมาย” นายเรืองไกร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายเรืองไกร ให้สัมภาษณ์นั้น ปรากฏว่า นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ มายืนฟังด้วย ทำให้นายเรืองไกร ให้สัมภาษณ์ด้วยสีหน้ากังวล และระแวดระวัง ก่อนจะจบการสัมภาษณ์อย่างรวดเร็ว โดยไม่เปิดให้สื่อซักถาม ขณะที่ทนายอั๋น เดินปรี่พยายามเข้าไปประชิดตัวนายเรืองไกร พร้อมตะโกนถามว่า “ได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาไหม พี่เป็นคนบุรีรัมย์หรือเปล่า” แต่นายเรืองไกร ไม่เผชิญหน้า ก่อนเดินไปยื่นหนังสือต่อ กกต.

จากนั้น นายภัทรพงศ์ และนายวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล หรือลุงศักดิ์ เขายื่นหนังสือต่อ กกต. คัดค้านคำร้องของนายเรืองไกร รวมถึงบุคคลอื่นที่มายื่นร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา โดยเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส มาตรา 42 (3) เท่านั้น จะขายหรือไม่ขายหุ้น ไม่มีปัญหา เราต้องดูบรรทัดฐานสังคม ซึ่งเพิ่งจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาในกรณี นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัครส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่เสี่ยงว่าจะผิดมากกว่านายพิธาอีก เพราะกิจการสื่อที่นายชาญชัยถือหุ้น ยังประกอบกิจการอยู่ แต่ไอทีวี ได้ยุติการออกอากาศมาตั้งแต่ปี 51

นอกจากนี้สัดส่วนหุ้นไอทีวีที่นายพิธา ถือก็เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นไอทีวีทั้งหมด ทำให้ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ และไอทีวีหยุดกิจการไปแล้ว หวังว่า กกต.จะปัดตกคำร้องของนายเรืองไกร และผู้อื่นๆ ที่มายื่นร้องเรื่องการถือหุ้นของนายพิธา เหมือนที่ปัดตกคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กรณีร้องนโยบายหาเสียงกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย ที่ตนยื่นคัดค้านคำร้องของนายศรีสุวรรณ และกกต.ก็ปัดตกตามที่ตนยื่นร้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน